คอลัมนิสต์

  วิธีการ"ต้ม"ใบเบิกทางเจาะตลาดผลไม้ไทยในสหรัฐฯ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  วิธีการ"ต้ม" ใบเบิกทางเจาะตลาดผลไม้ไทยในสหรัฐฯ 

          จากข้อมูลที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประเมินปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าไทยมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้ทั้งหมด 2.8 ล้านตัน มูลค่า 119,630 ล้านบาท มีอัตราเติบโตร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2558 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปต่างประเทศทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ของสหรัฐกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าน้ำผลไม้ และสับปะรดกระป๋อง แตกต่างจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่นและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่การนำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าผลไม้สดจากไทย โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภคอย่างมาก

             แม้ปัจจุบัน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียนจะยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยที่มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 4 หมื่นล้านต่อปี โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะนี้ส่งออกไปยังตลาดจีน 70% รองลงมา มะพร้าว และลำไย ขณะที่ญี่ปุ่นปัจจุบันมีอยู่ 9 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย สับปะรด มะพร้าวอ่อน สละ มะขามหวาน และล่าสุดคือ “ส้มโอพันธุ์ทองดี” ส่วนใหญ่จะส่งออกแบบผลสด ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะเน้นผลไม้แปรรูป เช่น น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องเป็นหลัก แม้สหรัฐจะเป็นตลาดใหญ่ของผลไม้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยผลไม้ที่จะส่งออกต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของ

            สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จากนั้นนำเข้าไปฉายด้วยรังสีแกมม่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลง ทั้งหีบห่อบรรจุเพื่อป้องกันการสัมผัสผลไม้ โดยผลไม้ฉายรังสีทุกรุ่นการผลิตจะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สังเกตการณ์จากสหรัฐทุกครั้งเช่นกัน      

           ก่อนหน้านี้ อรรจยา มาลากรอง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สทน. ได้เคยแจงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า การส่งผลไม้ไทยออกไปจำหน่ายยังสหรัฐและประเทศแถบยุโรปในอดีตเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มองปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชจากต่างประเทศที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องใช้วิธีการลำเลียงผลไม้หลายทอด โดยส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศคู่ค้าที่ได้รับอนุญาตการส่งผลไม้เข้าสหรัฐ เพื่อนำไปเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นของประเทศอื่น จากนั้นจึงค่อยส่งไปยังสหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการส่งออก แต่เมื่อมีการบริการอาบรังสีผลไม้โดย สทน. การส่งผลไม้ออกด้วยวิธีการนี้จึงลดลง

          สำหรับการส่งออกผลไม้สดของไทยไปยังต่างประเทศนั้นจะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคและแมลงทุกครั้ง ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ การอบไอน้ำผลไม้เพื่อให้ไข่ฝ่อ และการอาบรังสีเพื่อให้คลื่นไฟฟ้าแม่เหล็กทำให้ไข่เสื่อมสภาพ โดยการอาบรังสีเป็นที่ยอมรับของสหรัฐ และสากล ขณะที่ญี่ปุ่นยอมรับวิธีการอบไอน้ำมากกว่า เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากญี่ปุ่นมาใช้กับผลไม้ของไทยเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยเฉพาะมะม่วงและมังคุดคิดเป็นร้อยละ 2.3-2.9 ของการส่งออกผลไม้ไทยทั้งหมด

           ขณะที่ยังมีอีกวิธีสำหรับการฆ่าเชื้อโรคและแมลงในผลไม้ นั่นคือวิธีการต้มในอุณหภูมิที่ 46 องศาในระยะเวลา 10 นาที เป็นกรรมวิธีที่ง่าย ทำได้รวดเร็วและมีต้นทุนการผลิตต่ำ ได้รับการยอมรับในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกามากว่า 30 ปีแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งได้รับรองผลจากกรมวิชาการเกษตร หลังจากกรมได้ส่ง “สัญญาณี ศรีคชา” นักกีฏวิทยา จากสำนักวิจัยพัฒนาและอารักขาพืช ไปดูงานกระบวนการฆ่าเชื้อโรคและแมลงในผลไม้ที่เม็กซิโกเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกมะม่วงสู่ตลาดสหรัฐอเมริกามากที่สุด จึงพบว่าเม็กซิโกใช้วิธีการต้มในการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศมานานแล้ว จากนั้นจึงได้นำองค์ความรู้ที่ได้ร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ของไทยทำการทดลองวิจัยเป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            “วิธีการนี้ใช้ได้กับมะม่วงเกรดเอ ผลผลิตต้องมีคุณภาพ มาจากสวนจีเอพี ถ้าการดูแลมาไม่ดี การใช้ความร้อนจะกระตุ้นให้เกิดมากขึ้น โรคจะฝังอยู่ข้างใน อย่างแอนแทรกโนส จะอยู่ตั้งแต่ตอนติดลูกเล็กๆ ถ้าเกษตรกรควบคุมมาไม่ดี ความร้อนจะกระตุ้นให้เกิดขึ้นเพิ่ม เพราะความร้อนแค่ 46 องศาเท่านั้นเอง ถ้าสูงกว่านี้จะกระทบคุณภาพของมะม่วง แต่ที่ 46 องศาระยะเวลา 10 นาทีจะช่วยให้แอนแทรกโนสไม่ลาม ยับยั้งด้วย คุณค่าทางโภชนาการก็ไม่เสีย” สัญญาณีเผยกับ “คม ชัด ลึก”

             นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า วิธีนี้จะใช้กำจัดแมลงวันผลไม้ ปกติแล้วแมลงจะมาวางไข่ตอนที่มะม่วงมีอายุ 60 วัน ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวมีโอกาสที่ไข่หรือหนอนจะติดมาได้ หากใช้วิธีการนี้สามารถการันตีว่าจะไม่มีไข่หรือหนอนติดอยู่ในมะม่วง ถึงแม้หนอนหรือไข่จะอยู่ข้างในแต่มันก็ไม่มีชีวิตหรือตายแล้ว ส่วนความสุกของมะม่วงที่นำมาใช้กับวิธีการต้มจะต้องเป็นมะม่วงสุกแก่อยู่ที่ 85% ไม่ใช่สุกงอมแบบรับประทานได้ทันที นอกจากนี้การคัดขนาดมะม่วงและการจัดเรียงก็เป็นเทคนิคที่ทำให้มะม่วงได้รับอุณหภูมิ 100% เพราะหากการจัดเรียงไม่ดีก็จะมีผลกระทบต่อการกำจัดโรคและแมลงในมะม่วงด้วย ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ใช้ได้กับผลไม้ทุกชนิดแต่อุณหภูมิจะแตกต่างกันไป อย่างเช่นฝรั่งและมะละกอใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาที แต่อุณหภูมิยังคงอยู่ที่ 46 องศาเช่นเดิม

            “ทั่วโลกเขาก็ยอมรับมานานแล้วว่าวิธีการต้มเป็นทรีตเมนต์หนึ่งในการส่งออก ก็เหมือนกับอบไอน้ำและอาบรังสีนั่นแหละ แต่ตอนนี้ของเรายังอยู่ในกระบวนการนำเสนอในไอเอสพีเอ็มเพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล เมื่อเขายอมรับเรียบร้อยเราก็สามารถส่งออกได้” สัญญาณีกล่าวย้ำ

            วีระชัย ประทักษ์วิริยะ อดีตผู้ส่งออกพืชผักที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจส่งออกผลไม้ ในฐานะผู้สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ร่วมทำการทดลองวิจัยการฆ่าเชื้อโรคและแมลงด้วยวิธีการต้มกับทีมนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร กล่าวในเวทีสัมมนา “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...ตัวช่วยหรืออุปสรรคไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาการอารักขาพืชแห่งประเทศไทยเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยยอมรับว่าการฆ่าเชื้อโรคและแมลงในผลไม้ด้วยวิธีการต้มไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพียงแต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราไม่เล่นด้วย ความยุ่งยากขั้นตอนระบบราชการที่ชักช้า ล้าสมัย และบางครั้งอาจมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุที่มีข้าราชการกรมวิชาการเกษตรเกษียณบางรายเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจอบไอน้ำ จึงพยายามดึงเรื่องนี้ไว้  

            “อบไอน้ำใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่วิธีการต้มใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น ทำไมญี่ปุ่นจึงยอมรับวิธีอบไอน้ำ เพราะเราซื้อโนฮาวจากเขาไง แต่วิธีการต้มที่อเมริกาเขายอมรับและใช้มาก่อนบ้านเรา อย่างเม็กซิโกเขาส่งมะม่วงต้มเข้าอเมริกามากว่า 30 ปีแล้ว แต่บ้านเราไม่เคยเจรจากับเขาเรื่องนี้ ซึ่งก็น่าดีใจที่ตอนนี้มีข่าวว่าทางมกอช.ก็เริ่มจะคุยเรื่องนี้กับทางอเมริกาและยุโรปแล้ว รอแต่รายงานผลยืนยันจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ผู้ประกอบการทำอะไรไม่ได้ ราชการต้องเดินต่อ นี่เป็นการทดลองระหว่างราชการกับเอกชนเป็นรายแรกที่ทำร่วมกันโดยราชการเป็นคนหาทุน ผมเป็นคนออกอุปกรณ์ งานนี้ผมหมดไปเกือบ 2 ล้าน ทำเพื่อประเทศชาติ ต้องเอาส่วนแบ่งตลาดในอเมริกาและยุโรปมาให้ได้ ถึงตอนนี้อยู่ที่ราชการแต่ละหน่วยจะคุยกันอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการมากที่สุดคือเมื่อผ่านการทดลองวิจัยแล้วต้องระบุรับรองมาตรฐานสากลได้เพื่อความน่าเชื่อถือ”

             ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้คนเดิมยังระบุด้วยว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองการกำจัดโรคและแมลงในผลไม้ด้วยวิธีการต้มโดยการร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ขณะนี้ได้ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แปรรูปผลไม้คุณภาพต่ำจากสวนเกษตรกรในรูปแบบของการอบแห้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลไม้ตกเกรด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในฤดูกาลผลิตหน้า เนื่องจากราคาผลไม้ไม่สูงมากนัก หากสำเร็จจะช่วยให้ผลไม้ไทยมีช่องทางการตลาดได้มากขึ้น

             “ถ้าผมซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจะต้องซื้อที่มีคุณภาพไม่ซื้อของตกเกรด แต่ถ้าการทดลองนี้สำเร็จเราสามารถซื้อได้ทั้งหมด ใช้วิธีนี้จะปอกเปลือกออกได้ ส่งสดได้แต่ไม่มีเปลือก เพราะเปลือกมีปัญหา แต่เนื้อในมันดีสามารถนำมาส่งออกได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองร่วมกับ ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ อาจารย์พระจอมเกล้าบางมด ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสกว.ศึกษาเรื่องนี้อยู่พอดี แต่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลของผลไม้ก่อน นอกฤดูมันแพงมาก ถ้าราคาถูกการทดลองทิ้งไม่เป็นไร แต่เรายังเห็นอนาคต” วีระชัยกล่าวย้ำ พร้อมอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเกษตรกรในการยกระดับสวนจีเอพีให้มากขึ้น เพราะจะทำให้ผลผลิตได้คุณภาพและการแปรรูปเพื่อการส่งออกก็จะทำได้ง่ายขึ้น  

 ขั้นตอนส่งออกมะม่วงด้วยวิธีอบไอน้ำ

              สำหรับขั้นตอนการส่งออกมะม่วงคุณภาพนั้นเริ่มจากรับซื้อผลผลิตจากสวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพี ภายหลังจากรับสินค้า จะทำการตรวจเช็กน้ำหนักตามรายการสั่งซื้อแต่ละรายการ โดยมะม่วงทุกลูกจะถูกล้างด้วยน้ำคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมใส่รหัสสินค้า และเครื่องหมายการค้าของบริษัทที่สั่งสินค้า วันที่รับสินค้า และชื่อสินค้า จากนั้นเข้าสู่กระบวนการจัดเรียงเข้าตู้อบไอน้ำ(ใช้เวลา 2 ชม. สำหรับมะม่วงปริมาณ 2,000 กิโลกรัม) โดยจะส่งตามรหัสของสินค้าในแต่ละตะกร้าและฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีการอบไอน้ำตามประเภท และอุณหภูมิของสินค้าที่กำหนดไว้ เมื่อนำสินค้าออกจากห้องอบไอน้ำ จำเป็นต้องทำให้แห้งด้วยแรงดันอากาศ จากนั้นจึงนำมาติดฉลากสินค้า(ใช้เวลา 3 ชม.สำหรับมะม่วงปริมาณ 2,000 กิโลกรัม) ชั่งน้ำหนักและติดฉลากให้ถูกต้องตามรหัสสินค้า ฉลากสีขาวแสดงถึงข้อมูลสวนผลไม้ ในกรณีที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานสามารถตรวจเช็กได้ว่าสินค้ามาจากสวนใด ก่อนที่นำสินค้ามาบรรจุหีบห่อ ตามชนิดและรหัสที่ได้กำหนดไว้แล้วประทับตราบรรจุภัณฑ์ โดยกล่องสินค้าจะถูกปิดอย่างแน่นหนาด้วยแถบพลาสติกใส และแปะสติ๊กเกอร์ตัวหนังสือ สีแดงเขียนว่า TREATED PQ-DOA-THAILAND หมายถึง ผ่านการอบไอน้ำจากไทยที่ได้มาตรฐานสินค้าแล้ว จากนั้นสินค้าจะถูกวางไว้ในห้องเย็น อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณภาพ และรสชาติสินค้าก่อนถึงผู้บริโภค 

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ