คอลัมนิสต์

เตือนพิษดื้อยา!จาก “ฟาร์มหมู” สู่สิ่งแวดล้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตือนพิษดื้อยา!จาก “ฟาร์มหมู” สู่สิ่งแวดล้อม

 

      ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” เปิดโปงการลักลอบใช้ยาปฏิชีวนะเถื่อนในฟาร์มหมูของไทย โดยเฉพาะ “ยาโคลิสติน” ซึ่งเป็นตัวแพร่ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ "เอ็มซีอาร์-วัน" (mcr-1) อาจเป็นต้นเหตุโรคลึกลับของคนเลี้ยงหมู...

      งานวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ยืนยันการแพร่ระบาดยีนดื้อยาในแหล่งฟาร์มหมู 3 จังหวัดของไทย ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี และชลบุรี โดย “นครปฐม” ปี 2556 สุ่มตรวจทั้งหมด 4 ฟาร์มพบเชื้อดื้อยาโคลิสตินทั้ง 4 ฟาร์ม หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับ “ชลบุรี” 2556 สุ่มตัวอย่าง 3 ฟาร์ม พบเชื้อดื้อยาโคลิสติน 3 ฟาร์ม คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ “ราชบุรี” ปี 2557 จำนวนสุ่มตรวจทั้งหมด 5 ฟาร์ม พบ 4 ฟาร์มคิดเป็นร้อยละ 80

        ข้อมูลข้างต้นทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์และแปลงพืชผักเกษตรอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้ ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณวันละ 100 ราย หรือปีละเกือบ 4 หมื่นราย ทำให้เกิดความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท...

         ตัวอย่างเช่น เจ้าของฟาร์มหมูแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม แหล่งรวมฟาร์มหมูขึ้นชื่อของประเทศไทย เปิดเผยว่าใช้ “ยาโคลิสติน” ที่มีลักษณะเป็นผงผสมอาหารให้หมูกินฝุ่นของผงยาคลุ้งอยู่ในอากาศที่สูดดมหายใจเข้าไปวันแล้ววันเล่าต่อเนื่องหลายปีจนกระทั่งเริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ปวดตามร่างกายบ่อยๆ กินยาเท่าไรก็ไม่หาย ต้องจ่ายค่ายาเดือนหลักหมื่นบาท เพราะหมอหาสาเหตไม่เจอจนกระทั่งเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาโคลิสติน อาการป่วยก็หายเป็นปลิดทิ้ง

           ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โครงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ (antimicrobials) ในประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อธิบายถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมและการใช้โดยไม่มีเหตุจำเป็นในประเทศไทยว่า โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้นเหตุทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองจนดื้อหรือต้านทานยาได้ และยังทำให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์อย่างถ้วนหน้า เมื่อยาที่แพทย์มีอยู่ไม่สามารถรักษาโรคได้ผล สุดท้ายผู้ป่วยก็เสียชีวิตลง

         “ดร.อาภา หวังเกียรติ” นักวิชาการจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตีพิมพ์บทความ “การตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมสู่วิกฤติสุขภาพ” ในจดหมายข่าว “ยาวิพากษ์” ฉบับที่ 34 กันยายน-ตุลาคม 2560 โดยสรุปได้ว่า

          ปัจจุบันทั่วโลกผลิตยาปฏิชีวนะกว่า 10 ประเภท มากกว่า 10,000 ชนิด การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลทำให้ปนเปื้อนตกค้างสะสมในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่แบคทีเรียและยีนดื้อยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคดื้อยาได้ติดเข้ามาสู่ร่างกายสัตว์และมนุษย์จนกลายเป็นวิกฤติทางสุขภาพร่วมกันของประชาคมโลก หลายประเทศพยายามตรวจสอบการตกค้างในสิ่งแวดล้อมปี 2542-2543 สหรัฐอเมริกา สำรวจการปนเปื้อนของยา ฮอร์โมนและสารอินทรีย์ใน 139 แม่น้ำทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 80 มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะมากที่สุด เช่นเดีวยกับผลวิจัย การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในแม่น้ำของประเทศอังกฤษ อินเดีย สเปน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ

           สำหรับประเทศไทยมีการเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำบางปะกงปี 2557 ไปตรวจ ทำให้พบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ "ไซโปรฟลอกซาซิน" (Ciprofloxacin), “ยานอร์ฟลอกซาซิน”(Norfloxacin) และ “เตตราไซคลีน” (Tetracycline) และเมื่อตรวจลึกไปในน้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดของโรงพยาบาลบางปะกง พบยาตกค้างอยู่ 7 ชนิด (Norfloxacin, Sulfamethoxazole, Tetracycline, Erythromycin, Theophylline, Atenolol และ Caffeine)

             จากนั้นมีการนำข้อมูลงานวิจัยผลตรวจการปนเปื้อนจากน้ำเสียของฟาร์มสุกรมาเปรียบเทียบพบว่ามีความเข้มข้นมากกว่าน้ำเสียจากโรงพยาบาลหลายเท่า โดย ยาเตตราไซคลีน 45.67 เท่า ไซโปรฟลอกซาซิน 21.98 เท่า และยานอร์ฟลอกซาซิน และ 7.7 เท่า

              ดร.อาภา ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” เพิ่มเติมว่า ตัวเลขจากฟาร์มหมูนั้นเป็นพื้นที่ภาคกลาง แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะบางตัวในสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าโรงพยาบาลถึง 45 เท่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดชัดเจนว่ายาอันตรายเหล่านี้จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยเท่าไร จึงไม่มีค่ามาตรฐานมาชี้วัด นักวิจัยทำได้เพียงเปรียบเทียบกับแหล่งที่คาดว่าจะมีการใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำ

                 “เห็นตัวเลขแล้วตกใจมาก เพราะน้ำเสียจากโรงพยาบาลมีการปนเปื้อนของยาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่ควรมีในฟาร์มหมู และไม่ควรมีมากถึง 40 กว่าเท่า ตอนนี้ทดสอบแค่ยา 3 ชนิดไม่ได้ทดสอบยาโคลิสติน เพราะตอนสำรวจข่าวเชื้อดื้อยาโคลิสตินยังไม่ดัง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงหมู เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ยาปฏิชีวนะที่ปนออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ถ้าคนสัมผัสหรือกินผ่านห่วงโซ่อาหารเข้าไป สุดท้ายอาจติดเชื้อดื้อยาในร่างกายทั้งที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาพวกนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังควรร่วมกันกำหนดตัวเลขมารตฐานความปลอดภัยด้วยว่า ยาเหล่านี้จะปนเปื้อนออกมาได้ไม่เกินปริมาณเท่าไร เพื่อเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบในอนาคต” ดร.อาภา กล่าวแนะนำ 

              ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” สอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวยาปฏิชีวนะ 3 ชนิดข้างต้น ปรากฏว่าเป็นยาที่มักนำไปใช้รักษาโรคทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจในสุกร อย่างไรก็ตามมีฟาร์มหมูหลายแห่งที่ใช้ยาปฏิชีวนะผสมอาหารให้หมูกินโดยตรงเพื่อกระตุ้นหรือเร่งให้หมูตัวโตเร็วขึ้น เช่น ยาเตตราไซคลีน แต่ยังไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้ เพราะฟาร์มหมูแต่ละแห่งใช้ยาปฏิชีวนะด้วยเหตุผลที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามความเชื่อของเจ้าของฟาร์ม

            ล่าสุดวันที่ 14 ธันวาคม 2560 มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นหัวข้อ “การใช้ยาสมเหตุผล : กรอบแนวคิดใหม่ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์”  โดยเฉพาะปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวินะอย่างไม่สมเหตุผลทั้งในภาคสาธารณสุขและภาคเกษตรในประเทศไทย

           ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงความปัญหาร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า การพบยาปฏิชีวนะหรือเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมแสดงให้เห็นถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1.น้ำในแม่น้ำจะไหลลงทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำทะเลจะปนเปื้อนด้วย 2.เมื่อคนบริโภคน้ำหรือเด็กว่ายน้ำเล่นอาจสัมผัสยาปฏิชีวนะเหล่านี้แล้วนำเข้าร่างกายโดยตรงหรือทางอ้อม 3.ระบบนิเวศจะเสียสมดุลหรือเปลี่ยนไปเพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดยีนดื้อยา ส่งผลให้แบคทีเรียในธรรมชาติกลายพันธุ์หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพดิน น้ำ ต้นไม้ ฯลฯ

            “ตอนนี้อยากให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนว่า วงจรยาปฏิชีวนะไหลลงไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมมีรูปแบบอย่างไร เริ่มจากตรงไหน ต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนกระทรวงสาธารณสุขต้องควบคุมการใช้ยาทั้งในคนและสัตว์อย่างเข้มงวด เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นนั้นกำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ” ดร.นิยดา กล่าวเตือน

          รัฐบาลไทยพยายามผลักดัน "แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560–2564" แต่ดูเหมือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยรับรู้ถึงปัญหาการดื้อยาโดยเฉพาะการดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่ม “โคลิสติน” (colistin) และ “คาร์บาพีเนม” (carbapenem) กลุ่มยาด่านสุดท้ายในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

             "ดร.แมรี่ เมอเรย์" นักวิชาการเครือข่ายป้องกันเชื้อดื้อยา ยอมรับว่าคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยยังไม่ค่อยระมัดระวังหรือให้ความสนใจปัญหาเชื้อดื้อยา แม้เป็นปัจจัยที่อาจคร่าชีวิตมนุษย์หลายสิบล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเชื้อบางตัวแพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านการสัมผัส หรือความใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว พร้อมเสนอแนวคิดว่า

              “เราต้องช่วยกันคิดใหม่ ควรหาวิธีสื่อสารที่ได้ผลสำเร็จมากกว่านี้ ทำให้ผู้คนในสังคมรับรู้และตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยาและปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การกระจายความรู้สู่ชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสาร หาวิธีทำให้เด็กมีความเข้าใจในปัญหาเชื้อดื้อยา อาจทำเป็นเกม วิดีโอ หนัง เพลง ฯลฯ ตอนนี้กลุ่มประเทศละตินอเมริกาใช้วิธีชักชวนดารา นักแสดงชื่อดัง ศิลปินนักร้อง ผู้มีชื่อเสียงให้มาช่วยกันคิดค้นวิธีสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพราะคนเหล่านี้เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า แพทย์ นักวิชาการ หรือนักวิจัยทั่วไป”

           หวังว่าแนวคิดและวิธีการของดร.แมรี่ จะได้รับการตอบรับจากกระทรวงสาธารณสุขไทย เพื่อสื่อสารให้คนไทยเข้าใจถึงอันตรายของการใช้ยาปฏีชีวนะอย่างผิดวิธีอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข ภาคเกษตร

            “เครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา” ชี้ว่าตัวเลขที่เผยแพร่ว่าคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาไม่ต่ำกว่าปีละ 2-3 หมื่นรายนั้น ตัวเลขนี้อาจไม่น่าเชื่อถือมากนัก เพราะ “ตัวเลขจริง” ควรสูงกว่านี้ เพียงแต่ระบบการบันทึกของโรงพยาบาลยังไม่ละเอียดมากพอว่าผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะอะไร

ส่วนใหญ่ในเอกสารหรือคำอธิบายให้ญาติฟังมักใช้ “ติดเชื้อในกระแสโลหิต” มากกว่าระบุว่า “ติดเชื้อดื้อยาตาย”!

 “โคลิสติน” ยาอันตราย

       ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเชื้อดื้อยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารในฟาร์มหมูว่า

       "โคลิสตินเป็นเสมือนทางเลือกสุดท้าย เมื่อยาปฏิชีวนะกลุ่มรักษาไม่ได้ผล หมอจะใช้ตัวนี้ โดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลที่มักเกาะติดอยู่ตามเครื่องมือแพทย์ เช่น เชื้อดื้อยา "อซีเนโตแบคเตอร์ บอมมานิไอ" (Acinetobacter baumannii) หรือบางครั้งเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อแบคทีเรีย “เอบอม” (A-bomb) พบบ่อยในท่อช่วยหายใจ สายสวน ฯลฯ

        ถ้าวันใดก็ตามที่ใช้ยาโคลิสตินไม่ได้ผล จะเกิดผลกระทบร้ายแรง ทุกคนจึงช่วยกันเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแพร่หลายเป็นอันตรายมากกว่าที่เราคิด ไม่ควรให้ฟาร์มสัตว์ใช้ยาโคลิสตินโดยไม่ควบคุม และที่สำคัญคือต้องมีการควบคุมการซื้อขายยาปฏิชีวนะ ไม่ควรปล่อยให้คนไทยซื้อกินเอง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การกินแบบผิดวิธีและกินโดยไม่จำเป็น"

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ