คอลัมนิสต์

ทำไม..เลือกใช้“อินเตอร์โพล”ล่าตัว“ยิ่งลักษณ์”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขณะนี้ตำรวจไทยกำลังประสานกับ"อินเตอร์โพล"เพื่อติดตามจับกุมตัว "ยิ่งลักษณ์" หลายคนอาจสงสัยว่าการใช้"อินเตอร์โพล" แตกต่างจากการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ อย่างไร

 

           หลังจากมีภาพของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปรากฏตัวที่ห้างดังในอังกฤษ  และ“ ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ  ระบุว่า  รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเล่าให้ฟังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ   

           ความชัดเจนว่า “ยิ่งลักษณ์” อยู่ไหน... หลังจากหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ให้จำคุก 5 ปี และออกหมายจับ  ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เกี่ยวกับระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จึงมีมากขึ้น 

           ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.สุระพันธ์ ไทยประเสริฐ รองผู้บังคับการ  กองการต่างประเทศ  เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานไปยัง ตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล เพื่อให้ออก“หมายจับ”หรือ“หมายแดง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว 

          แต่ “ อินเตอร์โพล” ยังไม่ออกหมายจับให้ โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานที่ทางการไทยส่งให้ยังไม่ครบถ้วน จึงจำเป็นจะต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้พิจารณา โดย“อินเตอร์โพล”ได้ขอคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งได้ส่งไปให้แล้ว

           หลายคนอาจสงสัยว่าการใช้“อินเตอร์โพล”ติดตามตัว“ยิ่งลักษณ์”กับ การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ตำรวจส่งเรื่องผ่านอัยการ,กระทรวงการต่างประเทศ ต่างกันอย่างไร   

         ต้องบอกว่า  การใช้“ อินเตอร์โพล” ติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีคดี เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขอผู้ร้ายข้ามแดน ..ไม่ใช่คนละเรื่องกัน 

           ทำไม..เลือกใช้“อินเตอร์โพล”ล่าตัว“ยิ่งลักษณ์”

         เพราะว่า หลักสำคัญอันหนึ่งของการขอผู้ร้ายข้ามแดน  คือ การทราบถึงที่อยู่ที่แน่ชัดของคนที่จะขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลนั้นได้   การที่ตำรวจไทยใช้วิธีประสานไปทาง“อินเตอร์โพล” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ออก “หมายจับ” หรือ“ หมายแดง ” ให้ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการล็อคที่อยู่ของบุคคลที่ต้องการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน   

            กล่าวคือ  เมื่อสำนักงานใหญ่ของ“อินเตอร์โพล” ออก“หมายจับ”หรือ“หมายแดง” บุคคลใด ก็จะส่ง“หมายแดง” ไปยังสมาชิกซึ่งเป็นตำรวจที่มีถึง 192 ประเทศทั่วโลก ให้ช่วยกันสอดส่องจับกุมบุคคลตามที่ที่ถูกระบุชื่อใน“หมายแดง” 

           อย่างกรณี น.ส. ยิ่งลักษณ์  สมมุติสุดท้าย “ อินเตอร์โพล” ออก“หมายแดง” น.ส.ยิ่งลักษณ์  ในกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นสมาชิกอินเตอร์โพล ก็สามารถใช้“หมายแดง” จับกุมตัวได้ 

           และเมื่อจับกุมตัวได้แล้ว “ อินเตอร์โพล” ก็จะแจ้งมายัง ตำรวจสากลของไทย ทางตำรวจไทยเมื่อได้รับเรื่อง ก็จะระบุที่อยู่ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ตามที่อยู่ที่ถูกจับ ส่งเรื่องให้อัยการ เพื่อดำเนินการขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และเนื่องจากอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย  อัยการไทยสามารถส่งเรื่องไปยังผู้ประสานงานกลางของอังกฤษเกี่ยวกับผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งก็คือกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย จากนั้นกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ก็จะส่งเรื่องให้อัยการอังกฤษยื่นเรื่องขอส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลอังกฤษ  กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศไทย 

           ในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็สามารถต่อสู้คดี คัดค้่านการส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้  โดยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะมีแค่ 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  อย่างไรก็ตามในเรื่องส่งผู้ร้ายแดน แม้ว่าศาลอุทธรณ์ จะให้ส่งตัว แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลของประเทศอังกฤษว่าจะให้ส่งตัวให้ทางประเทศไทยหรือไม่ 

           จะเห็นได้ว่า “ข้อดี”ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับการประสานให้ “ อินเตอร์โพล”  ช่วยเหลือติดตามตัวบุคคลที่ต้องการตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ก็คือ  เมื่อ“อินเตอร์โพล”ออก“หมายแดง” และจับตัวได้ ก็เท่ากับเป็นการล็อคตัวให้มีที่อยู่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งก็คือ สถานที่จับกุม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และบุคคลที่ทางการต้องการตัวนั้น ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ไหนได้อีก 

            ต่างกับการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ไม่มีการใช้“อินเตอร์โพล” ที่มักเกิดปัญหา คือ เมื่อตำรวจทราบถึงที่อยู่ของผู้ที่จะขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและส่งเรื่องมาให้อัยการดำเนินการ  บุคคลนั้นก็ย้ายที่อยู่เสียแล้ว ทำให้ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้  

           ทำไม..เลือกใช้“อินเตอร์โพล”ล่าตัว“ยิ่งลักษณ์”

            แต่การจับโดย“หมายแดง”ของ “ อินเตอร์โพล” มี“ข้อเสีย” คือ สามารถควบคุมตัวไว้ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ เช่น 7 วัน ,10 วัน หรือ1 เดือน เพราะเป็นการหน่วงเหนี่ยวตัวชั่วคราวไว้เพื่อรอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเท่านั้น หากยื่นขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไม่ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ต้องปล่อยตัว ซึ่งต่างจากการจับตามหมายจับปกติที่ควบคุมตัวได้ภายในอายุความตามหมายจับ 

           นอกจากนี้ เคยมีบางคดีที่เมื่อประสาน“อินเตอร์โพล” ใช้“หมายแดง” จับกุมตัวได้แล้ว ประเทศที่จับกุมตัวได้ใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ทำการผลักดันออกนอกประเทศ ฐานเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา   ตำรวจไทยสามารถบินไปรับตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง กลับมาดำเนินคดีที่ไทยได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาลของประเทศนั้นก่อน แต่สำหรับ“ยิ่งลักษณ์” ซึ่งเคยเป็นถึงระดับผู้นำประเทศ คงไม่มีการนำวิธีการเช่นนี้มาใช้ 

          อย่างไรก็ตาม  การที่จะออก “หมายแดง”ใครนั้น  “ อินเตอร์โพล”จะกลั่นกรองอย่างละเอียดว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ออกยากมากเพราะเป็นหมายสูงสุด

         ต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะได้ตัว"ยิ่งลักษณ์"เมื่อไหร่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเอาจริงของ "รัฐบาล คสช. "ว่าต้องการได้ตัว"ยิ่งลักษณ์"กลับมาดำเนินคดีหรือไม่ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ