คอลัมนิสต์

ฟันธง! สารกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่ “ผู้ร้าย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟันธง! สารกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ต้นตอปัญหา “เกษตรกร” ใช้ไม่ถูกวิธี

                จากมุมมองของต่างชาติที่มองว่าประเทศไทยปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกแล้วได้ผลดี แต่มีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นทำให้โรคแมลงศัตรูพืชแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ช่วยหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ให้ลุกลามแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

             ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรใช้มาอย่างยาวนาน แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็ถูกมองว่าเป็นอันตราย ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและตัวผู้ใช้ควรหันมาผลิตสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติแทน

        "เราควรแยกกลุ่มให้ชัดเจน ใครทำเกษตรอินทรีย์ก็ทำไป ใครทำเกษตรกรปลอดภัยที่ต้องใช้สารเคมีก็ทำไปเอาให้ชัด ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตร 148 ล้านไร่ มีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 20 ล้านคน กลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์มีไม่ถึง 1% ผลผลิตส่งออกกว่า 99.9% มาจากเกษตรใช้สารเคมีทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างสารกำจัดศัตรูพืชเป็นอาวุธที่เกษตรกรต้องใช้ปกป้องกันผลผลิตไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายจากศัตรูพืช แต่กลับถูกมองเป็นจำเลยของสังคมมานานว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการปนเปื้อนอาหาร ทำลายระบบนิเวศ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยล้มตายของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องค้นหาความจริงเช่นกัน”

           ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าววิพากษ์ในประเด็นเสวนาหัวข้อ “สารกำจัดศัตรูพืช  ตัวช่วยหรืออุปสรรค ไทยแลนด์ 4.0” จัดโดยสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตร ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันก่อน โดยย้ำว่าสารเคมีไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การใช้ไม่ถูกวิธีต่างหากที่ทำร้ายเกษตรกร พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชก็เหมือนยารักษาโรค ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นอันตราย เช่นเดียวกับมีด ถ้ารู้จักใช้ก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษถูกคมมีดบาดมือได้ เหมือนความกังวลว่าเด็กเล็กจะได้รับอันตรายจากมีดบาด เลยไม่ให้ใช้มีด แต่หากเราสอนให้ใช้มีดด้วยความระมัดระวัง มีดอาจบาดมือบ้างในตอนแรก แต่ในที่สุดจะใช้มีดได้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับความห่วงใยของคนบางกลุ่มที่ไม่เคยทำการเกษตรแต่กลับกลัวว่าสารเคมีเกษตรเป็นอันตรายต่อเกษตรกร ควรหาทางยกเลิกการใช้ 

                ดร.จรรยา ระบุอีกว่าการเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้เรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องของผู้ใช้และเกษตรกรนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้องในการดำเนินการในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอและผู้ผ่านการอบรมจะต้องได้รับการการันตีด้วยว่าได้ผ่านการฝึกอบรมเรียบร้อยแล้วสามารถนำเอกสารไปยืนยันการใช้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรกรในการซื้อหาสารเคมีดังกล่าว แต่ที่ผ่านมากฎหมายบ้านเราไม่เข้มงวดในเรื่องนี้เท่าที่ควร อีกทั้งการจัดฝึกอบรมเกษตรกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละครั้งก็เป็นยังเป็นคนกลุ่มหน้าเดิมๆ พืชที่ปลูกก็ไม่ตรงกับหัวข้ออบรม จึงไม่แปลกว่าเกษตรกรตัวจริงเข้าไม่ถึงองค์ความรู้เหล่านี้ ทำให้มีการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องเหมาะสมและไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น 

                “ดิฉันเชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความหวังดีทั้งสิ้น เอ็นจีโอก็หวังดี อยากให้สังคมตื่นตัว แต่อาจจะเกินเลยจนตื่นตระหนก ผู้ประกอบการก็ต้องการให้เกษตรกรมีเครื่องมือใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ผู้ส่งออกก็หวังดีว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจการส่งออกดีขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่พยายามออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตัวผู้ใช้และผู้บริโภค แต่ความหวังดีนี้จำเป็นต้องร่วมมือกัน และต้องร่วมกันผลักดันให้ภาคเกษตรก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชกล่าว

               ขณะที่ เปรม ณ สงขลา เจ้าของสวนคหเกษตร ซึ่งเป็นสวนเกษตรจีเอพี ใน ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ฐานะตัวแทนเกษตรกรกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา โดยระบุว่าสารกำจัดศัตรูพืชยังมีความจำเป็นต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ เห็นได้จากวิวัฒนาการของสังคมตั้งแต่ยุคเกษตร 1.0 จนถึง 3.0 และด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง การเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่การเกษตร 4.0 อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตนั้นสารเคมีเกษตรเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตมาโดยตลอด  แต่ที่ผ่านมาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมักถูกมองในแง่ลบและถูกองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอนำข้อมูลไปขยายผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อภาคเกษตรที่มีประชากรร่วม 20 ล้านคน จนกลายเป็นการขัดแข้งขัดขาต่อสู้กันเอง โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ 

              “เกษตรกรไทยเองก็มีปัญหา มุ่งแต่สังคมบันเทิง ไม่เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยแสวงหาความรู้และคำตอบใหม่ๆ ในการผลิตเพื่อคุณภาพและการแข่งขัน เมื่อเทียบกับไต้หวันที่เคยมีประชากรยานจนในภาคเกษตร 23 ล้านคน ขณะนี้เหลือเพียง 3 แสนราย และอีกประมาณ 8 แสนคน กลายเป็นสังคมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิต มีรายได้สูงและเกษตรกรทุกคนมีฐานะดี”

                  เปรมยอมรับว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (บางตัว) เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ เพราะหากเลิกจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน จะมีการลักลอบนำเข้าอย่างมโหฬารและควบคุมได้ยาก ตราบใดที่ยังมีดีมานด์ มีความต้องการใช้ ผู้ขายก็ต้องจัดหามาให้ได้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง  ยิ่งในอีก 3-4 ปีข้างหน้า คนงานต่างด้าวกลับประเทศกันหมด ภาคการเกษตรไทยจะเป็นง่อยทันที  การที่ประเทศไทยได้ก้าวพ้นการปฏิวัติเขียวด้วยการปรับปรุงพันธุ์ ระบบการชลประทาน และการเกษตรกรรม ทำให้วันนี้จะหวนกลับไปเป็นแบบดั้งเดิมไม่ได้อีกแล้ว ยังจะต้องพัฒนาไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลแทนระบบอะนาล็อก สามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด  

                  “การช่วยภาคเกษตรไทยเพื่อให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้ ต้องช่วยกันทุกคนทุกฝ่าย และใจต้องเป็นเอกภาพ ที่สำคัญเกษตรกรไทยทุกวันนี้อายุเฉลี่ย 56-58 ปีไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิต ยิ่งอีกไม่นานประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าแรงงานเขมร พม่ากลับประเทศหมด เราเป็นง่อยเลยนะ ฉะนั้นการปรับภาคเกษตรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มอันนี้เป้นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ส่วนสารเคมีเกษตรยังไงเราก็ยังจำเป็นต้องใช้ ไม่มีทางที่เลิกได้ เพราะถ้าเลิกใช้เมื่อไหร่ระบบทั้งโลกจะบิดเบี้ยวทันที ไม่สามารถผลิตป้อนภาคอุตสาหกรรมได้ เหมือนย้อนอดีตไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วมีประชากรไม่กี่ล้านคนอันนี้คือความจริง” เจ้าของสวนเคหเกษตรกล่าวย้ำ  

                 ด้าน ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตรและอดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตรหลายสมัย มองว่าสารกำจัดศัตรูพืชเป็นเครื่องมือสำคัญของเกษตรกร ถ้าปลูกในพื้นที่เล็กๆ เป็นสวนครัวหลังบ้านสามารถจัดการกับแมลงศัตรูพืชเองได้หรือใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรไม่มากนักก็อาจผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเองได้  แต่หากผลิตในเชิงพาณิชย์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลายเป็นสิ่งจำเป็นทันที แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยสามารถลดการใช้สารเคมีเกษตรลงทันทีไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ 90,000 ตันต่อปี มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท แต่หากหน่วยงานภาครัฐถ่ายทอดข้อมูลวิธีการใช้อย่างถูกต้องให้แก่เกษตรกรมีความรู้อย่างเพียงพอ 

                   "ถ้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ดีจริง คงไม่ขายดีกันทั่วโลก การห้ามใช้  ก็พูดไม่ครบ พูดแต่มีจำนวนกี่ประเทศที่ห้าม แต่ไม่พูดถึงจำนวนประเทศที่ใช้กัน ซึ่งก็มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วรวมอยู่ด้วย และละเลยความจริงว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี โรคและแมลงรวมทั้งวัชพืชก็เกิดได้ทั้งปีเช่นกัน ดังนั้นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นเครื่องมือของเกษตรกรในการดูแลผลผลิตไม่ให้เสียหาย เรื่องยกเลิกหรือห้ามใช้ ผู้ประกอบการค้าสารเคมีเขาไม่เดือดร้อนหรอก ไม่มีตัวนี้ก็ยังมีตัวอื่น แต่ละร้านมีเป็นสิบเป็นร้อยชนิดที่วางขาย แต่คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือคนทำมาหากิน ตัวเกษตรกรต่างหากที่ไม่มีอะไรมาใช้ทดแทนในการกำจัดศัตรูพืช หรือมีก็ไม่ดีเท่าที่เคยใช้มานาน” ดร.วีระวุฒิกล่าว  

                  ดร.วีระวุฒิ ย้ำด้วยว่าทุกวันนี้เกษตรกรยังแยกไม่ออกว่าอันไหนโรค อันไหนแมลง จึงใช้สารเคมีในการกำจัดไม่ถูกจุด ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้งสิ้น ขณะเดียวกันการอนุญาตใช้สารเคมีของภาครัฐก็ผ่านการคัดกรอง การทดลองวิจัยมาอย่างดีแล้วทั้งสิ้น ถ้าไม่ดีจริงเขาคงไม่อนุญาตให้ใช้ในหลายๆ ประเทศที่ทุกวันนี้ยังมีการใช้กันตามปกติและหากสังเกตให้ดีประเทศที่ประกาศห้ามใช้สารเคมีเกษตรส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ปัญหาโรคและแมลงในพืชมีน้อย แต่สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศร้อน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงยังมีความจำเป็น 

                 “ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรบ้านเราจะปลูกอะไรมักปลูกตามๆ กัน จึงสร้างบรรยากาศความเหมาะสมในการระบาดของศัตรูพืช พอระบาดขึ้นมาก็ไปซื้อยามาฉีดมาพ่น ที่จริงแล้วในธรรมชาติมันก็มีกลไกควบคุมกันเอง แต่หากการปลูกพืชในพื้นที่ขนาดใหญ่ยังไงสารกำจัดศัตรูพืชยังมีความจำเป็น เพราะจะลงไปจัดการด้วยตัวเองคงลำบาก หรือถ้าหากใช้สารที่มีคุณสมบัติทำลายศัตรูพืชชนิดนั้นโดยตรงก็จะเป็นการสิ้นเปลืองและเพิ่มภาระในเรื่องต้นทุนโดยใช่เหตุ”

                เขาระบุอีกว่า ทุกวันนี้ร้านค้าจำหน่ายสารเคมีเกษตรทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 30,000 กว่าราย ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจีนทั้งประเทศ จึงมองว่าการเพิ่มขึ้นของดีลเลอร์หรือร้านค้าเหล่านี้มีเกินความจำเป็น  อย่างไรก็ตามแม้การควบคุมของกฎหมายจากต้นน้ำค่อนข้างดีมาก โดยเห็นจากการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรแต่ละตัวที่นำเข้ามาต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะขึ้นทะเบียนได้ แต่เมื่อมาถึงกลางน้ำในเรื่องการจัดการร้านจำหน่าย กฎหมายกลับไม่เข้มงวดมากนัก ปล่อยให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จึงมีผลกระทบเกิดขึ้นทางด้านปลายน้ำทั้งตัวผู้ใช้และผู้บริโภคผลผลิตจากการใช้สารเคมีนั้นๆ  

                  "ยิ่งร้านจำหน่ายมีจำนวนมากเท่าไหร่ การควบคุมยิ่งยากขึ้นเท่านั้น อย่างบางอำเภอมีร้านค้าสารเคมีเกษตรมากกว่าร้านหมอยาคนเสียอีก อย่างร้านขายยา เขามีเภสัชกรคุม ให้คำแนะนำแก่ผู้ซื้อว่ายานี้กินก่อนอาหารหรือหลังอาหารกี่โมงถึงกี่โมง แต่ร้านค้าสารเคมีเกษตร มีหรือไม่เภสัชกรสารเคมีที่รู้เรื่องสารเคมีแต่ละตัวอย่างละเอียด ให้คำนำแนะแก่ผู้ซื้อได้  พนักงานร้านค้าสารเคมีทุกวันนี้จะจ้างใครก็ได้มาขาย แค่อ่านออกเขียนได้ รู้ชื่อชนิดสารเคมีหยิบให้ลูกค้าถูกต้องแค่นี้พอแล้ว ส่วนคนซื้อเองก็ไม่เคยรู้รายละเอียดเพียงแค่รู้จักชื่อสารเคมีตัวนั้นตัวนี้แล้วก็ใช้ต่อๆ กันมาเห็นว่าใช้ดีก็เลยลองใช้ดูบ้าง นี่คือสภาพความเป็นจริงการใช้สารเคมีเกษตรของบ้านเราในทุกวันนี้” อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตรหลายสมัยกล่าวและยืนยันว่า

                  ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกันในการร่วมกันก้าวไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล 

                                             ****************************

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ