คอลัมนิสต์

โฟกัสมาตรฐาน สนช. “รีเซ๊ต-ไม่รีเซ็ต” องค์กรอิสระ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อการรีเซ็ตกรรมการองค์กรอิสระ ถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐาน เรามาดูกันว่าองค์กรไหนถูกรีเซ็ตหรือไม่รีเซ็ต ด้วยเหตุผลอะไร

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)จำนวน 10 ฉบับที่ต้องออกมาบังคับใช้หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต. ) พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.ป.ด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่างพ.ร.ป.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.ป.วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างพ.ร.ป.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ในจำนวน 10 ฉบับเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระจำนวน 6 องค์กร ประกอบด้วย พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต. ) พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่างพ.ร.ป.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.ป.วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างพ.ร.ป.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งองค์กรอิสระทั้งหมดนี้ถือว่ามีความสำคัญในแง่ของการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ผ่านมาองค์กรอิสระถือว่า มีส่วนสำคัญในชี้ขาดปมประเด็นวิกฤตการเมืองของประเทศหลายครั้ง ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 ของนายมีชัย ฤชุพันธ์ จึงออกแบบให้มีความเข้มข้นทั้งด้านบทบาท อำนาจหน้าที่ คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้นๆ

เมื่อต้นแบบออกมาให้มีความเข้มข้น ดังนั้นแนวคิดการโล๊ะหรือเซ็ตซีโร่ หรือ ล้างบาง ของเก่าที่มีอยู่เดิมจึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดทางให้คนใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณสมบัติครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจึงเกิดขึ้นใน 5 องค์กรดังกล่าว โดยถูกออกแบบให้มีทั้งเซ๊ตซีโร่ อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ หรือ ถูกรีเซ๊ต ภายใต้มือโหวตของ สนช.ที่มีอ้างเหตุผลในการให้อยู่หรือไม่ให้อยู่ต่อ

 

โฟกัสลงไปเริ่มแรก พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เดิม มีจำนวน 5 คน วาระการทำงาน 6ปี แต่ของใหม่กำหนดให้เพิ่มเป็น 7 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี โดยครั้งนี้แบ่งโครงสร้างของ กกต.ให้มีความชัดเจนกว่าที่ผ่านมาโดย กำหนดให้ กกต. 5 คน มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่คณะกรรมการสรรหาเลือกเข้ามา และอีก 2 คน ให้เป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่เซ๊ตซีโร่ กกต.ทั้ง 5 คน เพียงแต่กำหนดว่า ใครที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่เมื่อมาถึงมือของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ก็มีการปรับแก้ไขให้เซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งคณะ โดย กกต.ชุดปัจจุบันพ้นวาระเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวประกาศใช้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้ กกต.ชุดใหม่แทน ซึ่งสนช.ให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ และต้องการให้คนใหม่มาใช้กติกาใหม่ เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพ และหากคิดใหญ่ในการปฏิรูปประเทศ ถ้าปฏิบัติแบบเดิม กลไกแบบเดิม วิธีการทำงานแบบเดิม ไม่มีทางเกิดผลแบบใหม่ได้ นอกจากนี้ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการทำงานแบบปลาสองน้ำนั้น เพราะกกต.ชุดใหม่มาจาก 2 ทาง

เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดิมนั้นมี 11 คน ทาง กรธ. ได้ปรับลดจำนวนลงจาก 11 คนเหลือ 7 คน พร้อมกับกำหนดให้ “เซตซีโร่” กรรมการชุดเดิมทั้งหมดแต่ให้รักษาการจนกว่าจะมี กสม. ชุดใหม่ เนื่องจากการได้มาซึ่งกสม.ชุดปัจจุบันไม่ได้มีความหลากหลายทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสอันเป็นหลักการสากล แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสนช.ก็ให้ประธานกสม.และกสม.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ปี (ครึ่งวาระ)นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำให้กรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยที่มาจากกรธ.ของสงวนความเห็นให้เป็นตามร่างเดิม ซึ่งที่ประชุมสนช.ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จนต้องพักการประชุมเพื่อหารือนอกรอบ และสุดท้ายสนช.ก็กลับลำโหวตให้ กสม. พ้นเก้าอี้หลังจากกสม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ การเซ๊ตซีโร่กสม.ด้วยการอ้างเหตุผลให้เป็นไปตามหลักการปารีส

โฟกัสมาตรฐาน สนช. “รีเซ๊ต-ไม่รีเซ็ต” องค์กรอิสระ

ในขณะที่อีก 4 ฉบับ ให้กรรมการนั่งเก้าอี้ต่อจนครบวาระ (ไม่เซ็ตซีโร่) หรือจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่(รีเซ็ต) ประกอบ1. พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 3 คน วาระ 6 ปี เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ผู้ตรวจฯที่อยู่ในตำแหน่ง ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระตามร่างพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 โดยไม่นำมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 มาบังคับใช้ที่กำหนดเรื่องคุณสมบัติที่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า และต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยสนช.ได้ยกเหตุผลว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีอำนาจหน้าที่ลดน้อยลงไปจากรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะเดียวกันผู้ตรวจการชุดปัจจุบันได้รับประเมินผลงานจากสถาบันพระปกเกล้าว่ามีผลงาน และได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างประเทศ นอกจากนี้ถือเป็นการให้ความยุติธรรมและเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันที่ได้รับการสรรหามาจากรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ยังอยู่ไปครบวาระ 6 ปี

2. พ.ร.ป. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งก็ไม่ถูกเซ็ตซีโร่ โดยชุดเก่าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจาก คตง.ชุดเก่าด้วยเหตุผลสนช. ลงมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค.60 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกระบวนการและรายละเอียดที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้และเป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่ผู้ว่า สตง. นั้น ก็อยู่ในระหว่างการสรรหาใหม่ ทั้งนี้ พ.ร.ป.ดังกล่าวกำหนดให้มี กรรมการ คตง.จำนวน 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ซึ่งมาจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดินเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหนึ่งคน ซึ่งมาจากการการสรรหาของคตง.และการลงมติเลือกของวุฒิสภา โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี

3. ร่างพ.ร.ป.วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในพ.ร.ป.ฉบับนี้ได้กำหนดการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย โดย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน วาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี เดิมนั้น กรธ.เดิม กรธ.เสนอให้ “รีเซตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน คนไหนที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เขียนให้สอดคล้องกับ รธน. ต้องให้พ้นจากตำแหน่ง” แต่เมื่อ กฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ก็ปรากฏว่า สนช.ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากกรธ. โดย ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระและ โดยสนช.ให้เหตุผลว่าตุลาการ 4 คน ควรจะอยู่จนครบวาระ ไม่ควรนำคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ ปี 60 มาใช้เพราะเป็นการเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษาและศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ ถ้าเอาศาลพ้นจากตำแหน่งทันที จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ต่างประเทศจะวิพากษ์วิจารณ์ทันที เพราะศาลต้องมีอิสระ ส่วนตุลาการ 5 คน ที่พ้นตำแหน่งแล้ว แต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ก็กำหนดให้อยู่ต่อจนกว่า จะมีการสรรหาใหม่ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรอิสระแบบกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ กรธ.เคยเสนอให้ทั้งรีเซตและเซตซีโร เพราะ รธน.บัญญัติให้เป็น “องค์กรศาล” ดังนั้น หลักคิดในเรื่องการให้ตุลาการศาล รธน.ที่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งหลังการใช้กฎหมาย จึงไม่สามารถใช้ได้กับตุลาการศาล รธน. ที่ต้องให้ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีและเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการไม่รีเซ็ตศาลรัฐธรรมนูญ

และ 4 ร่าง พ.ร.ป.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีกำหนดให้มีจำนวน 9 คน 9 ปี โดยกรธ.ให้ “รีเซ็ต” กรรมการป.ป.ช. ตามมาตรา 178 ที่ระบุให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในกฎหมาย แต่เมื่อมาถึงมือของสนช.ก็ได้มีปรับแก้ไขให้ป.ป.ช.อยู่ต่อครบทุกคน โดยให้มีการยกเว้นลักษณะต้องห้ามไม่นำมาใช้กับป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน โดยเห็นว่า ป.ป.ช.ชุดนี้มีผลงาน และเพื่อให้งานเกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับใคร ซึ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปน่าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตามการที่สนช.ให้ป.ป.ช.คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระก็เกิดกระแสวิจารณ์ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ไปของการรีเซ็ตหรือไม่รีเซ็ตองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึงที่มีความแตกต่างไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันนั้น จะกระทบการทำงานขององค์กรอิสระในอนาคตหรือไม่ต้องคอยดู

//////////////////////////

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ