คอลัมนิสต์

“ครู อาจารย์เป็นวิชาชีพเดียวกัน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ครู อาจารย์เป็นวิชาชีพเดียวกัน”นายกฯ ควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และดูแลคนกลุ่มใหญ่ในสถาบันฯ!!! ติดตามเรื่องนี้จาก 0 ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษา ทปสท.0

     

          รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา(3) “ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบอาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าครูและอาจารย์เป็นวิชาชีพเดียวกัน

         หากส่องเข้าไปดูรายละเอียดของปัญหาในแต่ละสถาบันอุดมศึกษา แม้ว่าจะพบปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย แต่แทบทุกที่ล้วนมีปัญหาที่คล้ายกัน คือด้านบุคลากร โดยเฉพาะคนกลุ่มใหญ่ทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้เป็นผู้บริหาร(ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน) นับตั้งแต่ปี 2542 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บรรจุพนักงานแทนข้าราชการที่เกษียณอายุและอัตราใหม่

        อีกทั้งนโยบายรัฐบาลสมัยนั้นที่จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐ(ซึ่งมี 20 กว่าแห่ง)ออกนอกระบบทั้งหมดภายในปี 2545 แต่สุดท้ายทำได้เพียงไม่กี่แห่ง ซ้ำร้ายมีมหาวิทยาลัยเกิดใหม่อีกกว่า 50 แห่ง(มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง)

           นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาบุคลากรที่ตามมาคือในแต่ละสถาบันมีบุคลากร 2 กลุ่ม(ทั้งของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการและมหาวิทยาลัยนอกระบบ)คือมีทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งสองแบบ แต่อยู่ภายใต้กฎ ระเบียบการบริหารงานบุคคลที่แตกต่างกัน

         บุคลากรสองกลุ่มนี้ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจอุดมศึกษา แต่บุคลากรเหล่านี้กลับถูกละเลย ไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี สภาสถาบัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)หรือแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเอง โดยดูได้จากข้อเรียกร้องจากบุคลากรทั้งสองกลุ่ม

         ทั้งเรื่องความก้าวหน้า การเข้าสู่ตำแหน่งของสายสนับสนุน การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ที่ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.อ.)พยายามสร้างหลักเกณฑ์ให้การเข้าสู่ตำแหน่งยากขึ้นเรื่อยๆ(หลายคนบอกว่าเป็นชักบันไดหนี)การขอปรับเงินเดือน 8% ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่า “ครูของครู” ให้เทียบเท่าข้าราชการครูซึ่งต่อสู้เรียกร้องกันมาตั้งแต่ปี 2554 ก็ยังไม่สำเร็จ

         ส่วนปัญหาใหญ่ของพนักงานมหาวิทยาลัยคือ ระบบสัญญาจ้างที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละสถาบัน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เพราะผู้บริหารมักเอาสัญญาจ้าง มาเป็นเครื่องมือต่อรองการเข้าสู่ คงอยู่ และสืบทอดตำแหน่งของตนเองและพวกพ้อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตราเงินเดือนที่หลายสถาบันไม่จ่ายเต็มตามมติคณะรัฐมนตรี คือสายสนับสนุน 1.5 เท่าสายวิชาการ 1.7 เท่าของข้าราชการ

         โดยอ้างว่าเอาไปจัดสวัสดิการและค่าตอบแทนอื่นๆ (ทั้งที่มติครม.ให้จ่าย 1.5 และ 1.7 โดยรวมสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญไว้ ทั้งนี้หากสถาบันจะหักควรจ่ายเต็มแล้วให้เขาสมัครใจจ่ายเพื่อสวัสดิการที่เขาสนใจ ไม่ใช่หักทุกคนรวมกันแต่สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ได้รับต่างกัน)

           นอกจากนี้การที่จู่ ๆ สำนักงบประมาณก็ตัดงบประมาณสำหรับเลื่อนเงินเดือนประจำปีของพนักงานลงเหลือเพียงร้อยละ 4 จากที่เคยจัดสรรร้อยละ 6 โดยอ้างว่าเนื่องจากอัตราเงินเดือนพนักงานสูงกว่าข้าราชการ เพื่อให้วงเงินในการเลื่อนเท่ากัน มิหนำซ้ำหน่วยงานต้นสังกัดทั้งสกอ. และที่ประชุมอธิการบดีกลับออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับแนวทางการจัดสรรดังกล่าวของสำนักงบประมาณ

          ย้อนกลับไปดูในฝั่งของผู้บริหาร(ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย)แม้จะมีเรื่องร้องเรียนทั้งการทุจริต ประพฤติมิชอบ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การกลั่นแกล้ง การไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ เพื่อสืบทอดอำนาจ จนนำไปสู่การเรียกร้องของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

           ในที่สุดมีการใช้คำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เข้าควบคุมสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นประกาศจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาซึ่งก็ผ่านมาเกือบ 2ปียังไม่สำเร็จแม้แต่รายเดียว ซ้ำร้ายบางแห่งมีการแต่งตั้งพวกพ้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รับค่าตอบแทนเพิ่มจากตำแหน่งเดิมอีกเป็นหลักแสน แต่การแก้ไขปัญหายังไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน เมื่อไร

          นอกจากนี้ ยังมีปรากฎการณ์หนึ่งซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมของปัญญาชน โดยการที่กลุ่มผู้เกษียณอายุราชการ ที่ต้องการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ แต่ถูกคัดค้านเนื่องจากขัดกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนต้องเกษียณอายุราชการที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์

         โดยนำเรื่องไปยื่นฟ้องศาลปกครองหลายแห่งจากหลายสถาบัน ขณะที่กลุ่มผู้เกษียณอายุกลับไปขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ช่วย ในที่สุดก็มีคำสั่งคสช.ที่ 37/2560 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งอธิการบดีและผู้บริหารจากคนที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้

          แม้ว่าศาลปกครอง(ศาลชั้นต้น) จะมีคำพิพากษาแตกต่างกัน(ศาลปกครองนครราชสีมาพิพากษาว่าไม่สามารถแต่งตั้งคนเกษียณเป็นอธิการบดีได้ ขณะที่ศาลปกครองกลางกลับพิพากษาว่าสามารถอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 37/2560 ตามมาตรา 44 แต่งตั้งคนเกษียณเป็นอธิการบดีได้ โดยต่างฝ่ายต่างอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด และรอคำพิพากษา) แต่สกอ.กลับเดินหน้านำรายชื่อผู้เกษียณอายุราชการขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีอย่างต่อเนื่อง

         ขณะที่ข้อเรียกร้องของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษา แทบไม่ได้รับการเหลียวแล

         ดังนั้น เนื่องในวันครูแห่งชาติ วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ “ครูและอาจารย์เป็นวิชาชีพเดียวกัน” จึงอยากฝากไปยังคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.หากต้องการปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อนำพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ควรหันมาสนใจแก้ไขปัญหาของเหล่าอาจารย์ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แก้ไขปัญหาให้เฉพาะคนกลุ่มน้อยของมหาวิทยาลัยเหมือนที่ผ่านมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ