คอลัมนิสต์

ทำไมจำคุก“มือบึ้ม รพ.พระมงกุฎ” 26 ปี 12 เดือน ไม่เป็น 27 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเวลาศาลพิพากษา มักจะมีโทษ"เดือน"โผล่ออกมาเช่น 12 เดือน , 16 เดือน , 33 เดือน ทำไม่ไม่เปลี่ยนเป็นปีกับเศษเดือน อย่างที่ปกติเรียกกัน

         กรณีศาลพิพากษาจำคุกนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศวกร กฟผ. มือบึ้มโรงพยาบาลพระมงกุฎ เป็นเวลา 26 ปี 12 เดือน อาจทำให้มีผู้สงสัยว่า ทำไมศาลไม่จำคุกนายวัฒนา 27 ปี ไปเลย

        ก่อนอื่นมาดูคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน คดีนี้ ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

      -จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

     - จำคุก 3 ปี ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด

      -จำคุก 1 ปี ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต

      -ปรับ 1,000 บาท ฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

      จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

       ดังนั้น โทษจำคุกตลอดชีวิต ในการลดโทษต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษจำคุก 50 ปี เสียก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53 ซึ่งบัญญัติว่า ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง จึงเหลือจำคุก 25 ปี

        -โทษจำคุก 3 ปี ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน

        -โทษจำคุก 1 ปี ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก6 เดือน

        -ปรับ 1,000บาท ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ 500 บาท

        จึงรวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท

       ทำไมศาลจึงไม่เปลี่ยนโทษจำคุก“เดือน” เป็น“ปี” เช่น 12 เดือน เป็น 1 ปี

       ในอดีตก็มีคดีที่ศาลพิพากษาทำนองนี้มากมาย ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คดีนายปรีชา ตรีจรูญ แนวร่วมพันธมิตรฯ ขับรถพุ่งชนตำรวจ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี 16 เดือน ,คดีนายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ยะ และภรรยา บุกรุกที่ดินกรมธนารักษ์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ศาลอาญาจำคุกคนละ 10 ปี 16 เดือน

        เหตุเพราะการนับโทษจำคุก “ปี” กับการนับโทษ “เดือน” ตามกฎหมายมีความแตกต่างกัน

       -การนับโทษปี ให้นับจำนวนวันตามปีปฏิทิน ซึ่ง 1 ปี ก็จะมี 365 วัน หรือ 366 วัน ( ปีอธิกสุรทิน)

       -การนับโทษเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน

        ดังนั้นกรณีจำคุก 1 ปี กับจำคุก 12 เดือน จึงมีระยะเวลาไม่เท่ากัน กล่าวคือ ศาลจำคุกจำเลย 1 ปี ก็คือ 365 วันหรือ 366 วัน แต่ถ้าศาลจำคุกจำเลย 12 เดือน จะเท่ากับ 360 วัน

           เหตุนี้ กรณีที่ศาลจำคุกจำเลย 12 เดือน จึงไปแปลงหรือเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็น 1 ปี ไม่ได้ เพราะจะเป็นผลร้ายต่อจำเลย คือ ทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินไป 5 หรือ 6 วัน ด้วยเหตุนี้ศาลจึงไม่เอาโทษจำคุกเป็น“เดือน”มาปนกับ “ ปี” โดยแยกออกจากกัน

         ประเด็นต่อมา คือ การนับโทษเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน นั้น จะมีปัญหาทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ กับจำเลยที่ถูกจำคุกเป็น“เดือน” หรือไม่ เพราะเดือนลงท้ายด้วย“คม” มี 31 วัน ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มี 28วัน หรือ 29วัน เท่านั้น

         คำตอบ ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะตามกฎหมายให้นับวันไปตามจำนวนวันของเดือนนั้นๆ เดือนไหนมี 31 วัน ก็นับ 31 วัน เดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน หรือ 29 วัน ก็นับ 28 หรือ 29 วัน ไม่ได้นับเป็นเดือนๆ ( จึงไม่เกิดกรณีที่จำเลยถูกจำคุกเดือนกุมภาพันธ์ ได้เปรียบถูกจำคุก แค่ 28 หรือ 29 วัน และไม่เกิดกรณีจำเลยที่ถูกจำคุกในเดือนที่มี 31 วัน เสียเปรียบแต่อย่างใด)

          ยกตัวอย่าง จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือนในวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งก็เท่ากับถูกจำคุก 60 วัน ก็เริ่มนับวันถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 30 มีนาคม รวม 30 วันจากนั้นวันที่ 31 มีนาคม ก็นับเป็นวันที่ 31 ของการถูกจำคุก วันที่ 1 เมษายน ก็นับเป็นวันที่ 32 ของการถูกจำคุก นับต่อไปเรื่อยๆจนครบ 60 วัน ซึ่งจำเลยคนนี้ จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 29 เมษายน (ไม่ต้องอยู่ในคุกถึงวันที่ 30 เมษายน)

        ส่วนจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สมมุติว่า ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน ก็เริ่มนับวันถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็จะได้ 28 วัน จากนั้นก็นับวันที่ 1มีนาคม เป็นวันที่ 29 ของวันถูกจำคุก จากนั้นนับไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วันซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน จำเลยจะได้รับโทษครบ 60 วัน ( ไม่ใช่อยู่ในคุกแค่ถึงวันที่ 31 มีนาคม)

        ประเด็นสุดท้าย การรับโทษ ต้องรับโทษปีให้ครบก่อน เมื่อรับโทษปีครบแล้ว ค่อยนับโทษเดือนต่อ เพราะโทษปีจะใหญ่กว่าโทษเดือน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ