คอลัมนิสต์

 เปิดโครงสร้างใหม่“สทนช.” คุมแผนจัดการ“น้ำ”ประเทศเบ็ดเสร็จ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดโครงสร้างใหม่“สทนช.” คุมแผนจัดการ“น้ำ”ประเทศเบ็ดเสร็จ 

             ใกล้คลอดเต็มทีสำหรับหน่วยงานน้ำแห่งชาติที่คุมแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบ ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง ม.44 ภายใต้ชื่อ “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ สทนช. หลังมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จเกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2561

 เปิดโครงสร้างใหม่“สทนช.” คุมแผนจัดการ“น้ำ”ประเทศเบ็ดเสร็จ 

            จากนั้นคณะทำงานที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานได้มีการประชุมและได้ข้อสรุปเรื่องโครงสร้างองค์กรและจำนวนบุคลากรที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(สำนักงาน ก.พ.) เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(บอร์ด) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในปลายเดือนนี้

               ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อนำไปบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระ 2 และ 3 ก่อนประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในทุกกระบวนการ ไม่เกินเดือนเมษายน 2561

              “ในโครงสร้างเดิมตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยวการ ปรับใหม่เปลี่ยนเป็นเลขาธิการ ซี 11 มีรองเลขาธิการ 2 คน ซี 10 แล้วก็เพิ่มเข้ามาอีก 2 กอง กับ 1 สำนักงาน คือกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กองวิชาการ และสำนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ 1-6 เป็นสำนักงานสาขาที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งในโครงสร้างเดิมนั้นไม่มี”

              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. ให้สัมภาษณ์พิเศษ "คม ชัด ลึก” ถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งสำนักงาน ตามคำสั่ง ม.44 ภายใต้ภารกิจหลัก 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านยุทธศาสตร์ 2.ด้านข้อมูล 3.ด้านแผนงาน 4.ด้านงบประมาณ และ 5.ด้านบริหารจัดการ

               ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ ม.44 ก็จะมีส่วนงานหลักๆ ประกอบไปด้วยสำนักงานเลขานุการ กนช.(บอร์ด) สำนักงานเลขาธิการ(สทนช.) กองนโยบายและยุทธศาสตร์ กองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ จะดูเรื่องงบประมาณทั้งหมดและติดตามงบประมาณด้วย กองบริหารจัดการลุ่มน้ำและศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ส่วนกองความร่วมต่างประเทศ กองวิชาการและสำนักงานสาขาใน ม.44 นั้นยังไม่ปรากฏชัดเเจน แต่จำเป็นต้องมี จึงได้เพิ่มเข้าในโครงสร้างใหม่

             “สาเหตุที่ต้องมีกองความร่วมมือต่างประเทศ ก็เพราะว่าต้องการให้ต่างประเทศมาเซ็นลงนามเอ็มโอยูที่เดียวจบ อย่างจีนมาติดต่อกับไทยเรื่องนโยบายหรือโพลีซีอะไรต่างๆ เขาไม่รู้จะทำความตกลงกับใคร ไปกระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทย์ เขาหน่วยงานเดียวมาตกลงกับ 3 หน่วยงาน มันตลก ต่อไปมาที่นี่ที่เดียวจบเลย เราก็ดำเนินการต่อ เพราะสทนช.โดยหลักการแล้วจะเป็นเซกกูเรเตอร์ เป็นหน่วยงานกำกับนโยบายน้ำของชาติ เป็นเสนาธิการด้านน้ำให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ ต่อไปโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการจะต้องผ่านตรงนี้ก่อนเข้าครม. ส่วนเล็ก ๆ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูไป แต่เราจะดูในภาพรวม”

              ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงหน้าที่ของตำแหน่งเลขาธิการสทนช. นอกจากเป็นเลขาธิการสำนักงาน ซึ่งรับผิดชอบองค์กรที่เปรียบเสมือนเป็นแม่บ้านของกนช.(บอร์ดน้ำ)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ยังเป็นทำหน้าที่เลขานุการ(ด้านน้ำ)นายกรัฐมนตรีอีกด้วย

              “เลขาฯ สทนช.มี 2 ขา ขาหนึ่งเป็นเลขาฯ สำนักงาน อีกขาเป็นเลขาฯ นายกฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานจากท็อปดาวน์ลงมาถึงลุ่มน้ำ ที่ประชุมกรรมการลุ่มน้ำเดิมทีเดียวให้กรมน้ำเป็นเลขาฯ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วโครงสร้างใหม่เลขาฯ สทนช. เป็นเลขาฯ คณะกรรมการลุ่มน้ำแทน”

                อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ โดยคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 25 ลุ่มน้ำดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาขาที่ 1-6 โดยการบริหารในรูปของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งจะมีการเลือกกันเอง โดยจะต้องไม่มีหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียหรือหน่วยงานภาคปฏิบัติเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการและเลขานุการ เป็นได้แค่กรรมการเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการดำเนินการมติในเรื่องใดๆ ของที่ประชุมของคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกครั้งจะถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

               “คณะกรรมการลุ่มน้ำเขาเลือกกันเอง ถามว่าประธานคือใคร อาจจะเป็นผู้ว่าฯ หรือใครก็ได้ที่ได้รับเลือก หน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นกรมชลฯ กรมน้ำ ปภ. เป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติ เป็นเลขาฯ ไม่ได้ถือว่ามีส่วนได้เสีย จังหวัดเองก็เป็นเลขาฯ ไม่ได้ เพราะมีการเสนอโครงการเข้ามาเหมือนกัน” เลขาธิการสทนช.อธิบายรายละเอียดการทำงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

             สำหรับอัตรากำลัง ดร.สมเกียรติ ระบุว่า หากพิจารณาตามโครงสร้างสำนักงานเต็มรูปแบบอยู่ที่ 606 อัตรา แบ่งเป็นข้าราชการ 497 อัตรา พนักงานราชการ 107 อัตรา และลูกจ้าง 2 อัตรา ซึ่งเป็นไปตามที่ก.พ.กำหนด โดยหลักๆ มาจาก 2 กรม คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการจำนวน 43 อัตรา และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 58 อัตรา ส่วนที่เหลือต้องตั้งอัตราใหม่ หลังตัดโอนจากหน่วยงานอื่นมาแล้วแต่ยังไม่ครบตามจำนวน

                “ส่วนอัตรากำลังเอามาจากไหน บางกรมงานยังตัดไม่ขาดก็ไม่ต้องมา ถ้าตัดขาดก็ยกมาทั้งส่วนนั้นเลย หลักๆ ก็มีกรมชลกับกรมน้ำ ส่วนกรมอื่นมีไม่มาก 5-6 คนก็ไม่อยากไปยุ่งกับเขาค่อยตัดส่วนงานไปให้ดีกว่า ตอนนี้รองเลขาธิการได้มาแล้ว 1 จากกรมฝนหลวง ส่วนอีก 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาคนที่เหมาะสม”

                เลขาธิการสทนช.ระบุอีกว่า สำหรับบุคลากรที่ถ่ายโอนมาจะให้เวลาทดลองงานก่อน 180 วัน หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วไม่ผ่านหรือเจ้าตัวไม่สมัครใจที่จะอยู่ต่อก็สามารถกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมของหน่วยงานเดิมได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าตัวเอง

               “คนที่มาต้องมีแรงจูงใจ คนที่มากลุ่มแรกจะต้องมาทดลองงาน 180 วัน ถ้าไม่ไหวก็จะให้กลับต้นสังกัดเดิม ถ้าดี อยากอยู่ต่อและได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ก็ขยับเลยแล้ว แต่ตำแหน่งว่างไม่ว่าง ตำแหน่งสังกัดเดิมก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคนที่อยากกลับก็ปล่อยเขา”

                  ดร.สมเกียรติ ย้ำด้วยว่าสำหรับ หน้าที่หลักของ สทนช.นั้นจะทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน งบประมาณ ตลอดจนการติดตาม และการเข้าไปวางแผนบริหารจัดการน้ำในยามวิกฤติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามคำสั่งมาตรา 44

                  “งานของ สทนช. คล้ายหน่วยงานเสนาธิการด้านน้ำ โดยบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ซึ่งจะต่างจากที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาน้ำอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้ปัญหา บางครั้งก็มีช่องว่างขอบเขตความรับผิดชอบตามกฎหมาย ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สะเด็ด”

              ในส่วนงบประมาณใช้ดำเนินการในเบื้องต้นประมาณ 50 ล้านบาท และมีการตัดงานบางอย่างที่ซ้ำซ้อนกับกรมชลประทานมาไว้ที่สทนช. จากนั้นจะมีการเสนอของบกลางจากรัฐบาลประมาณ 500 ล้านในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน หลังจากกระบวนการทางกฎหมายแล้วเสร็จในทุกขั้นตอนก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายน้ำได้ทันที ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนเมษายน 2561 นี้

                 นับเป็นอีกก้าวของนโยบายการบริหารจัดการน้ำประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สร้างมิติใหม่ของหน่วยงานในการบูรณาการด้านน้ำแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้ชื่อว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช.

  เตรียมคลอด พ.ร.บ.น้ำ ไม่เกินเมษายน 2561

                  พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำว่า ล่าสุดหลังจากที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม ม.44 สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกฯ โดยมีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ทางคณะกรรมาธิการฯก็ต้องมาพิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.ใหม่ เพราะร่างเดิมโครงสร้างการบริหารจัดการเขียนมาคนละแบบ ดังนั้นจะต้องรอให้ทางรัฐบาลจัดโครงสร้างของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติออกมาก่อน จากนั้นคณะกรรมาธิการจึงจะมาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันเอง

                 “ในระหว่างนี้ก็มีการประสานกันภายในตลอดเวลา ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 100 มาตรา ทางคณะกรรมาธิการพิจารณาไปแล้วกว่า 70 มาตรา ซึ่งเป็นมาตราที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสำนักงาน”

พล.อ.อกนิษฐ์ เผยต่อว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมาธิการได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ใน 50 จังหวัด เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 60 จะบังคับใช้เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคณะกรรมาธิการจัดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งหลังจากนี้ก็มีการรับฟังอีกและเมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เรียบร้อยแล้วก็จะมีการจัดเวทีความฟังความคิดเห็นอีกครั้งที่รัฐสภา ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

                  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช.นั้น มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว หลังที่ประชุมหารือร่วมที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และ ดร.วิษณุ เครืองาม สองรองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ใช้พื้นที่กรมชลประทาน สามเสน ก่อสร้างอาคารเป็นที่ทำการถาวรของสทนช.เป็นอาคารสูง 10 ชั้น โดยการออกแบบของสมาคมสถาปนิกสยาม เป็นอาคารอัจฉริยะ วงเงิน 800 ล้าน(ไม่รวมค่าตกแต่งภายใน) โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ประมาณ 15 เดือน จากปัจจุบันที่ใช้อาคารสำนักงาน ก.พ. เป็นที่ทำการชั่วคราว

                “ที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 มกราคม สรุปเบื้องต้นให้ใช้ที่ของก.พ.ไปก่อน ส่วนระยะยาวใช้พื้นที่กรมชลฯ ที่สามเสน สร้างใหม่เป็นอาคาร 10 ชั้น โดยสมาคมสถาปนิกสยามเป็นผู้ออกแบบให้ ทางนายกสมาคมนำแบบมาให้ดูแล้วจะเป็นอาคารอัจฉริยะ อยู่ระหว่างการดำเนินการ งบประมาณก่อสร้างอยู่ที่ 800 ล้าน ไม่รวมตกแต่งภายใน ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน”

                  มีรายงานข่าวว่าในระหว่างการประชุมพิจารณาสถานที่ตั้งของสำนักงานสทนช. ทางอธิบดีกรมชลประทานไม่เห็นด้วยให้ใช้พื้นที่กรมชลประทาน สามเสนเป็นที่ตั้งของสำนักงานสทนช. โดยเสนอให้ไปตั้งที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วย

                 โดยให้เหตุผลว่าที่สามเสนจะสะดวกกว่าในการประสานกับอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องน้ำ ที่สำคัญอยู่ใกล้กับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) ซึ่งรับรู้ข้อมูลน้ำทั่วประเทศแบบเรียลไทม์และในอนาคตจะต้องโอนมาอยู่ในสังกัดของสทนช.ด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ