คอลัมนิสต์

ปฏิรูปดีเอสไอ ยกระดับ“คดีพิเศษ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เริ่มถูกเขย่ามากขึ้น เมื่อ“พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง ” เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ หนึ่งในนั้น คือ ดีเอสไอ ที่ต้องปฏิรูป

          หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เริ่มถูกเขย่ามากขึ้น เมื่อ“พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง ” เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ  ...ก็รัฐบาลนี้ชูธงในเรื่องการปฏิรูปมาโดยตลอด  

         หลังสุด “ประจิน” ขีดเส้นให้ดีเอสไอจัดทำแผนปฏิรูปตัวเองส่งมาภายใน25ม.ค.61

          ประเด็นสำคัญ คือ ต้องมีโมเดลแก้ปัญหาการทำงานทับซ้อนกันระหว่างดีเอสไอกับตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของการปฏิรูปที่“ประจิน”วางไว้ เพื่อไม่ให้การทำงานคาบเกี่ยวกับหน่วยงานอื่น

         ทั้งนี้“ดีเอสไอ”หลังก่อตั้ง ในปี2547 ก็เพื่อให้เป็นหน่วยสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และคดีอาญาที่มีความสลับซับซ้อน และตรวจสอบถ่วงดุลคู่ขนานไปกับงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

         แต่ในยุคบุกเบิก ดีเอสไอถูกมองเป็นสาขาย่อยของตำรวจ เพราะมีตำรวจโอนย้ายมาสังกัด200คน แม้จะอยู่ในเกณฑ์สัดส่วนไม่เกิน1ใน3ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้งหมด แต่“อดีตตำรวจ”เข้ามาเกาะกุมตำแหน่งสำคัญ คุมงานสอบสวนในหลายสำนักคดี เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีประสบการณ์ด้านการสอบสวน

        ภาพลักษณ์ของดีเอสไอจึงสลัดหนีไม่พ้นจากสีกากี และยังถูกลากโยงเข้าไปเป็นเครื่องมือจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง เล่นงานฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรียกได้ว่าดีเอสไอผ่านจุดที่เคยเป็นความหวังของประชาชน มาสู่ยุคตกต่ำมีเสียงเรียกร้องให้ยุบกรมทิ้ง จนต้องปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่น

         หลายจุดเปลี่ยนผ่าน มีความพยายามเข้ามาปรับโครงสร้างและรูปแบบการทำงานให้ดีเอสไอเป็นหน่วยสหวิชาชีพ ภายในสำนักคดีมีทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ แม้แต่ตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ก็สลับหมุนเวียนระหว่างตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ และข้าราชการพลเรือน ส่วนการรับคดีในระยะหลังแทบไม่เข้าไปแตะคดีการเมือง การประชุมรับคดีนอกบัญชีแนบท้ายกฎหมายแทบจะไม่มีให้เห็น จนเหลือการประชุมคณะกรรรมการคดีพิเศษเพียงปีละครั้งเพื่อให้ดีเอสไอสอบสวนเฉพาะคดีในกรอบอำนาจของตัวเอง

         แต่ก็ยังไม่วาย เกิดปัญหางานคดีซ้ำซ้อนกับตำรวจ รวมไปถึงการเข้าไปช่วยประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นสอบสวนให้มีโอกาสเข้าถึงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้คดี จึงจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อให้ดีเอสไอรับสอบสวนเฉพาะคดีใหญ่จริงๆ

            ปฏิรูปดีเอสไอ ยกระดับ“คดีพิเศษ”

        คำถาม คือ แล้วดีเอสไอในยุคปฏิรูป ธงคำตอบในใจคสช. ต้องการเปลี่ยนผ่านดีเอสไอไปสู่จุดใด... ยุบทิ้งแล้วโอนคืนงานสอบสวนให้กลับไปอยู่กับตำรวจทั้งหมด ... หรือถ่ายโอนงานสอบสวนไปขึ้นตรงต่ออัยการซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องการถ่วงดุล เพราะการสอบสวนของดีเอสไอมีอัยการร่วมสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นเปิดคดีอยู่แล้ว....ครั้นจะยกระดับเป็นสำนักการสอบสวนแห่งชาติก็คงดันไปไม่ไหว เพราะดูท่าตำรวจคงไม่ปล่อยให้งานสอบสวนหลุดจากอกเป็นแน่

          สำหรับปัญหาการทำงานทับซ้อนกันระหว่างดีเอสไอกับตำรวจนั้น ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา  35 ประเภทคดีที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มีปัญหายุ่งยากในการตีความจริงๆและเมื่อทุกคดีต้องใช้ดุลพินิจ ทำให้ตำรวจเลือกที่จะส่งสำนวนมาให้ดีเอสไอทำเพราะไม่มั่นใจว่าจะเข้าลักษณะ“คดีพิเศษ” เช่น คดีที่มีความซับซ้อน ที่ดีเอสไอต้องทำคดีหรือไม่ คดีบางสำนวนความเสียหายเพียงหลักหมื่นบาทแต่อยู่ใน 35 ประเภทคดี ก็ส่งมาให้ดีเอสไอ ส่วนนี้เองซึ่งเป็นที่มาของ ดีเอสไอ ต้องรับทำ“คดีขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง”

          มาถึงจุดนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ ดีเอสไอจะนำวงเงินความเสียหายและจำนวนผู้เสียหายเข้ามาจำกัดความเป็น“คดีพิเศษ” และอาจเพิ่มระดับความเสียหายและจำนวนผู้เสียหายให้สูงขึ้นจากเดิม เช่น แชร์ลูกโซ่ของเดิมกำหนดความเสียหายไว้20ล้านบาท ผู้เสียหาย50 คน อาจจะปรับเป็น100ล้านบาท ผู้เสียหายตั้งแต่200คนขึ้นไป ,คดีทรัพย์สินทางปัญญาที่เคยกำหนดให้รับสอบสวนเฉพาะผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายใหญ่ก็อาจจะกำหนดด้วยวงเงิน100ล้านบาท เช่นกัน

         สำหรับคดีความเสียหายน้อยแต่มี“ผู้ทรงอิทธิพล”เข้าไปเกี่ยวข้อง อาจอุดช่องว่างด้วยการเสนอคดีเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณารับสอบสวนคดีพิเศษ หรือบอร์ดชุดเล็ก ซึ่งอาจมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าจะรับคดีนั้นเป็น“คดีพิเศษ”หรือไม่

         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้  พล.อ.อ.ประจิน รมว.ยุติธรรม พูดไว้ชัดหลังมอบนโยบายการทำงานให้ดีเอสไอ ว่า  จากนี้ไปบริบทการดำเนินงานของดีเอสไอต้องปรับเปลี่ยนปฏิรูปองค์กร และหลังจากนี้การบริหารคดีของดีเอสไอจะต้องใช้หลัก KPI มาจับเพื่อดูว่าการทำคดีของดีเอสไอคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่

          อย่างไรก็ตามไม่ว่าทิศทางการปฏิรูปดีเอสไอของ“ทางการเมือง”จะออกมาในรูปแบบใด แต่ตอนนี้ผู้บริหาร“ดีเอสไอ”เอง ไม่รอช้า เตรียมปรับเปลี่ยนไปก่อนเลย คือ มิติใหม่ในการดำเนินคดีของดีเอสไอในปี2561ด้วยการนำกฎหมายฟอกเงินเข้าไปดำเนินการกับอาชญากรรมที่มุ่งหวังต่อทรัพย์สินทุกรูปแบบเช่น คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเภทบุกรุกป่าเขาชายหาด โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวแล้วนำไปทุจริตออกเอกสารสิทธิซึ่งมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท,คดีหลบเลี่ยงภาษีจากการนำเข้ารถยนต์หรู ระดับซุปเปอร์คาร์

          ชิงปฏิรูปตัวเองเสียก่อน คือ ทางรอดที่ดีที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ