คอลัมนิสต์

 เบื้องลึก(แขวน)งบฯ 900 ล.พัฒนา“บึงสีไฟ”            

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เบื้องลึก(แขวน)งบฯ 900 ล.  ยกโมเดลบึงฉวากพัฒนา“บึงสีไฟ”          

 

                “พิจิตร” ไม่ใช่ “สุพรรณบุรี” และ "บึงสีไฟ” ก็ไม่ใช่บึงฉวากที่สามารถสั่งการได้แบบม้วนเดียวจบสำหรับผู้ว่าฯ ป้ายแดงที่เพิ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้เพียงปีเศษ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร อดีตนายอำเภอเดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ผู้บุกเบิกพัฒนาบึงฉวากจากแหล่งน้ำเสื่อมโทรม จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศ ความอลังการของบึงฉวากนั้นอาจเทียบไม่ได้กับบึงสีไฟทั้งในเชิงพื้นที่และงบประมาณ  แต่ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ก็ได้พยายามถอดแบบการทำงานมาใช้ดำเนินการกับบึงสีไฟ

                “มาพิจิตรหลายคนนึกถึงวัด ที่นี่วัดมีชื่อเสียงมีหลายวัด อย่างวัดท่าหลวง วัดบางคลานหลวงพ่อเงิน แหล่งท่องเที่ยวคนก็นึกถึงบึงสีไฟ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่บึง พอไปดูรอบๆ บึงเห็นแล้วรับไม่ได้ ก่อนหน้าจะมาอยู่พิจิตรฝันว่าจะทำเลนจักรยานรอบบึงสีไฟให้เหมือนบึงฉวาก พอไปดูของจริงมันสร้างไม่ได้ ถนนไม่มีสภาพเป็นถนนเลย มีขยะเต็มไปหมด” วีระศักดิ์เล่าให้ฟัง

                ในอดีตบึงสีไฟมีพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 3 หมื่นไร่ ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากบึงบอระเพ็ดและกว้านพะเยา แต่ปัจจุบันพื้นที่ลดลงเหลือแค่ 5,390 ไร่เศษเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่บางส่วนโดนบุกรุกและยังถูกตะกอนดินทับถมเป็นเวลานาน ทำให้บึงสีไฟมีสภาพตื้นเขินไม่สามารถรองรับน้ำท่วมน้ำหลากได้ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า

               “ถามชาวบ้านเขาบอกว่าไม่มีน้ำมา 23 ปีแล้ว พอถึงฤดูน้ำหลาก ข้างนอกน้ำท่วมแต่ในบึงไม่มีน้ำเลย พื้นที่บึงสีไฟไม่ติดแม่น้ำ แต่สามารถผันน้ำมาจากน้ำยมและน่านโดยผ่านคลองชลประทานเข้ามา”

              ปัจจุบันบึงสีไฟมีหน่วยงาน 13 หน่วยงานที่เข้ามาตั้งบนเนื้อที่ 500 ไร่รับผิดชอบไปตามภารกิจ อาทิ กรมชลประทาน กรมประมง วัด โรงเรียน โดยมีจังหวัดเป็นคนดูแลในภาพรวมทำหน้าที่ประสานกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันในการพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดได้มีการจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ในทุกๆ เดือน โดยได้ให้นโยบายทั้ง 12 อำเภอมาช่วยกันพัฒนาบึงสีไฟเพื่อให้เป็นหน้าตาของจังหวัด โดยแบ่งพื้นที่ให้แต่ละอำเภอรับผิดชอบในการดูแลรักษาเพื่อให้ทุกคนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม 

             “หน่วยงานที่เข้ามาตั้งไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการเข้าไปใช้ประโยชน์ ยกเว้นกรมชลประทานหน่วยงานเดียวที่ถูกต้อง อย่างวัดเขาก็ขออนุญาตอย่างถูกต้องนะ แต่กรมเจ้าท่าไม่อนุญาต แต่เขาก็ได้ก่อสร้างไปแล้วจะไปรื้อได้อย่างไร ชาวบ้านเขาก็ไม่ยอม ก็เลยทำหนังสือไปยังกรมเจ้าท่าว่าถ้าอย่างนั้นให้อยู่ในความรับชอบของจังหวัด วันนี้ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการถูกต้องหมดแล้ว เราจึงทำแผนพัฒนาโดยของบรัฐบาลไป 900 ล้าน ปกติจะไม่มีใครเขาขอไป เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ตามแผนจะทำ 3 ด้านคือ ขุดลอกบึง ปรับปรุงอควาเรียมและทำเลนจักรยานรอบบึงระยะทาง 12 กิโลเมตร”

              ผู้ว่าฯ พิจิตรแจงรายละเอียดต่อไปว่าโดยงบดังกล่าวเป็นงบประมาณของปี 2560 โดยแบ่งเป็นงบการขุดลอกบึง 320 ล้านรวมเลนจักรยานด้วย โดยให้กรมประทานรับผิดชอบ เนื่องจากมีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ส่วนที่เหลือเป็นงบปรับปรุงอควาเรียมจำนวน 580 ล้านบาท โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)พิจิตร รับผิดชอบ เนื่องจากมีงบประมาณและกำลังคนที่จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยจำลองรูปแบบการดำเนินงานมาจากบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผลงานที่เคยดำเนินการในอดีตจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

             อย่างไรก็ตาม การดำเนินการได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนกระทั่งเตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่กลับต้องหยุดชะงักอย่างกะทันหัน หลังมีการร้องเรียนเกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย(เฉพาะแผนปรับปรุงอควาเรียม วงเงิน 580 ล้าน) โดยให้อ้างว่าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากหากไม่มีการเข้มงวดอาจมีการทุจริตขึ้นได้ โดยเฉพาะในส่วนการรับผิดชอบของอบจ. ในที่สุดงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวจึงถูกแขวนไว้ก่อน

             “การดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายเห็นชอบด้วยทั้งหมด เตรียมจะเข้าครม.เพื่อพิจารณาอยู่แล้วก็เลยต้องดึงกลับ หลังมีข่าวออกมาว่าคนพิจิตรลุกฮือต้านโครงการที่ผู้ว่าฯ จะทำ ซึ่งเราเสียใจมากเลยนะ ไม่รู้เลยว่าคนพิจิตรที่ลุกฮือคือใคร มีแต่ข่าวออกมา โครงการที่ขอไปแล้ว อนุมัติแล้วก็โดนแขวน หยุดไว้ก่อนทั้งหมด ทางกระทรวง(มหาดไทย)จึงแนะนำว่าวีระศักดิ์ทำประชาพิจารณ์ไปเลยว่าเขาเห็นด้วยในสิ่งที่เราจะทำ ผมก็เลยทำแบบฟอร์มให้ประชาชนกรอกทั้งหมดทำไป 2 แสนฉบับได้รับมา 1.8 แสน ในจำนวนนี้มีคนไม่เห็นด้วย 21 คน ที่จริงใน 21 คนนี้เขาก็เห็นด้วยนะ แต่ติงในเรื่องระบบป้องกันการทุจริต ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่มีที่คัดค้านโดยตรงเลย” วีระศักดิ์แจงรายละเอียดกรณีงบพัฒนาบึงสีไฟโดนแขวน 

             หลังจากนั้นจึงได้จัดทำแผนพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยการขุดลอกบึงมอบให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบบึงสีไฟโดยตรง ส่วนเลนจักรยานหรือไบค์เลนนั้น ทางจังหวัดพิจิตรรับผิดชอบ ขณะที่การปรับปรุงอควาเรียมจำเป็นต้องหยุดไว้ก่อน เพราะไม่อยากให้มีปัญหาขึ้นมาอีก จนในที่สุดการดำเนินงานก็ผ่านไปได้ด้วยดี กล่าวโดยสรุปงบการขุดลอกบึง อนุมัติวงเงิน 341 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี หรือสิ้นสุดโครงการในปี 2562 ส่วนเลนจักรยานรอบบึงระยะทาง 12 กิโลเมตร โดย จ.พิิจิตร ได้ของบจากกระทรวงมหาดไทยจำนวน 65 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณเป็นเรียบร้อยแล้วและเตรียมจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ 

            “ตอนนี้สรุปแล้วทางกรมเจ้าท่าได้งบขุดลอกไป 341 ล้าน เป็นงบปี 60 นะ ส่วนเลนจักรยานก็จะดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณแทนที่จะไปซื้อดินจากที่อื่นมาถม ก็ใช้ดินที่ขุดลอกบึงนี่แหละมาใช้ ปริมาณดินที่ขุดลอกทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคิวก็จะนำมาใช้ทำเลนจักรยานด้วย ส่วนปรับปรุงอควาเรียมพับโครงการไว้ก่อน นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงศาลากลางน้ำเป็นเรือนไทยอีก 4 หลัง ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมใช้การไม่ได้ ส่วนนี้ใช้เงินประมาณ 9 ล้านเป็นงบของเทศบาลเมือง” ผู้ว่าฯ พิจิตร เผยข้อมูลทิ้งท้าย          

 กว่าจะมาเป็น“บึงสีไฟ”ทุกวันนี้

              “บึงสีไฟ” เป็นบึงเก่าแก่ของ จ.พิจิตร เดิมมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 3 หมื่นไร่ มีอาณาเขตติดต่อ 4 ตำบล คือ ท่าหลวง คลองคะเชนทร์ โรงช้าง และเมืองเก่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ทำให้มีน้ำในบึงน้อยลง น้ำที่เคยไหลเข้าสู่บึงสีไฟในฤดูฝนก็หมดไป ทำให้พื้นที่โดยรอบถูกบุกรุกเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัย กระทั่งปี 2521 กรมประมงได้ทำการบูรณะบึงสีไฟโดยการสร้างคันดินขึ้นโดยรอบ เพื่อป้องกันการบุกรุก ต่อมาได้มีการรังวัดปักแนวเขต และออกเป็นหนังสือสำคัญที่หลวงเมื่อมีนาคม 2534 โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้ดูแล มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 5,390 ไร่เศษ 

             ภายในบึงมีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 80 พรรษา เมื่อปี 2527 มีเนื้อที่ 170 ไร่ เป็นสวนพักผ่อนริมบึง มีสะพานทอดลงน้ำสู่ศาลาใหญ่ที่จัดไว้เป็นที่พักผ่อน รูปปั้นพญาชาละวัน ตามตำนานเรื่องไกรทอง ที่เล่าว่ามีจระเข้ใหญ่ชื่อพญาชาละวัน เคยอาละวาดกินผู้คน และในที่สุดถูกไกรทองปราบจนสำเร็จ รูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของบึงและยังเป็นรูปปั้นจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

            สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ศาลาเก้าเหลี่ยม เป็นอาคารรูปดาวเก้าแฉก ยื่นลงไปในบึงสีไฟ ภายในประกอบด้วยตู้แสดงพันธุ์ปลามากกว่า 20 ชนิด ตรงส่วนกลางของอาคารยังทำเป็นช่องเปิด สำหรับให้อาหารปลาในบึง ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิจิตร ศาลากลางน้ำ มีทั้งหมด 4 ศาลาและ บ่อจระเข้ มีอยู่ 2 บ่อ คือ บ่อเก่า และบ่อใหม่  ปัจจุบันบ่อเก่าถูกยกเลิก เพราะมีการสร้างบ่อใหม่ที่ใหญ่กว่าขึ้นมาแทน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ