คอลัมนิสต์

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ? : โดย... ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

 

          หลายสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยมี “พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์” ท่ามกลางกระแสที่เห็นด้วยและคัดค้าน

          ในที่สุดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ก็ได้ประกาศใช้ 2557 ตามเจตนารมณ์ของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมปศุสัตว์ สภาทนายความ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) กว่า 90 องค์กร และประชาชนผู้รักสัตว์ที่มีการตื่นตัว สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยในฐานะผู้นำภาคประชาชนที่ได้รณรงค์และผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาตลอด

          โดยเฉพาะปี 2539 รายการสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสารคดีเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัขของคนบ้านท่าแร่ จ.สกลนคร จนกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ทำให้ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรป ประณามประเทศไทยอย่างรุนแรง

 

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ?

 

          การกระทำทารุณกรรมสัตว์ถือว่าเป็นความผิดกฎหมายของไทยชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 และในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ในปัจจุบัน

          เช่น มาตรา 381 (ทารุณสัตว์) ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น

          มาตรา 382 (ใช้สัตว์ทำงานเกินควร) ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ

          สำหรับความผิดทั้งสองมาตรานี้เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งในอดีตมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ?

 

          ในอดีต “สัตว์” เป็นเพียงแค่ “ทรัพย์” ของมนุษย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น หากมีผู้ใดทำให้เสียหาย เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ เป็นการกระทำต่อสัตว์ของตนเอง หรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

          ในวันนี้กฎหมายทารุณกรรมสัตว์ยังมีข้อถกเถียงเรื่องของลักษณะการทารุณกรรม 20 ข้อ ซึ่งมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ยังคัดค้านมองว่า

          "หากประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์ฉบับเดียวที่มีข้อห้ามการทารุณสัตว์เพียงข้อเดียว แต่มีข้อยกเว้นถึง 11 ข้อ ซึ่งแน่นอนไม่สามารถคุ้มครองสัตว์ได้”

          สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนก็ให้เหตุผลว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นผลของการพิจารณาและเห็นชอบร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น กรมปศุสัตว์ สภาทนายความ กฤษฎีกา รวมทั้งองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์กว่า 90 องค์กร ที่ช่วยกันเสนอผลักดัน ถ้ามีการบรรจุลักษณะทารุณกรรม 20 ข้อลงในรายมาตรา จะค้านกับหลักความจริง

          จนถึงวันนี้ลักษณะการทารุณกรรมใหม่ๆ ยังมีปรากฏให้เห็นทุกวัน เช่น การใช้ไฟฟ้าช็อต ใช้แรงดันฉีด หรือการจับเต่าหงายกระดองตากแดด ฯลฯ ก็ไม่อยู่ใน 20 ข้อ

          การบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงลงไปมากเท่าไหร่ จะทำให้กฎหมายยิ่งแคบลง ไม่ครอบคลุม เกิดช่องว่างและข้อจำกัดทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น

 

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ?



          ในวันนี้ผ่านไปแล้ว 3 ปี หลังประกาศใช้กฎหมายทารุณกรรมสัตว์ มีการจัดประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั่วประเทศ กว่า 70 องค์กรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งพอสรุปประเด็นได้ดังนี้

          ประเด็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ มีสองมิติที่สำคัญประกอบด้วย มิติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และมิติการจัดสวัสดิภาพสัตว์ แต่ที่ผ่านการบังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่จะพิพากษาตัดสินแนวทางลักษณะการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นหลักตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 31

          เช่น หลังจาก พ.ร.บ.มีสภาพใช้บังคับได้เพียง 4 วัน คือวันที่ 1 มกราคม 2558 ก็มีคดีแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ คดีทำร้ายสุนัขที่จังหวัดหนองคาย และศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา หลังจากนั้นก็มีคำพิพากษาตามมา อีกหลายคดี เช่น คดีตีสุนัขด้วยท่อนเหล็ก ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีซื้อสุนัขมาฆ่า ที่ จ.หนองคาย จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีโยนสุนัขชิวาวา จากที่สูงใน กทม. โทษจำคุก 2 เดือนไม่รอลงอาญา คดีพ่อค้าข้าวมันไก่ ฆ่าสุนัขที่ กทม. โทษกักขัง 2 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีวางยาเบื่อสุนัขที่ จ.ตาก โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา คดีหนุ่มใหญ่ขี่รถจักยานยนต์และลากสุนัขจนได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้งสี่ข้างเลือดไหล น่าทุกขเวทนา ให้จำคุก 6 เดือนปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

          ยกเว้น คดีหนุ่มจักรยานยนต์รับจ้างขอแมวมาฆ่า 9 ตัว โทษจำคุก 18 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเรื่องของลักษณะทารุณกรรมสัตว์ เกือบทั้งสิ้น

          สำหรับมิติการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเนื่องจากไม่มีการการออกกฎหมายลำดับรองมารองรับ เช่น มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อยละทิ้งหรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันควร มาตรา 24 การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยมาตรา 32 กำหนดว่า เจ้าของหรือผู้ใดไม่ปฏิบัติมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ซึ่งมาตรา 35 กำหนดว่า บรรดาความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ซึ่งในขณะนี้อธิบดีไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และมอบหมายให้ใครเป็นผู้เปรียบเทียบปรับ จึงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวได้

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมามิติการทารุณสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น ก็จะพอพิสูจน์ได้ว่ากฎหมายนี้บังคับได้จริง โดยมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ในคดีทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรกว่า 200 คดี มีคำพิพากษาของศาลแล้วไม่ต่ำกว่า 20 คดี และมีอีกหลายคดีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายคดีสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ทันที ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งจับ ปรับและจำคุก

          สำหรับมิติการจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้น คงต้องให้กำลังใจ “คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์” และกรมปศุสัตว์ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการออกกฎหมายลำดับรองและการติดตามบังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญในที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรเร่งรีบจะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ควรบังคับใช้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ก่อน

          ถ้ามีคนตั้งคำถามว่า ทำไมมีกฎหมายแล้วก็ยังมีผู้กระทำความผิดอีก ?

          เปรียบเหมือนการมีกฎหมายห้ามปล้นธนาคารแต่ก็ยังมีการปล้นธนาคารอยู่เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น กฎหมายก็เพียงแค่เครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ส่วนผู้กระทำความผิดก็อยู่ที่พฤติกรรม เจตนาและจิตสำนึก ของคนคนนั้นเช่นกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมปฏิบัติตามกฎหมายและช่วยกันสอดส่องดูแล ให้ความรู้และการปลูกจิตสำนึกเปลี่ยนค่านิยมในด้านทารุณกรรมสัตว์

          กฎหมายแม้ให้ “สิทธิ” ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองให้แต่ “สิทธิ” นั้น ต้องมาพร้อมกับ “หน้าที่และความรับผิดชอบด้วย” สังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขตลอดไป

          ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรเร่งรีบที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากระยะเวลาเพียง 3 ปียังน้อยเกินไปที่จะสรุปว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ผลหรือไม่ได้ผล เนื่องจากเหตุผล 4 ประการ ดังนี้

 

“3 ปี”... ก.ม.ทารุณสัตว์ “สรุปยาก” ได้ผล-ไม่ได้ผล ?

 

          1.ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ เนื่องจาก กฎหมายลำดับรอง ในเรื่อง “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ยังไม่มีประกาศใช้ ประชาชนเลยเข้าใจกฎหมายเพียงมิติเดียว

          2.บทกำหนดโทษ ที่กำหนดไว้ในการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่เหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลายคนมองว่าโทษสูงเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราการทำร้ายร่างกายมนุษย์ แท้จริงแล้วเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาว่าโทษการทำร้ายมนุษย์นั้น ตามป.อาญา นั้นมีหลายบทตามลักษณะของความผิด เช่น มาตรา 391 การทำร้ายร่างกายเล็กน้อยไม่ถึงกับกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา 295 การทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายและจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มาตรา 297 ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงสองแสนบาท

          โดยเฉพาะการฆ่าตามมาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี และมาตรา 289 ในกรณีฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำการทารุณโหดร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ดังนั้นจึงไม่ควรนำบทกำหนดโทษกรณีทารุณสัตว์มาเปรียบเทียบกับกรณีการทำร้าย การทรมานหรือการฆ่ามนุษย์ และที่ผ่านมาศาลก็พิจารณาพิเคราะห์ตามเหตุปัจจัยและหลักแห่งความยุติธรรม การลงโทษส่วนใหญ่เป็นโทษปรับ สำหรับโทษจำคุกมักรอลงอาญา

          3.ควรให้นิยามศัพท์คำว่า “สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ” ตามมาตรา 3 ให้ครบถ้วนเสียก่อน เพราะจะช่วยลดการทารุณสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติ เช่น นก และสัตว์อื่นๆ ได้มากขึ้น สำหรับการนิยาม “ลักษณะการทารุณกรรมสัตว์” นั้น ควรเปิดกว้างไว้ก่อนดีกว่าการนิยามที่เฉพาะเจาะจงลงไป เพราะสัตว์นั้นต่างจากมนุษย์มีประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพที่แตกต่างกัน แม้แต่สัตว์พันธุ์เดียวกันก็แตกต่าง ซึ่งคำพิพากษาของศาลจะเป็นบรรทัดฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

          4.ควรให้คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรา 5 ดำเนินงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เสียก่อนเพราะที่ผ่านมาเพิ่งมีการประชุมเพียง 3 ครั้ง

          ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรช่วยกันเร่งคลี่คลาย 4 ประเด็นข้างต้นก่อน ตัดสินว่า “ได้ผล–ไม่ได้ผล” โดยเฉพาะก่อนนำไปสู่การยื่นเรื่องขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ