คอลัมนิสต์

เพิ่มวิกฤติ ในวิกฤติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management) ศาสตร์สมัยใหม่ ที่ รัฐบาล และ ทหาร จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อไม่ซ้ำเติมให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสภาวะเลวร้ายไปกว่าเดิม

ผมเคยเขียนเรื่องการจัดการภาวะวิกฤตของกองทัพ ทหาร และรัฐบาลเมือปี 2558 ไปแล้วครั้งหนึ่ง  แต่เวลาผ่านไปกว่าสองปี สิ่งที่เราได้เห็นคือ การกองทัพ ทหาร และ รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการภาวะวิกฤตได้ดีนัก ทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก

การจัดการ “ภาวะวิกฤต” หรือ Crisis Management นั้น ถือเป็นศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายได้ เพราะหากใครก็ตามที่ทำได้ดีคะแนนจากที่เป็นลบก็จะพลิกกลับขึ้นมาอย่างเลวร้ายที่สุดก็คือเสมอตัว แต่หากทำได้ดีขึ้นไปอีกคะแนนที่ควรจะเสียก็จะกลับกลายเป็นได้ ในทางตรงกันข้ามหากทำไม่ดีทุกสิ่งทุกอย่างจะยิ่งย่ำแย่ และกว่าจะรู้ตัวอาจจะทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นการจัดการภาวะวิกฤตอันอ่อนด้อย ทั้งจากกองทัพและรัฐบาล เริ่มตั้งแต่กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ที่มีข้อสงสัยทั้งในเรื่องของอวัยวะภายในที่หายไป และการเสียชีวิต

แต่การรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกลับทำให้สังคมตั้งคำถามหนักเข้าไปอีก และลุกลามไปถึงระบบและสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน “โรงเรียนเตรียมทหาร” การตอบคำถามของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รองหัวหน้า คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เบอร์สองของรัฐบาลทหาร กับประโยคที่ว่า “ผมก็เคยโดนซ่อมจนสลบ แต่ไม่ตาย” ได้จุดไฟแห่งความไม่พอใจให้ลุกโชนขึ้นทั่วไป

เข้าไจว่า “บิ๊กป้อม” อาจหวังจะพูดให้เรื่องทีเกิดขึ้นดูเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ดูเบาๆแผ่วๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นยังไงก็ธรรมดาไม่ได้ เพราะการตายอย่างผิดปกติของเด็กคนหนึ่งที่อายุเพียง 16 ปี ภายใต้ระบบที่มีการยอมรับการ “ซ่อม” ภายใต้ชื่อเรียกเก๋ๆว่า “ธำรงวินัย” และทำให้รู้ว่านอกเหนือจากการออกกำลังยังแอบมีการใช้กำลังที่ผู้บังคับบัญชาไม่รู้ไม่เห็นอีกมาก

ซึ่งกว่า “บิ๊กป้อม” จะรู้ตัวและออกมาขอโทษ ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว ระบบในโรงเรียนเตรียมทหารถูกลากมาละเลงเสียจนเละเทะ และลามไปถึงทหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

ขณะที่การตอบโต้ของเหล่านักเรียน เตรียมทหารบางกลุ่มก็ยังทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เพราะการออกมาปกป้อง และเชิดชูท่าลงโทษก้ทำให้คนยิ่งตั้งคำถามว่า สิ่งที่กำลังปกป้องคืออะไรกันแน่ “ระบบ”หรือ “ตัวบุคคล” หรือ “ปกปิด" ความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ต่อด้วยการ “ขึ้นเสียง” ของนายกฯรัฐมนตรีที่มีต่อชาวประมงที่มาร้องเรียน ก็เข้าใจได้ว่าที่ผ่านมา นายกฯ งานยุ่ง งานเยอะ และมีความกดดัน แต่การทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องร้องเรียนและความเดือดร้อนของประชาชนหายไปไหน ซ้ำยังไปสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้คนทั่วไป นาทีนี้คนที่ตกใจกับการ “ขึ้นเสียง” ของ “ลุงตู่” ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่เชื่อไปถาม “ชาวประมง” ทั่วประเทศได้

และเช่นเดิมเมื่อออกมาแสดงความเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นก็ดูจะสายเกินไป

หรืออย่างล่าสุดกับกรณีม็อบ “ต้านโรงไฟฟ้าเทพา” ที่ตั้งใจมายื่นหนังสือถึงนายกฯ แต่กลับถูกสกัดกั้นและสุดท้ายเรื่องขยายบานปลายกลายเป็นการปะทะ มีผู้บาดเจ็บ แกนนำถูกจับกุม และถูกตีตรวนขึ้นศาล

สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำภาพการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน เรื่อนี้เอาเข้าจริงดูแลได้ไม่ยากนัก หากมีกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะให้ตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือ หรือ ส่งคนระดับใหญ่เพียงพอและลงมาเจรจากันให้รู้เรื่อง หลายรัฐบาลก็ทำกันอย่างนั้น อะลุ้มอล่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้เพื่อหลีกเลียงการปะทะ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นว่าขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลเลย 

อย่างไรก็ตามเมื่อปะทะแล้ว แทนที่จะมีกระบวนการจัดการที่ดี เยียวยา หรือดูแลตามสภาพ กลับมีการประเคนข้อหาต่างๆให้อย่างเต็มที่

แต่ที่ดูเหมือนราดน้ำมันไปในกองไฟมากที่สุดคือคำพูดของ “เสธ.ไก่อู -พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกรัฐบาล และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ออกมาพูดคาบลูกคาบดอกถึง "แบมุส -มุสตาร์ซีดีน วาบา" แกนนำต้านโรงไฟฟ้าเทพา ที่หายตัวไปท่ามกลางข้อสงสัยว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวไปหรือไม่

“สรรเสริญ” ไม่บอกว่า “แบมุส” ไปไหน แต่ไพล่ไปพูดถึง กรณีที่สะบ้าย้อย ที่มีผู้ต้องสงสััยซที่หายตัวและคิดว่าถูกจับตัวไป แต่จากข้อมูลของรัฐระบุว่า เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็ปรากฏว่าผู้ที่สงสัยว่าหายไป “หนีไปเที่ยวกับหญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่านที่สตูล” และทิ้งท้ายว่า  “อันนี้ตั้งข้อสังเกต ผมไม่ได้ว่าคุณแบมุสนะ”

งานนี้ภาษานักเลงเรียกกันง่ายๆว่า “ชกใต้เข็มขัด” เพราะแม้ไม่พูดชัด แต่น้ำเสียงและบริบททำให้คิดเป็นอย่างอื่นได้ยาก และทำให้คนย้อนตั้งคำถามว่านี่คือท่าทีของสุภาพบุรุษชายชาติทหารอย่างนั้นหรือ

ภาพที่ยิ่งลบอยู่แล้วของรัฐบาลจากกรณีนี้ยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไปอีก จากผู้ที่มีหน้าที่คุม “กรมประชาสัมพันธ์” และที่สำคัญพูดในรายการที่เป็นรายการทางการของรัฐอย่าง “เดินหน้าประเทศไทย”

จึงน่าสงสัยว่า ที่ผ่านมาพวกท่านได้เรียนรู้เรื่องราวในการจัดการกับภาวะวิกฤตมามากน้อยเพียงใด  หรืออาจเพียงเพราะที่ผ่านมาพวกท่านอยู่ในระบบปิด ทำให้ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีจนเมื่อมาเผชิญกับโลกภายนอกและความเป็นจริงจึงต้องประสบกับความยากลำบากกับสิ่งที่เกิดขึ้น

รัฐบาลและทหารพึงตระหนักรู้ว่าหากจัดการได้ไม่ดี สถานการณ์จากบวกอาจกลายเป็นลบ หรือหากหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นแพ้หมดรูปทั้งกระดาน  ไม่เชื่อให้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ดูก็ได้ว่าเป็นอย่างไร 

---

(คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" ทางหนังสือพิมพ์คมชัดลึ :อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ