คอลัมนิสต์

 ยกระดับสินค้าเกษตรสู่ธุรกิจ“เอสเอ็มอี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ยกระดับสินค้าเกษตรสู่ธุรกิจ“เอสเอ็มอี”

             “เกษตรและสหกรณ์” นับเป็นกระทรวงแรกที่รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย พร้อมกับ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สะท้อนถึงนโยบายการทำงานบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 3 เดือน หลังจากนี้การเปลี่ยนแปลงต้องเห็นหน้าเห็นหลัง โดยสิ่งที่รองนายกฯ สมคิดคาดหวังไว้คือการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรใหม่เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ที่ทุกวันนี้เกือบทุกตัวอยู่ในภาวะราคาดิ่งเหว

           “การทำงานต้องร่วมกันทั้งหมด จะดูแต่การผลิตสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อคุณภาพสินค้าดี ก็ขายได้ดี ชุมชนก็เข้มแข็ง ดึงเกษตรกรที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ให้กลับบ้าน ซึ่งการทำงานดังกล่าวอาจต้องเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว” สมคิดกล่าวในถ้อยแถลง 

            แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่กลับมีสัดส่วนของภาคการเกษตรอยู่เพียง 8-9% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก จะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีส่วนผลักดันภาพรวมเศรษฐกิจมากขึ้น นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ จะต้องนำมาขบคิดและปิดจุดอ่อนดังกล่าว โดยต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตมากขึ้น สอดรับกับเศรษฐกิจข้างบนที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีที่กำลังจะไปได้ดี 

             ดังนั้น การผลักดันแผนการต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่่อผลักดันเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งทุน ผลิตสินค้ามีคุณภาพ สร้างมูลค่าตามความต้องการของตลาดและต้องยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม “เอสเอ็มอี” 

              “ระยะเวลา 1 ปีที่เหลือจากนี้ ผมต้องการทำหน้าที่ประสานกับทุกหน่วยงาน จะไม่ล้วงตับ แต่จะประสานงานต่างๆ เพื่อผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กระทรวงเกษตรฯ ไม่ควรหวงข้อมูล เพราะทุกอย่างต้องวางแผนร่วมกัน ทั้งมหาดไทย พาณิชย์ เกษตรฯ ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เป็นคนจนว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้างที่เป็นเรื่องเร่งด่วน"

              รองนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงการร่วมบูรณาการนี้ว่าจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาด้านการเกษตรที่ชัดเจนมากขึ้น  ที่ผ่านมาภาคการเกษตรไม่เคยปรับโครงสร้าง ทำให้เกิดปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ หลังจากนี้จะไม่มีอีกแล้ว โดยนโยบายที่ได้ให้ไปในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเร่งผลักดันให้เห็นผลเร็วที่สุดใน 3-4 เดือนข้างหน้า และจะต้องมีจีดีพีเพิ่มขึ้นจากมูลค่าสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวชี้วัด 

              โดยเฉพาะข้าว ถือเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ “ลักษณ์ วจนานวัช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่าปัจจุบัน มีเกษตรกรประกอบอาชีพทำนามากกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ในฤดูการผลิตปี 2560/61 นี้คาดว่ามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีประมาณ 59 ล้านไร่ ให้ผลผลิตอยู่ใน 23 ล้านตันข้าวเปลือก โดยแปลงออกมาเป็นข้าวสารจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน การบริโภคในประเทศ 8 ล้านตันข้าวสาร ส่งออก 4 ล้านตัน

            ส่วนนาปรังมี 12 ล้านไร่  หากทำทั้งหมดจะเกิดปัญหาข้าวล้นตลาดได้ จึงมีการคำนวณออกมาว่าอยากให้เกษตรกรทำนาปรังไม่เกิน 10 ล้านไร่  จึงจะได้ข้าวประมาณ 5–6 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะใกล้เคียงขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่เหลืออีก 2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ จะเอาพื้นที่เหล่านี้ไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น การปลูกพืชหลากหลาย การปลูกพืชอาหารสัตว์ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปส่งเสริมให้ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง เป็นต้น จะเป็นตัวช่วยในการตัดวงจรโรคแมลงด้วย  

             ขณะเดียวกันรัฐบาลมีโครงการที่จะดูแลในเรื่องการตลาดรองรับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้าวเปลือกจำนวนมาก โดยให้ ธ.ก.ส.เข้าไปเสริมสภาพคล่องในระบบสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้มีกำลังในการไปซื้อข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวและมีโครงการดูแลผู้ประกอบการให้มีเม็ดเงินในการซื้อข้าวเข้ามาเก็บ โดยทางรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม ตลอดจนโครงการชะลอการขายข้าวให้เกษตรกรหรือสหกรณ์เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง โดยมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาให้ตันละ 1,500 บาท เป็นต้น 

               อีกทั้งยังมีโครงการชดเชยลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก มีวงเงินประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. โดยฐานข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องของการขึ้นทะเบียน และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการน้ำท่วม การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทที่ฐานรากของระบบเศรษฐกิจ

               ในส่วนของราคาก็ให้เป็นไปตามกลไกตลาด อย่างราคาข้าวหอมมะลิมีราคา 13,000–14,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี ประมาณ 9,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 7,500–8,000 บาท (ราคาที่ความชื้น 14.5%) เกษตรกรรายใดมียุ้งฉาง หรือสหกรณ์ไหนมีพื้นที่จัดเก็บ อาจจะใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการชะลอการขาย จะได้รับการสนับสนุนในด้านเงินทุนในค่าเก็บรักษาด้วย  

              สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร รมช.เกษตรฯ ยอมรับว่าหากดูจากตัวเลขการขึ้นทะเบียนของผู้มีรายได้ในสวัสดิการภาครัฐที่กระทรวงการคลังไปดำเนินการรับขึ้นทะเบียนมาจะพบว่าขณะนี้มีผู้ขึ้นทะเบียน 11.4 ล้านราย เป็นเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000-100,000 บาท จำนวน 3.96 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้าไปดูแลบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพ ซึ่งคาดว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ 

              "เราจะทำงานเชิงรุกเข้าหาเกษตรกร จะแยกข้อมูล 3.96 ล้านราย เป็นรายพื้นที่ จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ก่อนจะนำข้อมูลไปร่วมกับหน่วยงานอื่น เชื่อว่าจะมองเห็นภาระหนี้สินของเกษตรกรว่ามีอยู่เท่าไหร่ รวมทั้งภาระหนี้สินนอกระบบด้วย ถ้าเป็นหนี้ในระบบของธ.ก.ส. ก็จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยขอให้รัฐบาลมาช่วยด้วย ส่วนการทำแผนฟื้นฟูอาชีพรายบุคคล อาจจะใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะฟื้นตัว ทำตามแผนแล้วเกษตรกรดีขึ้นอย่างไร 

               และแนวทางในการแก้ไขที่นายสมคิดหมายมั่นคือ จะต้องมีเอสเอ็มอีเกษตร ที่มีความรู้สามารถเข้าถึงการตลาดได้ ซึ่งเป็นหัวขบวนช่วยเกษตรกรยากจนเหล่านี้ ผ่านสหกรณ์ที่จัดลำดับชั้นเข้มแข็งแล้วพอจะเป็นหัวขบวนช่วยเกษตรกรสมาชิกได้ประมาณ 1,000 สหกรณ์ และยังมีวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งแล้ว 5,000-7,000 แห่งที่จะเป็นหัวขบวนได้” รมช.เกษตรฯ ย้ำทิ้งท้าย 

มุ่งเป้า“ไมโครเอสเอ็มอี”เสริมศก.ฐานราก 

              สำหรับมาตรการส่งเสริม “เอสเอ็มอี” ในปี 2561 วงเงิน 9 หมื่นล้านที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนดำเนินการส่งเสริมเพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปสู่กลุ่ม “ไมโครเอสเอ็มอี” หวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศนั้น 1 ใน 9 มาตรการดังกล่าวคือการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว(ซีไอวี พลัส) โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชน ค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ซึ่งจะดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%

                นอกจากนี้ ยังมีโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย(เอสเอ็มอีเกษตร) ตามแนวประชารัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ 600 กลุ่ม ที่เป็นไมโครเอสเอ็มอีกลุ่มเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์กองทุน และเครือข่ายวิสาหกิจ แบ่งเป็น เกษตรแปรรูป 300 กลุ่ม ซึ่งจะสร้างความเป็นผู้ประกอบการ เตรียมความพร้อม อบรม พัฒนา บ่มเพาะ พัฒนาการบริหารจัดการ และการรวมกลุ่ม ซึ่งจะจำหน่ายสินค้าผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าสวัสดิการ ตลาดกลางประชารัฐ ตลาดกลางขนาดใหญ่ และตลาดต่างประเทศ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

               ขณะที่อีก 300 กลุ่ม จะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะเข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และเครื่องจักร พัฒนามาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จัดหาตลาดผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งทั้ง 600 ราย มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป และเอสเอ็มอีเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40% 

              ส่วนอีก 8 มาตรการที่เหลือประกอบด้วย 1.การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) ทั่วประเทศ 23 แห่ง 2.ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 248 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่บูรณาการที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอีเพื่อการบริการได้ตรงจุด  3.Train The Coach หรือฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเพื่อส่งไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อก้าวไปสู่ 4.0 คาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 1 หมื่นราย 4.เอสเอ็มอี บิ๊กดาต้า โดยจะจัดทำฐานข้อมูลประชากรเอสเอ็มอีของประเทศที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย 

               5.Big Brothers เพื่อเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยจะร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนสตาร์ทอัพในรูปแบบ Angel Fund ขณะนี้มีบริษัทรายใหญ่เข้ามาร่วมแล้ว 7 ราย ได้แก่ ปตท. เอสซีจี เดนโซ่ เดลต้า นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า 6.Digital Value Chain เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลก ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม บีทูบีกับบริษัททั่วโลก 7.โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน มุ่งเป้าหมายไมโครเอสเอ็มอี เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ที่ต้องการยกระดับไปสู่ 4.0 และ 8.SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสมกับตลาดเป้าหมายสร้างมาตรฐานเฉพาะ(มอก.S) 

  3 ปัจจัยจากสินค้าสหกรณ์สู่“เอสเอ็มอีเกษตร”  

           จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับสหกรณ์ที่มีศักยภาพกว่า 1,000 สหกรณ์ทั่วประเทศเพื่อก้าวไปสู่เอสเอ็มอีเกษตรกรยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงไว้ในวันที่มาเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ โดย "พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าขณะนี้ได้มอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศไปสำรวจสหกรณ์ที่มีศักยภาพเพื่อนำมาเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนเพื่อที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วยศักยภาพของสหกรณ์ว่าทั้งด้านการบริหารและด้านการเงิน ความต่อเนื่องในการผลิตสินค้าและคุณภาพของสินค้าจะต้องอยู่ในเกรดพรีเมียมเท่านั้น

             “ตอนนี้ได้สั่งการไปแล้วให้ทุกจังหวัดไปคัดสรรมา โดยพิจารณาจาก 3 เรื่องคือศักยภาพความเข็มแข้งของตัวสหกรณ์ ความต่อเนื่องการผลิตและผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในระดับพรีเมียม คิดว่าภายในอาทิตย์นี้คงจะเรียบร้อย จากนั้นเราก็จะมาดูว่าจะต้องเชื่อมเข้าด้วยกันอย่างไรระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตรเพื่อช่วยยกระดับให้เอสเอ็มอีเกษตรก้าวต่อไปได้ตามนโยบายรัฐบาล” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำ

               ปานชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่มีความพร้อมก้าวสู่เอสเอ็มอี หลังประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าระดับพรีเมียมหลายตัวออกสู่ตลาดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำนมข้าว แป้งน้ำนมขา้ว ชาน้ำนมข้าว ล่าสุดได้ออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมาคือชาข้าวหอมมะลิ เป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่ผ่านการวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยสุรนารีและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมุ่งเป้าเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ

               “สหกรณ์ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2517 ปัจจุบันมีสมาชิก 2 พันกว่าคน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาผลิตข้าวได้ปีละ 4 หมื่นตัน แต่ด้วยราคาข้าวไม่แน่นอนจึงหาวิธีเพิ่มมูลค่าด้วยการมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์ทุกตัวจะต้องผ่านการวิจัย พร้อมทั้งมีการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม อย่างชาข้าวหอมมะลิของเราก็เป็นเบอร์หนึ่ง ทางกรมก็คัดเลือกของเราไปจัดกระเช้าของขวัญสหกรณ์ด้วยในปีนี้ สนใจผลิตภัณฑ์สหกรณ์ โทร.08-9428-1653” ผู้จัดการสหกรณ์พิมายกล่าวด้วยความภูมิใจ โดยยอมรับว่าจุดอ่อนของสินค้าอยู่ที่การประชาสัมพันธ์และสถานที่จำหน่ายอยู่ในวงจำกัด จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลในจุดนี้ด้วย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ