คอลัมนิสต์

‘น้องณิชา’ ติดคุก...ใครผิด??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรณี “น้องณิชา” ติดคุก ใครเป็นคนผิด อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาให้มุมมองด้านกฎหมายไว้น่าสนใจ



          เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 นายชูชาติ  ศรีแสง  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Chucart Srisaeng) ให้ข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับข้อกฎหมายกรณี “น้องณิชา” นางสาวณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ ที่ถูกคนร้ายล้วงเอากระเป๋าและนำบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดบัญชีหลอกลวงคนอื่น จนทำให้เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีและถูกติดคุกไป 3 วัน 2 คืน เพราะไม่ได้ประกันตัว
ในมุมมองของอดีตผู้พิพากษาชูชาติ มองว่าทั้งธนาคารและตำรวจต่างกระทำผิดต่อ “น้องณิชา” และต้องใช้สินไหมทดแทน รายละเอียดดังนี้

 

‘น้องณิชา’ ติดคุก...ใครผิด??



          “กรณีนางสาวณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ ที่ถูกคนร้ายล้วงเอากระเป๋าสตางค์ ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯ อยู่ในกระเป๋าด้วยไป ต่อมาคนร้ายได้นำบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวณิชาไปขอเปิดบัญชีที่ธนาคาร 7 แห่ง รวม 9 บัญซี แล้วหลอกบุคคลอื่นให้โอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวและกลุ่มคนร้ายได้เบิกเงินจากบัญชีหลบหนีไป ต่อมาผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายหลอกให้โอนเงินให้ ได้ไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านตาก จังหวัดตาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านตากได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจกองปราบปรามและได้ตัวนางสาวนิชาไปดำเนินคดี จากนั้นได้นำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดตาก ฝากขังเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 

          นางสาวณิชาขอยื่นประกันตัว แต่ศาลจังหวัดตากไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า กลัวผู้ต้องหาหลบหนี ต่อมานางสาวณิชาได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ภาค 6 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฯ อนุญาตให้ประกัน โดยนางสาวณิชาถูกขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดตาก 3 วัน 2 คืน 

          หลังจากได้รับการปล่อยตัวนางสาวณิชาจากเรือนจำได้กล่าวว่า จะฟ้องธนาคารทั้ง 7 แห่ง ที่ให้คนร้ายนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนเปิดบัญชีในชื่อของตน เปิดเหตุให้ตนต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดในชีวิต

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขา เสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          การที่พนักงานของธนาคารทั้ง 7 แห่ง ทำการเปิดบัญชีให้แก่บุคคลอื่นในชื่อของนางสาวณิชา โดยไม่ได้ตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่า ผู้ที่นำบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวณิชาไปขอเปิดบัญชีเป็นนางสาวณิชาจริงหรือไม่ ต้องถือว่าเป็นกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นการกระทำต่อนางสาวนิชาโดยผิดกฎหมาย ธนาคารในฐานะนายจ้างของพนักงานเหล่านั้น จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวณิชา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

          ที่มีผู้บริหารชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารบางแห่งให้เหตุผลว่า พนักงานธนาคารไม่อาจบังคับให้ผู้มาขอเปิดบัญชีที่ใช้ผ้าหน้ากากอนามัยปิดหน้าเปิดเพื่อให้เห็นหน้าผู้มาขอเปิดบัญชีได้นั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นธนาคารก็ต้องไม่ยอมเปิดบัญชีให้ แต่ตามความเป็นจริงทุกธนาคารต่างก็พยายามหาลูกค้าให้มาเปิดบัญชีให้มากที่สุด พนักงานคนใดหาลูกค้ามาเปิดบัญชีได้มากก็จะได้รับบำเหน็จเป็นพิเศษด้วย ข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจนำมาอ้างให้พ้นความรับผิดได้

          นอกจากนี้ตามข่าวที่ว่า เมื่อนางสาวณิชาทราบว่ามีหมายจับก็ได้เดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมนำหลักฐานที่ได้แจ้งความเรื่องการถูกปลอมแปลงเอกสารไปเปิดบัญชีธนาคาร แต่พนักงานสอบสวนไม่สนใจหลักฐานดังกล่าว อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่และทำบันทึกจับกุมว่า จับกุมนางสาวณิชาได้ที่บ้านพัก

          ถ้าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง และในคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอฝากขังนางสาวณิชาระบุว่า จับกุมนางสาวณิชาได้ที่บ้านพัก คำร้องของพนักงานสอบสวนในส่วนนี้ก็เป็นการกล่าวความเท็จต่อศาล และคำกล่าวเท็จนี้เป็นสาระสำคัญในการที่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการให้ประกันตัวนางสาวณิชาหรือไม่ เพราะถ้าในคำร้องขอฝากขังกล่าวว่า นางสาวณิชาเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคดีฉ้อโกงมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ศาลก็น่าจะให้ประกันเนื่องจากไม่เหตุที่จะกลัวว่านางสาวณิชาจะหลบหนี ถ้าเป็นเช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวนางสาวณิชาและทำให้นางสาวณิชาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 3 วัน 2 คืน ย่อมเป็นผลมาจากคำร้องอันเป็นเท็จดังกล่าว จึงต้องถือว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำละเมิดต่อนางสาวณิชาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวณิชาด้วย”
 



 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ