คอลัมนิสต์

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การประกาศ "อัตราค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นเสมือนธรรมเนียมการให้ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล

 
 
          ส่วนใหญ่นิยมประกาศวันที่ 1 มกราคม แต่ปีนี้พี่น้องแรงงานชาวไทย ต้องรอลุ้นระทึกเพราะยังไม่มีตัวเลขออกมาว่าจะ “ขึ้น” ให้อีกกี่บาท

          ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ มีความพยายามคิดสูตรคำนวณใหม่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นเท่าไร ถึงจะทำให้ทุกฝ่าย "ชื่นใจ"!

          ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานร่วมกับตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างประชุมปรึกษาหารือกันหลายครั้งเกี่ยวกับจำนวนค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมของปี 2561 เพราะปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ได้เพียง 305 บาท มี 7 จังหวัดเท่านั้นที่กำหนด 310 บาท เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต นครปฐม เป็นต้น

 

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

 

          พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้เรียกประชุม “คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย” หรือ “บอร์ดค่าจ้าง” และให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานหารือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ โดยค่าแรงที่ปรับเพิ่มมีผลทันทีในสิ้นเดือนมกราคม ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
ทั้งนี้ “บอร์ดค่าจ้าง” ประกอบด้วย “คณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย” แบ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนแรงงาน อย่างละ 5 คน รวมเป็น 15 คน นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการในแต่ละจังหวัดช่วยกันส่งข้อมูลมาที่สำนักงานส่วนกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่

          มีกระแสข่าวว่าอาจมีอัตราค่าจ้างพิเศษเพิ่มขึ้นมาด้วย ตามนโยบายเพิ่มสัดส่วนแรงงานในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยบางกลุ่มมีช่องทางหารายได้ ในรูปแบบ “กำหนดอัตราค่าแรงเป็นรายชั่วโมงในลักษณะงานพิเศษ” ให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างผู้สูงอายุ คนพิการ หรือพนักงานทั่วไปหลังเลิกงานประจำ

          ปี 2561 อัตราค่าแรงขั้นต่ำควรถูกกำหนดโดยเงื่อนไขปัจจัยใดบ้าง ? 

          ปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ประชุมพิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยอิงสูตรการคำนวณแบบใหม่ นั่นคือเพิ่มรายการ “ปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจ” ให้กว้างขวางครอบคลุมข้อมูลทุกด้านมากขึ้น โดยมี 10 รายการสำคัญ ได้แก่
          1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน
          2.ดัชนีค่าครองชีพ
          3.อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2559
          4.มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ
          5.ต้นทุนการผลิต
          6.ราคาสินค้าและบริการ
          7.ความสามารถของธุรกิจ
          8.ผลิตภาพแรงงาน
          9.ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2557
          10.สภาพเศรษฐกิจและสังคม

 

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

 

          "สาวิทย์ แก้วหวาน" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) แสดงความคิดเห็นว่า การปรับค่าจ้างในปี 2561 อยากให้คำนึงถึงปัจจัยหรือตัวแปรที่เป็นสากลด้วย เพราะสหประชาชาติ และไอแอลโอ หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ตั้งมาตรฐานไว้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน เครือข่ายแรงงงานจึงช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันคนไทยควรได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณวันละ 700 บาท แต่ทั้งนี้ไม่ได้กดดันว่าต้องได้มากขนาดนั้น เพียงอยากให้รัฐบาลรับทราบไว้ว่าจากการทำแบบสอบถามลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ 77 จังหวัด เกี่ยวกับค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผลปรากฏว่าได้ข้อมูลคล้ายกันคือ ควรได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 560 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3 ต่อปี และบางจังหวัดไม่ได้ปรับขึ้นมาหลายปีแล้ว

          “ตอนนี้โรงงานขนาดกลางและใหญ่ให้รายวัน 500 บาทแล้ว มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่ยังไม่ให้ ถ้าจะให้แค่ 360 บาท ก็อยากเรียกร้องขอทุกจังหวัดได้รับเท่าเทียมกัน เพราะคนงานในโรงงานค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนก็ตาม เพราะค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอื่นๆพวกเขาไม่ได้เป็นชาวบ้าน อาศัยในหมู่บ้านที่มีเวลาไปเก็บผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูกินเอง เพราะฉะนั้นค่าครองชีพไม่ได้ต่างกัน ค่าน้ำมันเท่ากัน อาหารถุงราคาเท่ากัน บางทีค่ารถมากกว่าด้วยเพราะไม่มีรถเมล์ หากเป็นไปได้ควรยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัดเสีย เพราะข้อมูลที่ได้มาไม่ใช่ข้อมูลที่แท้จริง พี่น้องแรงงานต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปากมีเสียง ส่วนใหญ่มีแต่นายจ้างไปกำหนดแล้วส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลาง”

 

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

 

          นายสาวิทย์ กล่าวยืนยันว่า นายจ้างมักอ้างว่าค่าแรงสูงจะทำให้โรงงานขาดทุน ทั้งที่จริงแล้วสถานประกอบหรือบริษัทส่วนใหญ่มีค่าแรงคนงานเป็นเพียงต้นทุนร้อยละ 1 เท่านั้น นอกนั้นเป็นค่าวัสดุ ค่าอุปกรณ์ ค่าขนส่ง และที่สำคัญคือ ค่าทำการตลาดหรือค่าโฆษณาที่บางแห่งสูงถึงร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

          ข้อเรียกร้องให้แรงงานได้ 700 บาทต่อวันนั้น อาจทำให้ลูกจ้าง "ชื่นใจ" แต่ฝ่ายที่ต้องประกาศตัวเลขนี้อาจ "ทุกข์ใจ"...

          เพราะปัจจัยที่นำมาพิจารณานั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย เป็นมติร่วมกันทั้งนายจ้าง รวมถึงตัวแทนภาครัฐจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะเห็นพ้องต้องกันกับตัวเลข “700”

          แหล่งข่าวนักวิชาการผู้มีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯวิเคราะห์ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังว่า

          ปีที่ผ่านมาการประชุมบอร์ดค่าจ้างนั้นค่อนข้างถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้มีข้อโต้แย้งอะไรกันมากนัก ส่วนปีนี้ยังคงเป็นบอร์ดชุดเดิม การประชุมบอร์ดที่กำหนดไว้กลางเดือนมกราคมน่าจะไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน เพียงแต่อาจปรับอัตราค่าจ้างที่แบ่งเป็น 4 อัตราในปี 2560 ให้เหมาะสมมากขึ้น จาก 300-310 บาทอาจปรับขึ้นอีก แต่ยังบอกตัวเลขไม่ได้ ต้องรอมติจากที่ประชุม

          “ปัจจัยกำหนดค่าจ้างต้องดูข้อมูลของแต่ละจังหวัดมาร่วมพิจารณาด้วยเพราะหากเพิ่มให้จังหวัดใกล้เคียงกันมีราคาค่าแรงต่างกันมาก อาจเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานหรือตัวโรงงานอาจได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการพิจารณาปัจจัยด้านค่าครองชีพเป็นหลักด้วย โดยเฉพาะค่าซีพีไอ (CPI) หรือดัชนีราคาผู้บริโภคถือเป็นตัวแปรใหม่ที่จะนำมาใช้ เพื่อกำหนดสูตรอัตราค่าจ้างให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการคำนึงถึงอัตราการเติบโตและผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่แตกต่างกันนอกจากนี้ ค่าแรงของช่างฝีมือหรืออาชีพพิเศษได้เพิ่มมากขึ้นจากแรงงานปกติในวันนี้สถานประกอบการและโรงงานในประเทศไทยบางส่วนให้เกินค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่แล้ว”

 

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

 

          นักวิชาการข้างต้นกล่าวต่อว่า ในต่างประเทศนั้นวิธีกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานส่วนใหญ่ จะคล้ายคลึงกับไทยคือ มีตัวแทนหลายฝ่ายเข้าไปร่วมกันพิจารณา เพียงแต่บางประเทศมีการเจรจาต่อรองกัน แต่บางประเทศค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้มีความหมายมากนัก เพราะส่วนใหญ่นายจ้างให้สูงกว่าอยู่แล้ว
"สภาพเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ช่วงเจริญเติบโต หากค่าแรงแพงมากเกินไปผู้ประกอบการอาจตัดสินใจย้ายออกนอกประเทศ หรือย้ายออกจากบางพื้นที่แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หากค่าแรงมนุษย์สูงมากขึ้น โรงงานใหญ่ๆ จะหันไปใช้เครื่องจักรแทนเพราะประหยัดไปได้มากในระยะยาว ส่วนข้อเรียกร้องที่อยากให้แรงงานได้รับวันละ 600-700 บาทนั้น ถ้าทำจริงคงเจอปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น ค่าครองชีพ ค่าสินค้าจะเพิ่มราคาขึ้นสูงตามไปอย่างแน่นอนสุดท้ายเงินที่ได้มาอาจจ่ายออกไปซื้อของจนหมด การกำหนดค่าแรงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย" นักวิชาการข้างต้นกล่าวสรุป

          การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อนายจ้างอย่างแน่นอน หลายครั้งที่ตัวแทนนายจ้างเรียกร้องให้กลุ่มคนงานเร่งพัฒนาฝีมือและมีความรับผิดชอบในการทำงานมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างหรือเพิ่มสวัสดิการอย่างเดียว แต่ไม่พัฒนาทักษะฝีมือในการทำงานให้มีคุณภาพสมน้ำสมเนื้อกับค่าแรงที่ได้รับ นับถอยหลังอีกไม่กี่เดือน ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำคงประกาศออกมา หลังได้ตัวเลขชัดเจนจากการประชุมของบอร์ดไตรภาคี และผ่านการลงมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

          จากปัจจัยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำข้างต้น คาดว่า 360 บาทคือตัวเลขที่น่าลุ้น ส่วน 700 บาทคงเป็นตัวเลขในฝัน...

          รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกว่า อยากให้คนส่วนใหญ่ชื่นใจ คนส่วนน้อยทุกข์ใจ หรือเป็นผลลัพธ์ตรงกันข้าม !?!
 

 

วิเคราะห์ปัจจัยชี้ชะตา“ค่าแรงขั้นต่ำ2561”ชื่นใจ-ทุกข์ใจ!

 


ซีพีไอ-ดัชนีราคาผู้บริโภค

          CPI (Consumer Price Index) หมายถึงตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อกันเป็นประจำและเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นภาวะเงินเฟ้อในแต่ละปี

          “ดัชนีราคาผู้บริโภค” ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลปรับราคาค่าจ้างและเงินเดือนโดยให้สอดคล้องกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยสถานประกอบการบางแห่งในอเมริกากำหนดว่าหากดัชนีราคาผู้บริโภคเปลี่ยนไป 0.5 ค่าจ้างต้องเพิ่มขึ้น 1 เซ็นต์
ตัวเลขของไทยปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนธันวาคมอยู่ที่ 101.37 ขยายตัวร้อยละ 0.78 จากช่วงเดียวกันของปี 2559

3ข้อเรียกร้อง "วันแรงงานแห่งชาติ 2560"

          คณะกรรมการสมานแล้วฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กับตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เสนอ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ
          1.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เนื่องจากลูกจ้างยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างคุณค่าให้ชีวิต ยังคงยากจนและเป็นหนี้สินซึ่งส่งผลต่อการบริโภคและภาคการผลิต
          2.ให้กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
          3.กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปีให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ

.................................
ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ