คอลัมนิสต์

อาชีพอิสระกับ ‘สิทธิ’ ใน ‘กองทุนประกันสังคม’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ : แรงงานนอกระบบ ประกันสังคม มาตรา 40

 

           ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานทำคึกคักประกาศจะให้ของขวัญชิ้นใหญ่ “แรงงานนอกระบบ” หรือคนไทยหาเช้ากินค่ำ 23 ล้านคน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันเมย์เดย์ 1 พฤษภาคม แต่ในเมื่อถึงเวลา...คำสัญญานั้นก็หายไปกับสายลม...

           เกือบ 30 ปี ที่คนเหล่านี้ไม่เคยมีส่วนร่วมในระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐช่วยเหลือ โดยเฉพาะ “ระบบกองทุนประกันสังคม”

           แรงงานนอกระบบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าหมูปิ้ง แม่ค้าส้มตำ คนขายเครื่องสำอางออนไลน์ ชาวนา เกษตรกร ช่างเสริมสวย คนขายของในตลาด คนขับรถรับจ้าง ช่างแกะสลักงานอาร์ต แม่บ้าน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน ช่างเย็บผ้า คนรับทำขนม ฯลฯ รวมแล้วพวกเขามีจำนวนมากถึง 21 ล้านคน

           พวกเขาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ บางครั้งได้ค่าตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐาน ที่สำคัญคือไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายด้านแรงงาน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ร.บ.ความปลอดภัยในสถานประกอบการ

           และที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตคือ “พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน” พวกเขาต่อสู้หลายสิบปีกว่าจะได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม มีการช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วย ชราภาพ แต่ “สิทธิ” ที่ได้รับยังเหมือนประชาชนชั้น 2 ทั้งที่พวกเขาเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการทำงานหนักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย สถานะในการทำงานที่ไม่มีองค์กร ไม่มีบริษัทหรือไม่มีตัวแทน ไม่มีการรวมกลุ่ม ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และไม่เข้าใจคำว่า “สิทธิแรงงาน” แปลว่าอะไร

           ย้อนไปปี 2533 มีการประกาศตั้ง “กองทุนประกันสังคม” เฉพาะคนทำงานที่มีนายจ้างเท่านั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ผนึกกำลังต่อสู้เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในระบบประกันสังคมยาวนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2554 รัฐไทยยอมให้เข้าเป็นสมาชิกผู้ประกันตนเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป

           2554 ปีแรกที่เปิดให้ชาวไทยทุกอาชีพสามารถเข้าสู่ระบบ มีผู้สมัครจำนวน 1.7 แสนคน ปัจจุบันมีผู้สมัครแล้ว 2.4 ล้านคน

           อย่างไรก็ตามตัวเลขที่เพิ่มจาก 2 แสนเป็น 2 ล้านภายใน 6 ปี ยังไม่เป็นที่พอใจนัก...

           เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกในกองทุนประกันสังคมมีประมาณ 13 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เรียกว่า "ภาคบังคับ ม .33" หมายถึงมนุษย์เงินเดือนทั่วไปหากมีเจ้านายต้องเข้าไปในระบบ กลุ่มที่ 2 "ภาคสมัครใจ ม.39" เคยเป็นพนักงานมีเงินเดือนแล้วลาออกแต่ยังส่งเงินต่อ กลุ่มนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน หรือร้อยละ 10

           สำหรับกลุ่มสุดท้าย “ภาคอาชีพอิสระ ม.40” คนเหล่านี้สมัครกองทุนประกันสังคมเพียง 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น นับเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับตัวเลขโดยรวมว่าพ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา ศิลปิน นักธุรกิจ ฯลฯ มีจำนวนมากถึง 21 ล้านคน

           หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าการกระตุ้นชักจูงให้พวกเขาเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะสวัสดิการหรือผลประโยชน์ที่ได้ยังไม่เต็มที่เหมือนกลุ่มอื่นๆ

           เนื่องจากที่ผ่านมาการจ่ายเงินสมทบแบ่งเป็น 2 ทางเลือก ได้แก่ จ่าย “100 บาท” (รัฐบาล 30 บาท ผู้ประกันตน 70 บาท) หรือจ่าย 150 บาท (รัฐบาล 50 บาท ผู้ประกันตน 100 บาท) เมื่อจ่ายน้อยประโยชน์ทดแทนก็ได้น้อยด้วย เช่น กรณีเสียชีวิตได้แค่ 2 หมื่นบาท ขณะที่ผู้ประกันตนทั่วไปได้ 4 หมื่นบาท หากเจ็บป่วยเข้านอนโรงพยาบาล จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ถ้าพิการจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500-1,000 บาทต่อเดือน นาน 15 ปี

           ล่าสุดปี 2558 นักวิชาการด้านแรงงานเสนอให้มี “ทางเลือกที่สาม”  ปรับเงินสมทบเดือนละ 450 บาท (รัฐบาล 150 บาท ผู้ประกันตน 300 บาท) เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นหากว่างงานหรือขาดรายได้ รวมถึงกรณีนอนโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้วันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี รวมถึงกรณีเสียชีวิตได้ค่าทำศพ 40,000 บาท สงเคราะห์บุตรอัตราคนละ 200 บาทต่อเดือนคราวละ 2 คน กรณีชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาท

 

อาชีพอิสระกับ ‘สิทธิ’ ใน ‘กองทุนประกันสังคม’

 

           “สุจิน รุ่งสว่าง” ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางเลือกที่สาม ถูกพูดมาหลายครั้งแต่ก็ยังไม่ประกาศใช้ ส่วนปัญหาที่มีคนสมัครเข้าระบบประกันสังคมน้อยมากแค่ 2 ล้านคนจากทั้งหมด 21 ล้านคนนั้น เป็นเพราะเรื่องความสะดวก เพราะพวกเขาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สะดวกเดินทางมาส่งเงินสมทบ รัฐบาลต้องคิดวิธีจัดตั้งหน่วยบริการระดับชุมชนหรือคิดค้นช่องทางจ่ายเงินให้คนทำงานที่อยู่นอกระบบเงินเดือน ให้ชาวบ้านพี่น้องชาวเกษตรกรจ่ายเงินสมทบได้สะดวก ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน หากทำได้จะช่วยให้มีผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมากขึ้น

           ส่วนข้อเรียกร้องเบื้องต้นคือคนที่จ่ายเดือนละ 100-150 บาทนั้นควรเพิ่มสิทธิให้ได้รับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 4 หมื่นบาทเท่าสมาชิกอื่นๆ หากป่วยไข้นอนโรงพยาบาลก็ขอเงินทดแทนการขาดรายได้ 300 บาทต่อวันเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ และถ้าต้องกลายเป็นคนพิการก็อยากให้รัฐช่วยเงินทดแทนตลอดชีวิต

           “ตอนนี้แรงงานนอกระบบแทบไม่ได้สิทธิอะไรเหมือนคนอื่นๆ เพราะเขามองว่าเราจ่ายแค่ 100-150 บาท เช่น ถ้าชราภาพจะได้เดือนละ 50 บาท ถ้าพิการได้ 500-1,000 หากเป็นไปได้อยากให้ช่วยมากกว่านี้ได้ไหม ถ้าพวกเราแก่หรือพิการ อย่างน้อยควรได้เดือนละ 3,000 บาท ก็แค่วันละ 100 บาทเท่านั้น ตอนนี้ค่าข้าวกล่องบวกน้ำก็ประมาณ 50 บาทต่อมื้อแล้ว หรือไปพิจารณาจากเส้นความยากจนก็ได้ เอาให้พ้นเส้นความยากจนมาหน่อยก็พอใจแล้วจ้า” ป้าสุจินกล่าว

           ป้าสุจิน ยกตัวอย่างให้ฟังว่า แรงงานนอกระบบเสมือนคนทำงานที่รับเสี่ยงแทนทุกฝ่าย เช่น โรงงานส่งงานมาให้ทำที่บ้าน หากเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ โรงงานก็ไม่ต้องรับผิดชอบ หรืองานที่ต้องสูดดมฝุ่นผ้าจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านต่างๆ ก็ต้องดูแลตัวเอง หากคิดจากจุดประสงค์ของ “หลักการประกันสังคม” คือ การช่วยกันเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน “ปฏิรูปกองทุนประกันสังคม” ช่วยกันจัดสรรสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียม เช่น ค่าชดเชยการขาดรายได้ ค่าจัดการศพรวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนทำงานอิสระที่ไม่ใช่ลูกจ้างในโรงงานเข้าใจสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พวกเขาควรได้รับ แม้จะเป็นคนยากจนแต่ก็ควรได้รับสิทธิในระบบประกันสังคมเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น

           หากพูดถึง “คนยากจน” อะไรคือตัวกำหนดความจน

           พิจารณาจากรายงานของ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” หลังสำรวจผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศไทย ก็ได้กำหนด “เส้นความยากจน” ไว้ที่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,920 บาทต่อเดือน ข้อมูลปี 2558 ประเทศไทยมีคนจน 4.847 ล้านคน แต่พอปี 2559 ไปสำรวจใหม่ พบข้อมูลน่าตกใจว่ามีคนจนเพิ่มถึงร้อยละ 20 หรือมากถึง 963,000 คนภายใน 1 ปี กลายเป็น 5.810 ล้านคน ทำให้สัดส่วนคนจนในไทยเพิ่มขึ้นจาก 7 คนในร้อยคน เป็น 8 คนในร้อยคน

           สอดคล้องกับข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุจำนวนผู้มาลงทะเบียนขอมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรผู้มีรายได้น้อย” จำนวน 11.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 ล้านคน และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอีก 3.6 ล้านคน รวมเป็น 6.6 ล้านที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

           หากรัฐไทยช่วยให้ผู้มีอาชีพอิสระ 6.6 ล้านคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว กองทุนอาจมีเงินบำเหน็จเป็นก้อนให้พวกเขาใช้จ่ายทุกเดือนจนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ต้องพึ่งพาครอบครัวหรือกลายเป็นภาระผู้อื่น

           รัฐบาลคสช. ประกาศมาตลอดว่าต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีมากถึง 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะคำสัญญาที่ว่าจะช่วยให้พวกเขายกระดับเป็นแรงงานมีฝีมือ แรงงานนวัตกรรม แรงงานคุณภาพที่มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

           คำประกาศของคสช. ควรเริ่มจากปฏิวัติ “กองทุนประกันสังคม” ให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันทุกกลุ่มดีหรือไม่ เพราะเป็นกองทุนที่มีความพร้อมในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยมากที่สุด

           เนื่องจากมีกองเงินสะสมอยู่ถึง 1.6 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันให้สังคมไทยน่าอยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนไทยทุกคน...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ