คอลัมนิสต์

ยิ่งแบ่ง ยิ่งรวบอำนาจ  ยิ่งแตกแยก!! ฉุด!!ปฏิรูปการศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแบ่งส่วนราชการศธ. เพิ่มความแตกแยก ทำให้เสียโอกาสปฏิรูปการศึกษา ตามกับ 0 กิตติ ทวยภา 0 อุปนายกสมาคมศึกษานิเทศก์ภาคอีสาน

 

     คำสั่งหัวหน้ารักความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ สั่ง ณ วันที่ 3 เมษายน 2560 โดย“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ทันที 

    คำสั่งที่ 19/2560 เจ้าปัญหา ได้ส่งผลกระทบกับการบริหารงานบุคคลในระดับภูมิภาค จนเกิดความขัดแย้งในกระทรวงศึกษาฯ โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) เหตุเพราะว่า ในบทบัญญัติข้อที่ 13 ตามคำสั่งที่ 19 กำหนดไว้ว่า การบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 53(3)และ(4)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่2)พ.ศ. 2551 ให้ศึกษาธิการจังหวัดโดยความเห็นชอบ ของ กศจ.เป็นผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้ง 

    โดยคำสั่งนี้จะไปขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ปี 2547และแก้ไข 2551 ซึ่งในมาตรา 53(3)และ(4) ของพ.ร.บ.ครูฯ มีสาระสำคัญคือ โดยในมาตรา 53 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 54 วรรค 1 มาตรา 50 มาตร51 มาตรา 58 มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66และ มาตรา 67 การบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

    ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้ง มาตรา 54(3)กำหนดว่าการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามมาตรา 38 ข (5) ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะชำนาญการ ตำแหน่งซึ่งมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและตำแหน่งที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้ง 

    โดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มาตรา 54(4)การบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วย ตำแหน่งครูและตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2)ในสถานศึกษา ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งโดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา 

    ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในวงการศึกษาปัจจุบัน อาทิ “นายพีรพงศ์ สุรเสน” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 ได้ปฏิเสธที่จะเดินทางไปร่วมงานกับศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ในการประดับขีดข้าราชการครู โดยให้เหตุผลว่า ศธจ.ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของครู ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของครูคือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ส่วน ศธจ.อยู่สังกัดสำนักปลัดกระทรวง(สป.ศธ.)ไม่มีโรงเรียนในสังกัด 

     และล่าสุด“นายกิตติชัย เมืองมา”  รองผู้อำนวยการ รักษาการแทน ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 ปฏิเสธที่จะให้บุคลากรเดินทางไปราชการตามหนังสือแจ้งของ“นายประเสริฐ บุญเรือง” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัดศธ. เพื่อประชุมสรุปผลการจัดกิจกรรมการประกวดระเบียบแถวลูกเสือเนตรนารีระดับประเทศ ประจำปี 2560 ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560 ณ ภูเขางามรีสอร์ท อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก

    นายกิตติชัย ได้เขียนหนังสือว่า “ทราบ , เนื่องจากเป็นเรื่องของแนวทางและเกณฑ์เท่านั้น หากอยากได้รายละเอียด ขอดาวน์โหลดไฟล์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้, ไม่มีความจำเป็นต้องไป, รวมเรื่อง”

    จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ “นายธนชน มุทาพร”  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) มองว่า 8 เดือนที่ผ่าน เกิดความไม่สบายใจในการทำงาน ซ้ำซ้อน ล่าช้า โดยจะรวบรวมรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง 50,000 ชื่อเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เพื่อขอให้ยกเลิกข้อที่ 13 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

    แต่ขณะเดียวกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจในการแก้ไข โดยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้ทำหรือไม่ มีอะไรก็เสนอมาให้ปรับ เพราะสร้างขึ้นมาแล้ว ก็ต้องค่อยๆ แก้ไข จะให้ทำอย่างไร เพราะตนไม่มีเครื่องมือหรือกฎหมายที่จะเข้าไปทำ

     ความจริง กฎหมายที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการหลายฉบับ  ยังมีผลบังคับใช้อยู่ คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่2)พ.ศ. 2551และ พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 

    โดยคำสั่งที่คสช.ที่ 19/2560 เจ้าปัญหา มีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูครูฯ 2546 ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้ใช้มาตรา 44 ในการออกคำสั่ง ถ้าหากเป็นสถานการณ์ปกติ ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย เรียงลำดับความสำคัญ คือรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา 

     คำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เจ้าปัญหาถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่าทุกระดับที่กล่าวอ้าง แต่ในช่วง “รัฏฐาธิปัตย์” ทำให้มีศักดิ์ในการบังคับใช้ที่เหนือกว่า ดังนั้นจึงทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน เพราะข้อบังคับอื่นๆ ตาม กฎหมายดังกล่าวอ้างยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพื่อการบริหารจัดการทั้ง สพท.และศธจ.เดินไปได้ด้วยความราบรื่น

     ขอเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาดังนี้  1.ยกเลิกคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษา

    2.นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้

    3.กำหนดอำนาจหน้าที่ ระหว่าง ผอ.สพท.กับ ศธจ.ให้ชัดเจน(มีศึกษาธิการจังหวัดบางคน เข้าใจผิดว่า ตนเองสามารถ ใช้อำนาจมาตรา 44 ได้ ซึ่งความจริงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งในมาตรา 44)

    4.แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็น 2 ส่วน 1.กรรมการจากเขตพื้นที่การศึกษา(มีระเบียบกฎหมายรองรับและมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆเข้าไปมีส่วนร่วม) 2.กรรมการจาก กศจ. ทั้งนี้เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและลดความขัดแย้ง

    อีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่จะเกิดและส่งผลต่อการบริหารจัดการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2560 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 34 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

    ข้อ 5 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตาม อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และมีอำนาจหน้าที่

     ดังต่อไปนี้ (1) จัดทำ นโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย มาตรฐานการศึกษา แผนการศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความต้องการของท้องถิ่น 

    (2) วิเคราะห์การจัดตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปของสถานศึกษา และหน่วยงานในเขตพื้นที่การศึกษา และแจ้งการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับให้หน่วยงานข้างต้นรับทราบ รวมทั้งกำกับตรวจสอบ ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว (3) ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา

    (4) กำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและในเขตพื้นที่การศึกษา (5) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และรวบรวมข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา (6) ประสานการระดมทรัพยากรด้านต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรบุคคล เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดและพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา

    (7) จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา และประเมินผลสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา (8) ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันอื่นที่จัดการศึกษารูปแบบที่หลากหลายในเขตพื้นที่การศึกษา

    (9) ดำเนินการและประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา (10) ประสาน ส่งเสริม การดำเนินการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้านการศึกษา (11) ประสานการปฏิบัติราชการทั่วไปกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (12) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

    ข้อ 6 ให้แบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไว้ดังต่อไปนี้ (1) กลุ่มอำนวยการ (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (4) กลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ (5) กลุ่มบริหารงานบุคคล (6) กลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (7) กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา (8) กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา

    (9) หน่วยตรวจสอบภายในกลุ่มบริหารงานบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (ก) วางแผนอัตรากำลังและกำหนดตำแหน่ง (ข) ส่งเสริม สนับสนุนการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ (ค) วิเคราะห์และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการสรรหา บรรจุและแต่งตั้ง ย้าย โอน และการลาออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ง) ศึกษา วิเคราะห์ และดำ เนินการเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนเงินเดือน การมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

    (จ) จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับบำเหน็จความชอบและทะเบียนประวัติ (ฉ) จัดทำข้อมูลระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ (ช) ปฏิบัติการบริการและอำนวยความสะดวกในเรื่องการออกหนังสือรับรองต่าง ๆ การออกบัตรประจำตัว และการขออนุญาตต่าง ๆ (ซ) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลเพื่อดำเนินงานวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ และการดำเนินคดีของรัฐ (ฌ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย ถ้าวิเคราะห์ภารกิจตามประกาศนี้ 

    จะเห็นได้ว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  (สพท.)ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการงานบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นชนวนความขัดแย้งต่อไปในอนาคต ดังนั้น การแบ่งส่วนราชการเพื่อจุกอำนาจไว้ส่วนไดส่วนหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ถ้ายิ่งแบ่ง ยิ่งรวบอำนาจ จะทำให้ยิ่งแตกแยก และอาจจะลุกลามมากขึ้น จึงขอฝากท่านผู้อำนาจได้โปรด ให้ความเมตตา สงสาร รีบแก้ปัญหาโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้

-------------------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ