คอลัมนิสต์

สะดุด!เลือก กกต.สายศาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันที...เมื่อ สนช. ติดใจถึงวิธีการคัดเลือก กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า เป็นการเลือกโดยเปิดเผยตามมาตรา 12 วรรค 3 พ.ร.ป. กกต. หรือไม่

         เป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันที.. เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ติดใจ 2 รายชื่อที่ได้รับเลือกเป็น กกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงให้ประธาน สนช. ทำหนังสือสอบถามที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถึงวิธีการคัดเลือกกกต.ว่า เป็นการเลือกโดยเปิดเผย ตามมาตรา 12 วรรค 3 พ.ร.ป. กกต.หรือไม่

          ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีการโหวตกันว่า จะลงคะแนนเลือกโดยเปิดเผยหรือโดยลับ ่สุดท้ายฝ่ายที่เห็นว่าควรลงคะแนนลับชนะไป

           ทำให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ออกมาแถลงว่า การคัดเลือก กกต.ของประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ลงคะแนนลับ ขัดต่อมาตรา 12 วรรค 3 ของ พ.ร.ป. กกต. ที่ต้องเลือกโดยเปิดเผย

          และหลังจากนายสมชัย แสดงความไม่เห็นด้วย ก็มีรายงานข่าวตามมาว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ได้ใช้วิธีลงคะแนนลับแต่เป็นการลงคะแนนเลือกโดยเปิดเผยโดยวิธีการให้ผู้พิพากษาหย่อนบัตรลงคะแนนลงในตู้ซึ่งวางไว้ในที่ประชุมโดยทุกคนจะมองเห็นการหย่อนบัตรลงในตู้ แต่บัตรไม่มีหมายเลขกำกับและไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร

          หากเป็นจริงตามข่าวปัญหาอยู่ที่ว่าวิธีการที่ศาลเห็นว่า การลงคะแนนโดยหย่อนบัตรลงในหีบบัตรต่อที่ประชุมซึ่งเป็นที่สาธารณะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยนั้น จะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยตามมาตรา 12 วรรค 3 ของ พ.ร.ป. กกต.หรือไม่

             แต่หากฟังจาก“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่างถึงหลักของคำว่า“เปิดเผย” คือต้องทราบว่าใครลงคะแนนให้ใครไม่ใช่เพียงแค่ว่าเดินไปหย่อนบัตรลงคะแนนและเปรียบเทียบถึงการลงคะแนนเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องลงคะแนนลับจะใช้วิธีหย่อนบัตรลงในหีบบัตรลงคะแนน 

             อีกทั้งหากไปดูการลงมติของสภาผู้แทนฯซึ่งแบ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยและลับ ก็จะพบว่าการลงคะแนนโดยเปิดเผยทำได้หลายวิธี อาทิ กดปุ่มลงคะแนนซึ่งสามารถตรวจสอบการลงคะแนนได้ว่าลงให้ใคร, เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกเป็นรายคน,ลุกขึ้นยืน,ยกมือพ้นศีรษะ ส่วนการลงคะแนนโดยลับ อาทิ เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้.... ก็พอจะเข้าใจได้ว่าการลงคะแนนโดยเปิดเผย จะใช้วิธีการใดก็แล้วแต่ แต่หลักอยู่ที่ว่า การลงคะแนนนั้นน่าจะรู้ได้ว่า ใครลงคะแนนให้ใคร หากเป็นการลงคะแนนเลือกโดยใช้บัตรลงคะแนน ก็ต้องมีวิธีการทำให้รู้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร เช่น มีเลขกำกับบัตรตามลำดับผู้ลงคะแนน

            สำหรับทางศาล ยังไม่มีการออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า การเลือก กกต. ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น ใช้วิธีลงคะแนนลับหรือเปิดเผย และการลงคะแนนลับหรือเปิดเผยนั้นใช้วิธีการใด

            อย่างไรก็ตามมีผู้ออกมาให้ความเห็นต่างว่า การคัดเลือก กกต. ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะลงคะแนนลับก็ได้ ซึ่งก็คือ“สดศรี สัตยธรรม”อดีต กกต.และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยระบุว่า น่าจะแยกกันระหว่างการเลือก กกต. 5 คน ที่มาจากคณะกรรมการสรรหา กับการคัดเลือก กกต. 2 คนสายศาล (ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กกต.มีทั้งหมด 7 คน) โดยอ้างถึงมาตรา 12 วรรค 2ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่ระบุว่าการคัดเลือก กกต. โดยที่ประชุมใหญ่ ให้นำวิธีการสรรหาของคณะกรรมการสรรหามาใช้โดยอนุโลม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเลือกโดยเปิดเผยเหมือนคณะกรรมการสรรหา

             “สดศรี ” ยังยกตัวอย่างว่า สมัยเธอก็โหวตลับในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้าโหวตเปิดเผยก็จะมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่รุ่นเดียวกัน ถ้าเปิดเผยจะรู้ว่าใครเลือกใคร ถ้าเป็นโหวตลับ ก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

              แต่เมื่อก่อนการเลือก กกต. ไม่ได้มีกฎหมายเขีียนไว้ในลักษณะของมาตรา 12 วรรค 3 ของ พ.ร.ป. กกต. พ.ศ.2560 ที่ระบุว่าในการสรรหา กกต. หรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย

             ส่วนอีกคน“เสรี สุวรรณภานนท์”กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. กกต. ออกมาระบุว่า เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้กำหนด“วิธีการ” ลงคะแนนเป็นอย่างใดแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ว่าศาลฎีกาเป็นศาลสุดท้ายที่เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศ หากไม่ยอมรับ บ้านเมืองจะไม่สงบเรียบร้อย กระบวนการยุติธรรมจะมีปัญหา

              แต่มีผู้แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 3 หมายถึงอำนาจศาลในทางคดีเท่านั้นแต่กรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการมีมติวินิจฉัยในทางคดีที่ต้องปฏิบัติตาม โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาลทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นศาลต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

              ต้องรอดูว่า ทางศาลฎีกา จะมีหนังสือตอบกลับประธาน สนช.ว่าอย่างไร ซึ่งหาก สนช. ไม่เห็นชอบกับ กกต.สายศาล ทางศาลก็ต้องทำการคัดเลือกใหม่

               ส่วนทางออกอีกทาง ศุภชัย  สมเจริญ ประธาน กกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป. กกต. สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับ มาตรา 12 วรรค3 ของ พ.ร.ป. กกต. และการคัดเลือก กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าต้องทำโดยวิธีใด รวมทั้งการเลือกที่ผ่านมาตรงตามกฎหมายกำหนดหรือไม่

               ต้องแก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะหากการเลือก กกต. ล่าช้า อาจส่งผลต่อ“โรดแมปเลือก”ตั้งในที่สุด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ