คอลัมนิสต์

ได้ผล..ประเมินเสี่ยงหนีคดี แทน“หลักทรัพย์”ประกันตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระบบประเมินความเสี่ยงหนีคดี ที่ศาลนำมาทดลองใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยแทนใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เพื่อให้เท่าเทียมระหว่างคนจนและคนรวย กำลังเดินหน้าไปด้วยดี

           จากคำกล่าวที่ว่า “คุกเหมือนเป็นที่ขังคนจน” ส่วนคนรวยมีโอกาสมากกว่าที่จะไม่ต้องเข้าเรือนจำนำมาสู่แนวคิดในหลายเรื่องที่จะแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในทุกมิติรวมถึงเรื่องปรับปรุงการปล่อยชั่วคราวให้มีประสิทธิภาพ เสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกระดับ 

          กระทั่งวันนี้ ศาลได้ศึกษาวิจัยถึงการใช้แบบประเมินความเสี่ยงเพื่อปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยไม่ใช้หลักประกัน

           นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษากำกับดูแลสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งรับผิดชอบการวิจัยแบบประเมินความเสี่ยงเพื่อปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ใช้หลักประกัน เปิดเผยว่า การประเมินความเสี่ยงเพื่อปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ใช้หลักประกันเริ่มทดลองใช้กับศาล5 แห่งก่อน คือ ศาล จ.นครศรีธรรมราช,ศาล จ.จันทบุรี,ศาลอาญากรุงเทพใต้,ศาล จ.กาฬสินธุ์,ศาล จ.เชียงใหม่ ซึ่งกระจายครบทั้งภาคเหนือ,อีสาน,กลาง,ใต้,ตะวันออก ขณะเดียวกันก็กระจายทั้งตามเมืองใหญ่-เมืองเล็กเพื่อจะดูว่าแบบประเมินความเสี่ยงใช้ได้เหมือนกันหมดหรือไม่

           “การประเมินความเสี่ยงจะใช้กับคดีที่โทษจำคุกไม่เกิน5ปี แต่ในระยะต่อไปจะขยายเป็นโทษจำคุกไม่เกิน10ปี และสุดท้ายขยายเป็นทุกอัตราโทษ และการใช้แบบประเมินความเสี่ยงนั้นใช้เฉพาะศาลชั้นต้นและในคดีที่ยังไม่ได้ตัดสินเท่านั้นโดยจะเริ่มตั้งแต่ชั้นฝากขัง ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา ไม่นำมาใช้เพราะศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิดแล้ว ก็มีแนวโน้มมากว่าคดีในชั้นต่อไปก็อาจจะเป็นความผิดด้วยจึงมีความเสี่ยงที่จะหนีได้และคดีในศาลแขวง ก็ไม่นำมาใช้เพราะเป็นคดีเล็กน้อยซึ่งกฎหมายให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกันได้อยู่แล้ว รวมถึงคดีเด็กในศาลเยาวชนและครอบครัว ก็ไม่นำมาใช้ เพราะปกติศาลเด็กสามารถที่จะพิจารณาประกันตัวได้ค่อนข้างมากอยู่แล้ว ”

              ได้ผล..ประเมินเสี่ยงหนีคดี แทน“หลักทรัพย์”ประกันตัว

                                                             มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์

            เขา อธิบายต่อไปว่า ขณะที่การนำร่องครั้งแรกกับศาล5แห่งก็ได้ผลพอสมควร คือ เริ่มตั้งแต่วันที่1ก.พ.–31ส.ค.60 ปล่อยผู้ต้องหาและจำเลยไปแล้ว 700คน โดยคดีโทษจำคุกไม่เกิน5ปีที่พบบ่อยในระบบประเมินขณะนี้ คือ เสพยาบ้าแล้วขับรถ,ลักทรัพย์ทั่วไปและผลจากการเริ่มทดลองใน5ศาล ปัจจุบันขยายพื้นที่ศาลนำร่องอีก8แห่ง รวมแล้วขณะนี้ที่ทดลองใช้ ถึง13ศาล คือ ศาล จ.นครศรีธรรมราช,ศาล จ.จันทบุรี,ศาลอาญากรุงเทพใต้,ศาล จ.กาฬสินธุ์,ศาล จ.เชียงใหม่,ศาล จ.เชียงราย,ศาล จ.แม่ฮ่องสอน,ศาล จ.พระนครศรีอยุธยา,ศาล จ.ขอนแก่น,ศาล จ.ชัยภูมิ,ศาลอาญาธนบุรี,ศาล จ.สงขลา,ศาล จ.สุรินทร์”

          “ สำหรับปี2561จะเริ่มนำร่องศาลจังหวัดในภาค4ทั้งหมด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อีสานตอนบน เพราะผู้บริหารศาลยุติธรรมเชื่อมั่นกับระบบนี้ว่าเราจะดำเนินการต่อไปเพราะในส่วนที่เราทำวิจัยก็แสดงผลให้เห็นว่าใช้ได้จริง”

           ส่วนที่ผ่านมาพบปัญหา-อุปสรรคแค่ไหน??“มุขเมธิน” บอกว่า ผู้ต้องหาและจำเลยที่ปล่อยชั่วคราวจำนวน700คน ถือว่ายังน้อย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ศาลที่เป็นนิติกรซึ่งทำหน้าที่สอบถามข้อมูลจากผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อทำแบบประเมินความเสี่ยงของแต่ละศาลมีไม่เกิน 2 คนขณะที่เจ้าหน้าที่จะต้องสอบถามข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาหรือจำเลยแต่ละคนเพื่อนำมาดูตามหลักปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีถึง14 ปัจจัยเสี่ยงจึงต้องใช้เวลา โดยปกติเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการซักถามประวัติ-บุคลิกภาพราว30นาที แล้วจะเช็คข้อมูลดังกล่าวที่ได้มาด้วยระบบคอมพิวเตอร์,ดูข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่ลิงค์กับหน่วยงานปกครอง,ประวัติคดีที่ผ่านกระบวนการต่างๆทางศาลมา ก่อนจะใช้โทรศัพท์โทรหาบุคคลที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอ้างอิงไว้ ซึ่งปกติจะต้องให้อ้างอิงถึง3คนเพื่อสอบถามข้อมูล โดยการตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ก็จะใช้เวลาประมาณ1ชั่วโมงต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย 1 คน ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ศาล ย่อมทำการประเมินได้ไม่มากนักต่อชั่วโมงทำงานในแต่ละวัน เรื่องการขาดแคลนบุคลากรศาลจึงเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เป็นปัญหาด้วย

          “ ดังนั้นที่ผ่านมาในช่วงเวลาทดลองของศาลนำร่อง เราจึงให้ใช้วิธีการสมัครใจของผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยศาลจะแจ้งระบบใหม่นี้ให้เขาทราบก่อน ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าระบบประเมินความเสี่ยงมีครึ่งต่อครึ่งเพราะอีกครึ่งหนึ่งเขาจะรู้สึกว่าใช้เงินเป็นหลักประกัน กระบวนการรวดเร็วกว่าและก็หลีกเลี่ยงการตรวจสอบประวัติไปได้”

                      ได้ผล..ประเมินเสี่ยงหนีคดี แทน“หลักทรัพย์”ประกันตัว

          “มุขเมธิน” อธิบายต่อไปว่า ส่วนปัญหาที่พบหลังจากการปล่อยผู้ต้องหาและจำเลยจำนวน 700คนนั้น ปรากฏว่าประมาณ5 % หรือ ราว35-40คน ไม่มาศาลตามนัดซึ่งก็เป็นกลุ่มข้อหาเสพยาบ้าแล้วขับรถ,ลักทรัพย์ทั่วไปขณะที่ระบบเดิมที่ใช้เงินเป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัวในคดีทุกประเภท จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาศาล2-3% ซึ่งแม้จะดูว่าตัวเลขระบบใหม่ดูด้อยกว่าที่มีคนไม่มาศาลตามนัดมากกว่า แต่ต้องคิดอีกแง่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวในระบบใหม่ใน700คนยังมีอีก660คนที่มาศาลตามนัด และที่ชัดเจนคือ660คนนี้คัดแล้วว่ามีฐานะยากจนจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นระบบเดิม660คน นี้จะได้รับความสูญเสียกับการต้องถูกขังทั้งที่เขาไม่คิดหนี แต่แค่เพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ดังนั้นระบบใหม่เราสามารถคุ้มครองสิทธิความเสมอภาคคนฐานะยากจนได้ตามวัตถุประสงค์

         “ สำหรับกรณีที่ปล่อยตัวแล้วไม่มาศาลตามนัด ก็ต้องออกหมายจับกรณีหลบหนี แต่บางคนไม่ได้คิดหนี แต่ที่ไม่มาศาลตามนัดเพราะไม่มีเงินเดินทางมา อย่าง จ.เชียงใหม่ ก็มีกลุ่มชนเผ่าที่ถูกจับจากบนดอยเชียงดาว บางคนมีฐานะยากจนจริงเขาบอกว่าไม่สามารถมาศาลได้ตามนัดเพราะบ้านไกลไม่มีเงินเดินทาง ดังนั้นในส่วนนี้ก็กำลังคิดจะแก้ปัญหาด้วยการทำบันทึกข้อตกลงMOUเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานปกครองที่มีหน่วยงานในท้องถิ่นที่ใกล้แหล่งที่พักอาศัยของผู้ต้องหาหรือจำเลย รับเป็นที่รายงานตัว โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้คุยเบื้องต้นกับกรมการปกครองไว้บ้างแล้วและกรมการปกครองก็เห็นด้วย ดังนั้นความเป็นได้ส่วนนี้ก็อาจจะเห็นผลช่วงหลังปีใหม่2561ในศาลจังหวัดที่อยู่ในระบบทดลองนำร่อง”

           ขณะที่แผนการพัฒนาปรับปรุงระบบประเมินความเสีี่ยงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในการดูแลเรื่องการติดตามตัวผู้ที่ได้ประกันไปนั้น “มุขเมธิน” บอกว่า จะพัฒนาเรื่องการติดตามตัวและการป้องกันการหลบหนี คือ การประเมินความเสี่ยงจะกำหนดไว้5ระดับ คือ 1. เสี่ยงมากที่สุดที่จะหนี ก็จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว, 2.เสี่ยงมาก ใช้มาตรการเข้มงวดในการพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่, 3.เสี่ยงปานกลางใช้วิธีให้มารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะๆ4.เสี่ยงน้อยใช้วิธีสาบานตัวแล้วปล่อยตัวชั่วคราวไป 5 .เสี่ยงน้อยสุด ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีมาตรการปกติกำกับ

           “ปัญหาจะอยู่ในกลุ่มที่“เสี่ยงมาก”เครื่องมือที่จะติดตัวได้ดีคือ “กำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือElectronic Monitoring – EM ”ซึ่งต่างประเทศก็ใช้ ส่วนของไทยกำไลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการจัดซื้อแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาใช้ ตามกำหนดจะได้มาชุดแรก5,000เครื่องในเดือน ม.ค.61 ที่จะใช้สำหรับ13 ศาลนำร่อง ซึ่งกำไลEM จะเข้ามาแก้ปัญหาการหลบหนีได้ แต่เพราะงบประมาณที่ใช้มากถึงหลัก100ล้านบาท ดังนั้นนอกจากกำไลEMแล้วเรากำลังพัฒนาแอพพิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือติดตามตัวด้วยเพราะงบประมาณจะถูกกว่ากันมาก ซึ่งคล้ายกับแอพพิเคชั่น“Find my iPhone”บนไอโฟนด้วย แต่มีระบบที่ยืนยันตัวบุคคลชัดเจนแน่นอนยิ่งขึ้น เช่น ลายนิ้วมือ โดยเราจะใช้สำหรับผู้ที่ถูกประเมินความเสี่ยงระดับปานกลาง จนถึงกลุ่มความเสี่ยงมากซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อพัฒนาแอพพิเคชั่น คาดว่าใน6 เดือน–1ปีจะทราบผลว่าทำได้อย่างไรบ้าง   

                ได้ผล..ประเมินเสี่ยงหนีคดี แทน“หลักทรัพย์”ประกันตัว

 

           ขณะที่เพื่อความรอบคอบอีกระดับ ได้มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 มาบังคับใช้แล้ว ในการให้สินบนสำหรับผู้ที่ช่วยนำจับผู้ที่หลบหนีรวมถึงเจ้าพนักงานก็ได้ด้วย และในอนาคตเราก็หวังที่จะสร้างเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ติดตามผู้ที่หลบหนีโดยเฉพาะ เหมือนCourt Marshalในสหรัฐฯ และยังต้องปรับปรุงพัฒนาทุกระบบให้สอดรับครบวงจร คือ เมื่อมีแบบประเมินความเสี่ยงแล้ว ก็ต้องมีเครื่องมือติดตามผู้ที่หลบหนี อย่าง กำไลEM,แอพพิเคชั่นสมาร์ทโฟน ,กฎหมายกำหนดให้สินบนนำจับผู้หลบหนี และสุดท้ายตำรวจศาลหรือCourt Marsha เจ้าพนักงานติดตามจับกุมโดยเฉพาะ และอนาคตยังหวังที่จะพัฒนาระบบนี้ให้ใช้ได้กับทุกคดีในทุกศาลด้วยคาดหวังว่าภายใน3-5ปี “ระบบประเมินความเสี่ยง”จะสำเร็จในการปล่อยตัวตามเป้าหมายและมีระบบติดตามตัวมาศาลได้ สุดท้ายเราจะขังคนที่ควรขัง และปล่อยคนที่ควรปล่อยโดยไม่เกี่ยวกับการใช้เงินเป็นหลักประกันอีกต่อไป ดังนั้นการใช้แบบประเมินความเสี่ยง จะสร้างความสะดวกให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนและไม่เสี่ยงจะหนีได้รับโอกาสปล่อยตัว

           “ถ้าในอนาคตระบบนี้สมบูรณ์แบบ เราอยากจะให้ทุกคนผ่านการประเมินความเสี่ยง เพราะเราอยากให้ทุกคนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน คือ ไม่ว่าคุณจะมีเงินแค่ไหนก็ตามถ้าคุณเสี่ยงที่จะหนีคุณก็ต้องถูกขัง ขณะเดียวกันคนที่ไม่มีเงินเลยถ้าไม่มีความเสี่ยงก็ต้องได้รับการปล่อยชั่วคราว หลักการควรเป็นอย่างนั้น คือเงินไม่เกี่ยวสุดท้ายเราจะขังคนที่ควรขัง และปล่อยคนที่ควรปล่อยโดยไม่เกี่ยวกับการใช้เงินเป็นหลักประกัน”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ