คอลัมนิสต์

กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่มีสัญญาณ ไร้วิธีป้องกัน หลบเลี่ยงไม่ได้ ภาวะ “หลงสภาพการบิน”

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอากาศ ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่า การสูญเสียนักบินและเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 หรือ กริพเพน ไปจำนวน 1 ลำ เมื่อปีที่แล้ว ในระหว่างแสดงการบิน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2560 บริเวณสนามบินกองบิน 56 จังหวัดสงขลา เกิดจาก “นักบินหลงสภาพการบิน” คือ ภาวะการรับรู้ถึงตำแหน่ง ที่อยู่ ท่าทางการทรงตัวในการบิน และการเคลื่อนที่ของอากาศยานที่บังคับอยู่ ในลักษณะที่สัมพันธ์กับแนวขอบฟ้า ผิดพลาดไปจากที่เป็นอยู่จริง

          จากหลักฐานและการวิเคราะห์หาสาเหตุอุบัติเหตุอากาศยานทั่วโลก พบว่า กว่า 75% เกิดจากนักบินหลงสภาพการบิน ซึ่งมักเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่ ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยจะเกิดขึ้นกับเครื่องบินรบมากกว่า เครื่องบินพาณิชย์ เนื่องจากการบินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง ท่าทางผาดแผลง ในขณะเครื่องพาณิชย์จะบินในลักษณะแนวตรงรักษาระดับ                               กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

           ข้อมูลระบบสรีรวิทยาการบิน สถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ อธิบายการหลงสภาพการบิน เกี่ยวข้องกับการแปลความหมายผิด ของอวัยวะรับรู้การทรงตัวของมนุษย์ สามประการ คือ ตา ช่วยให้มองเห็นว่าร่างกายมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร, กล้ามเนื้อ เอ็น  รับแรงกด เช่น ขณะนั่งจะรู้สึกน้ำหนักกดที่ก้นมากกว่าที่อื่น, หูชั้นใน รับการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว 

           โดยมีปัจจัยที่ทำให้อวัยวะรับรู้การทรงตัวสามอย่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน คือ การบินในสภาพที่ทำให้การมองเห็นทางสายตาลดลง จนกระทบส่วนอื่น ทำให้เกิดการหลงสภาพการบินทางสายตา เนื่องจาก 80% มนุษย์ใช้สายตาเป็นอวัยวะทรงตัว เช่น ปรากฏการณ์ออโตไคเนติก คือ การจ้องดวงไฟในที่มืดสลัว หรือในเวลากลางคืนอยู่เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อนัยน์ตาเกิดอาการล้า จนเห็นดวงไฟเคลื่อนที่ได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในกรณีที่นักบินทำการบินตามการเคลื่อนที่ของดวงไฟนั้น จนเกิดการชนกันขึ้น 

             กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

           ขอบฟ้าหลอน คือ ทำการบินโดยไม่เห็นเส้นขอบฟ้า หากนักบินบินตามแนวเมฆ หรือแนวแสงไฟที่พื้น ที่คิดว่าเป็นเส้นขอบฟ้า ทำให้เครื่องบินเอียง โดยไม่รู้สึกตัว และภาพลวงตาในการกะระยะความลึก เช่น การบินในเวลากลางคืน บินเหนือพื้นน้ำ บินในเมฆหมอกหนา หรือสภาพสนามบินที่แตกต่างออกไปจากที่คุ้นเคย ทำให้การอ้างอิงทางสายตาผิดเพี้ยน

            “แม้ว่าสถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ จะมีเครื่องจำลองมีลักษณะเป็นเครื่องหมุนและให้นักบินเข้าไปนั่ง เพื่อให้ทราบความรู้สึก เมื่อหลงสภาพการบิน แต่ไม่ได้หมายความว่า นักบินที่ผ่านเครื่องนี้จะไม่หลงสภาพการบิน เพราะเป็นปัญหาที่นักบินทุกคนต้องเจอ เมื่อเจอแล้ว ก็จะเกิดอุบัติเหตุ ขึ้นอยู่กับว่าจะรุนแรงแค่ไหน และสามารถผ่านมาได้หรือไม่” พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ กล่าว

              กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

           ส่วนการหลงสภาพการบินที่เกิดจากหูชั้นในแปลผลผิด ได้แก่ 1.อาการเอียงลวง หรือ ภาวะลีนส์  เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยนักบินไม่ทราบว่ามีการเอียงหรือไม่ เอียงทางด้านใด 2.อาการหมุนควง เกิดขณะเข้าอาการควงสว่าน แล้วทำการแก้ไขอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากนักบินเข้าใจว่า เครื่องบินหายจากการควงสว่านแล้ว หรือบางครั้งเข้าใจผิดในทิศทางการควงสว่าน

           3.อาการหมุนติ้ว หรือภาวะโคริโอลิส เกิดขณะบินโจมตีภาคพื้น ขณะเลี้ยวมีการหันศีรษะอย่างรวดเร็ว ทำให้นักบินเกิดความรู้สึกว่าเครื่องบินอยู่ในท่าที่ผิดปกติอย่างมาก 

               กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

          4.อาการความรู้สึกเงยหลอน มีความรู้สึกว่าหัวเครื่องบินกำลังเชิดหรือกดลงขณะนำเครื่องวิ่งขึ้นหรือลงสนาม ทั้งๆ ที่เครื่องบินไม่ได้มีอาการเช่นนั้น ถ้าเชื่อตามความรู้สึกจะเข้าทำการแก้ไขผิดพลาด จนกระทั่งเครื่องบินชนพื้นได้

           “เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลัน  เป็นอาการที่เราไม่รู้ว่าด้านไหนเป็นท้องฟ้า ด้านไหนคือพื้นดิน สิ่งเหล่านี้คือกายภาพ คือ น้ำในหูของคนเราจะเป็นตัวบอกว่าอันไหนคือท้องฟ้า อันไหนคือพื้นดิน ข้างไหนขึ้น ข้างไหนลง เกิดจากแรงโน้มถ่วง หรือแรง G อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากนักบินเมื่ออยู่ในเครื่องบินจะมีแรง G เกิดขึ้น สามารถที่จะเหนี่ยวนำให้เราหลงสภาพการบินได้” หนึ่งในนักบินกริพเพน ระบุ

           กริพเพน ตก วันเด็ก !! เพราะ “หลงสภาพการบิน” ??

           แม้ว่าการหลงสภาพการบิน จะเป็นภัยมืดที่คร่าชีวิตนักบิน และสูญเสียอากาศยานมีมูลค่ามหาศาลของกองทัพอากาศ ที่มาในรูปแบบไร้ตัวตน ไม่มีการแจ้งเตือน หรือวิธีป้องกัน แต่นักบินทุกคนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นของคู่กัน จึงทำได้เพียงการฝึกฝน คาดการณ์ล่วงหน้าและใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ให้รู้เท่าทัน พร้อมรับมือกับภัยร้ายนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ