คอลัมนิสต์

เปิดมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐเฟสสอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐเฟสสอง ต่อยอด“บัตรคนจน”สู่การพัฒนาอาชีพ

 

              พลันที่รัฐบาลเปิดตัวมาตรการโครงการสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรืออบัตรคนจนเฟสแรกไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความคึกคักให้เศรษฐกิจฐานรากไม่น้อย ล่าสุดรัฐบาลภายใต้การนำของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เตรียมออกมาตรการโครงการสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเฟสสอง ซึ่งนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (อังคาร 9 ม.ค.) เพื่อเป็นการต่อยอดจากเฟสแรกในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน 

                 จากข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ที่กระทรวงการคลังได้สรุปยอดผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14,176,170 คน โดยมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 11,431,681 คน แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนที่มีอาชีพเกษตรกร จำนวน 3,322,214 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่มีสิทธิ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ใช่เกษตรกร มีจำนวน 8,109,467 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71

                  ดังนั้นการนำมาตรการยกระดับผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 หรือบัตรคนจนเฟสสอง เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในวันนี้ แบ่งออกเป็นโปรมแกรมการพัฒนาเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกร และโปรแกรมการพัฒนาแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีประมาณ 5 ล้านราย เป็นอันดับแรกและผู้มีรายได้น้อยที่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีเป็นอันดับต่อไป โดยจะเริ่มโครงการได้ในเดือนมีนาคม พร้อมมีการประเมินผลการดำเนินงานหรือเคพีไอเป็นระยะๆ 

            สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในเขตเมืองได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ช่วยฝึกแรงงานให้ตรงกับความต้องการของห้างร้าน ส่วนผู้ลงทะเบียนต่างจังหวัดและเกษตรกร มอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปหามาตรการช่วยเหลือ พร้อมจัดตั้งโครงการพิเศษในการรับฝากเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยพิเศษ และปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางประกอบกิจการเป็นของตัวเอง

               “เจตนาของการทำโครงการในระยะที่ 2 นี้ คงไม่ใช่การให้เปล่า แต่เป็นสิ่งที่ต้องคิดขึ้นมาแบบมีเงื่อนไข หาโปรแกรมมาพัฒนาคนกลุ่มนี้ และต้องช่วยเขาให้ดีที่สุด เริ่มต้นจากเกษตรกรก่อน โดยร่วมมือกับเกษตรจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเข้ามาร่วมมือกันเอาคนที่ลงทะเบียนมาเข้าโปรแกรมว่าจากนี้ต้องทำอะไร ผลิตสินค้าอะไร พัฒนาไปจนเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 

           "โครงการนี้จะเป็นสิ่งที่ดีและยังไม่มีประเทศไหนทำโปรแกรมอย่างนี้ จะมีก็แค่บางประเทศที่กำหนดเงื่อนไขออกมาแต่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น บางประเทศกำหนดให้ลูกต้องมาเข้าโรงเรียนหรือต้องเข้ามาตรวจสุขภาพ แต่เราต้องการให้เข้าโปรแกรมการพัฒนาอาชีพ ส่วนคนที่เป็นสูงอายุก็ให้เขาสมัครใจ อาจมีโปรแกรมพัฒนาความคิดอ่านเพื่อเพิ่มเติมศักยภาพได้” 

               ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ถึงแนวทางการดำเนินมาตรการโครงการสวัสดิการแห่งรัฐดเฟสสอง ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ โดยลักษณะโครงการจะเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพและเป็นโปรแกรมเฉพาะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับอาชีพเดิมที่อยู่อาศัย และช่วงอายุ โดยเน้นที่เป็นการฝึกอาชีพ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะรับผิดชอบฝึกอาชีพให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย 

               ส่วนกระทรวงแรงงานฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะรับผิดชอบโปรแกรมการฝึกอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง โดยอาจให้ไปทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่าง ธ.ก.ส.และออมสินไว้รองรับ และบางส่วนจะเป็นโปรแกรมของกระทรวงมหาดไทยในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการคิดโปรแกรมในการพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในลักษณะนี้ 

              “อยากให้ทุกคนเข้ามา ไม่อยากให้เป็นการบังคับ แต่เมื่อรับเงินไปแล้วก็ต้องเข้าโปรแกรมพัฒนา ไม่ต้องการให้รับเงินเรื่อยไป นอกจากนี้จะมีของแถมในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมด้วย” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวน 

             อย่างไรก็ตามในส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะนี้ได้เตรียมนัดประชุมผู้จัดการสาขาและเจ้าหน้าที่วางแผนปฏิบัติงานทั่วประเทศกว่า 300 คนในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามมาตรการช่วยเหลือคนจนเฟสสองในส่วนของธนาคารที่กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติมาตรการทั้งหมดในวันที่ 9 มกราคมนี้ โดยธนาคารเตรียมเม็ดเงินไว้สำหรับสนับสนุนแหล่งทุนเป็นวงเงินรวม 9.5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายไว้ 

              ขณะที่ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU- OAE Foresight Center : KOFC) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรหรือ สศก. ได้เผยแพร่รายงานของ ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุชัดว่า 

               จากการที่ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรได้วิเคราะห์ผลกระทบการจัดประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่จำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้บรรจุกรอบวงเงินเพื่อการดำเนินการดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (รายการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก) ไว้เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 46,000 ล้านบาท 

             โดย ผศ.ดร.กัมปนาท เผยว่า จากผลการวิเคราะห์ภายใต้สมมติฐานที่ว่าในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-ก.ย.61) มีผู้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านสิทธิ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.43 ล้านคน และถ้ามีการใช้จ่ายเต็มวงเงินงบประมาณในหมวดที่ 1 คือการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และหมวดที่ 2 การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ภาพรวม พบว่าผู้ผ่านสิทธิ์ 11.43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 46,000 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 118,077.82 ล้านบาท

            และเมื่อพิจารณาผลกระทบในภาคเกษตร พบว่า มีเกษตรกร 3.32 ล้านคน ใช้งบประมาณ 13,368.59 ล้านบาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคเกษตร 21,215.50 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 21,134.27 ล้านบาท รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นมูลค่า 70.73 ล้านบาท และส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม คิดเป็นมูลค่า 10.50 ล้านบาท ตามลำดับ

              หากพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตรรายสาขา พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ สาขาการทำนา คิดเป็นมูลค่า 8,542.02 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาการเลี้ยงสัตว์ปีก คิดเป็นมูลค่า 2,753.76 ล้านบาท สาขาการเลี้ยงสุกร คิดเป็นมูลค่า 2,270.93 ล้านบาท สาขาการทำไร่พืชตระกูลถั่ว คิดเป็นมูลค่า 1,235.53 ล้านบาท และสาขาการปศุสัตว์ คิดเป็นมูลค่า 1,177.83 ล้านบาท

              อย่างไรก็ตามทางศูนย์มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยในภาคการเกษตรนั้น ภาครัฐควรเน้นการแก้ปัญหาไปที่การพัฒนาความรู้ทักษะการประกอบอาชีพที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน เนื่องจากโครงการบัตรสวัสดิการอาจเป็นการสร้างภาระให้ภาครัฐในการบริหารงบประมาณจำนวนมหาศาลในระยะยาว

              ส่วนระยะต่อไปควรปรับแนวคิดผู้มีรายได้น้อยที่ยังพอมีศักยภาพสามารถพัฒนาตนเองให้พึ่งพาตนเองได้ หรือกลับเข้าไปแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์ หรือควรเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จโดยเฉพาะกลุ่มคนในระบบภาษี อีกทั้งในอนาคตควรสร้างความหลากหลายในการบริการสวัสดิการเพื่อรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วย    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ