คอลัมนิสต์

พลิกปูม... ว่าที่ 5 กกต.ใหม่ ใครมาจากไหน??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกปูม... 5 ว่าที่ กกต.เป็นใครมาจากไหนบ้าง มีใครมาเพราะคอนเน็กชั่นพิเศษหรือไม่

  

             ในที่สุดคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ลงมติเลือก 5 ว่าที่กกต. 

             ประกอบด้วย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และ ประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

             จากรายชื่อพบว่า ผู้ที่มีชื่อเสียงติดเข้ามา 2 คน คือ ฐากร และ ประชา นอกนั้นก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ดูแล้วไม่ค่อยคุ้นชื่อสักเท่าไร ถือเป็นม้ามืด ซึ่งเป็นการเลือกจาก 15 คน ที่คณะกรรมการสรรหาให้ผ่านคุณสมบัติเข้ามาจากที่สมัครมาทั้งหมด 41 คน

             มีหลายคนที่่เป็นตัวเต็งว่าน่าจะได้รับการสรรหาหลุดโผออกไป เนื่องจากข้อกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญคุมเข้ม เช่น ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

             ต้องย้ำว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกกต.ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้มข้นมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของกกต.มีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม การกำหนดคุณสมบัติจึงต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว      

 

พลิกปูม... ว่าที่ 5 กกต.ใหม่ ใครมาจากไหน??

 

             เมื่อเจาะความเป็นมาแต่ละคน "ฐากร" เคยเป็นนักศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 8 รุ่นเดียวกันกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ธงทอง จันทรางศุ, จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี, นวลพรรณ ล่ำซำ  ซึ่งถือว่า รุ่นนี้มีคนมีชื่อเสียงและอยู่ในแวดวงการเมืองหลายคน 

             "ฐากร" สร้างชื่อเป็นที่รู้จักด้วยผลงาน การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาและมีการสู้ราคากันข้ามวันข้ามคืนพลิกประวัติศาสตร์การประมูลของประเทศไทย ซึ่งเงินจากการประมูลทั้งหมดนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินเกินกว่า 8 หมื่นล้านบาทเศษ 

             “ฐากร” ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งในฐานะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวยหรือ “เบอร์สวย” ให้แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หรืออาจจะถือว่าเป็นครั้งแรกในเอเชียที่มีการประมูลแบบจริงจังที่จะทำเงินรายได้จากการประมูลส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 

             สำหรับ “ประชา” เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นราธิวาส  และสุราษฎร์ธานี และผู้ตรวจราชการกระทรวง  ปัจจุบันเป็นคณะทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 รมว.มหาดไทย และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ  

             ด้วยภูมิหลังดังกล่าว ทำให้ชื่อของ “ประชา” ติดอยู่ในโผตัวเต็งมาตั้งแต่ต้น

             ส่วนอีก 3 คนนั้น ที่ได้รับเลือกเป็นว่าที่กกต. 2 คนมาจากสายการศึกษา อีก 1 คนเป็นนักกฎหมาย 

             “เรืองวิทย์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ดีกรีการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 61 ปี เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 

             นอกจากนี้ เรืองวิทย์ เคยขึ้นเวทีสัมมนา “ยามเฝ้าแผ่นดิน”  ภาคพิเศษ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในนามนักวิชาการ เมื่อครั้งเริ่มขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ในเดือนมีนาคม 2551 ด้วย

             “อิสสรีย์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ก็เป็นอีก 1 คน ที่คลุกคลีอยู่ในวงการศึกษามาโดยตลอด จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากนั้นสอบชิงทุนรัฐบาลระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ได้กลับมารับราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ก่อนขยับเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา จากนั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการเงินกู้ธนาคารโลก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอีกตำแหน่งหนึ่ง

             ส่วน “ชมพรรณ์” อายุ 56 ปี คนนี้น่าจะเรียกได้ว่าแหกโผเข้ามา 

             เธอเป็นทนายความ  จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จากนั้นก็เข้าทำงานเป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมายรัตนากร หัวหน้าสำนักงานกฎมายสุธีรชาติ หุ้นส่วนผู้จัดการในบริษัทต่างๆ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ

             “สดศรี สัตยธรรม” มองในมุมบวก โดยบอกว่า เนื่องจากมีคนสมัครไม่มาก ได้ว่าที่กกต. 5 คนก็ถือว่าพอสมควร ไม่ใช่ต้องขั้นเทพ ทุกคนต่างมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ที่หลากหลาย อย่างฐากร  ซึ่งทำงานด้านการสื่อสาร เมื่อมาเป็นกกต.เชื่อว่า งานด้านประชาสัมพันธ์ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีความถนัดอยู่แล้วซึ่งจะทำให้ชื่อเสียงขององค์กรกกต.ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการเข้าใจทุกฝ่ายได้ดี ส่วนอธิการบดีอีก 2 คน ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมากกต.ส่วนใหญ่ก็เป็นศาล ซึ่งอธิการบดีทั้ง 2 คน บริหารงานด้านการศึกษามานานย่อมรู้เรื่องการบริหารคนเป็นอย่างดี ก็เชื่อว่าจะทำให้งานด้านการบริหารของกกต.เป็นไปด้วยดี

             “สำหรับคุณประชา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาหลายจังหวัดและเคยทำงานด้านความมั่นคงทางภาคใต้ จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการประสานงานโดยเฉพาะกับกรมการปกครอง เนื่องจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง กกต.แทบจะหมดบทบาท โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นการได้นายประชามาก็จะสามารถประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งกฎหมายกกต.ก็ไม่มีกกต.จังหวัด มีเพียงผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนซึ่งเป็นหน่วยงานที่กกต.ควบคุมได้ไม่มาก เพราะเป็นเรื่องฝ่ายปกครองที่จะดูแล” สดศรี กล่าว 

             ส่วน ชมพรรณ์ ซึ่งเป็นทนายความมา 20 ปี สดศรีมองว่าน่าจะดูแลการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนที่เป็นงานโดยตรงของกกต. 

             แต่ “โคทม อารียา” อดีต กกต.อีกคน มองต่างจาก “สดศรี”  

             “เห็นรายชื่อว่าที่ กกต. 5 คนแล้ว เสียดายที่ไม่มีรายชื่อของตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปเป็น กกต.เลย ทั้งๆ ที่มีคนที่ผ่านเกณฑ์ถึง 3 คนด้วยกัน ซึ่งตัวแทนของภาคประชาสังคมมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับประชาชน อย่างการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้สุจริต และช่วยเผนแพร่แนวคิดประชาธิปไตย เป็นต้น ทั้งนี้จากรายชื่อทั้ง 5 คนไม่แน่ใจว่าเขา จะทำงานจิตอาสาด้านประชาธิปไตยได้มากน้อยขนาดไหน เพราะสายงานไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง พวกเขาอาจจะทำงานในสายได้ดี แต่ยังไม่เคยเห็นเขาทำงานด้านประชาธิปไตย”

             โคทม ยกตัวอย่างตัวแทนภาคประชาสังคมที่ไม่ได้สรรหาเข้ามา เช่น ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และรองประธานกรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) หรืออย่าง สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ที่มีประสบการณ์ในเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Elections or ANFREL) ทั้งๆ ที่เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน หรือการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้รับเลือกให้เป็น กกต. ซึ่งไม่ทราบเจตนาของการเลือก กกต.ครั้งนี้ 

             ทั้งนี้ ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คนนี้ จะไปรวมกับบุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมาอีก 2 คน รวมเป็น  7  คน เพื่อส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งอยู่ในกรอบเวลา 12 ธันวาคมนี้ 

             หาก สนช.ให้ความเห็นชอบ 7 กกต.คนใหม่ กกต.ชุดเก่าก็เตรียมลาเก้าอี้เพื่อให้ 7 กกต.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน แต่ถ้า สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบ ก็กลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

             งานใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าคือ การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและเลือกตั้งทั่วไป...แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรแน่ !!

 

โดย ประภาศรี โอสถานนท์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ