คอลัมนิสต์

ไปตามน้ำ(แห่งชาติ) เบื้องลึกปรับ‘บิ๊กฉัตร’-เด้ง‘สมเกียรติ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไปตามน้ำ(แห่งชาติ) เบื้องลึกปรับ‘บิ๊กฉัตร’-เด้ง‘สมเกียรติ’

     

       กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา(22พ.ย.)ผ่าเปรี้ยงที่กรมชลประทาน เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ใช้คำสั่งม.44 เด้งอธิบดีกรมชลประทาน“ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์”พ้นจากตำแหน่งเพื่อให้ไปรับตำแหน่งใหม่ มีภารกิจรับผิดชอบนโยบายน้ำในภาพรวมของประเทศ ของหน่วยงานที่ชื่อว่า"สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ"ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และโยกรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา“ทองเปลว กองจันทร์”ขึ้นมารั้งตำแหน่งแทน 

      พร้อมกันนี้ยังมีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกรมที่ว่างอีก 2 ตำแหน่ง ประกอบด้วย“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรรัตน์”  จากผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่10 เป็นรองอธิบดีกรมชลประทานและ“ประพิศ จันทร์มา” จากผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางเป็นรองอธิบดีกรมชลประทาน จนสร้างความฉงนให้กับคนกรมชลไม่น้อย พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่าอธิบดีคนนี้กระทำผิดอะไร ถึงได้ลงดาบด้วยคำสั่งม.44 หลังจากขั้นรั้งตำแหน่งอธิบดีได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น

       "หากได้เป็นอธิบดี จะขออยู่แค่ปีเดียวเพื่อจัดระบบระเบียบใหม่ให้เข้าที่เข้าทางและต้องการผลักดันใหม่โครงการต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มไว้ รวมถึงโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ยังคั่งค้างอยู่ทั้งเก่าและใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว"

      ดร.สมเกียรติเองก็เคยเปรยกับสื่อมวลชน เมื่อครั้งยังรั้งตำแหน่งรองอธิบดีฯ หลังแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อก้าวสู่ในตำแหน่งดังกล่าว ก่อนจะผลการตัดสินออกมาเป็นไปตามที่วาดหวัง แต่จนแล้วจนรอดความหวังก็พังครืนลงในทันทีเมื่อเจอคำสั่งม.44 ที่52/2560 ให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน โดยให้มารับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

        "ต้องการให้ดร.สมเกียรติ(ประจำวงษ์)มาทำหน้าที่บูรณาการในกรอบอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี จะต้องทำอะไรบ้าง ในฐานะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชาของนายกฯ โดยมาเป็นทีมทำงานในการขับเคลื่อน ซึ่งการมาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว ระดับตำแหน่งหรือซีน่าจะสูงขึ้นไม่เช่นนั้นจะบูรณาการไม่ได้"

        เช้าวันรุ่งขึ้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกมาชี้แจงในคำสั่งดังกล่าว โดยต้องการให้ดร.สมเกียรติมาขับเคลื่อนงานน้ำในเชิงนโยบายแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะได้มาช่วยนายกฯในการเอาทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่และแผนงานนโยบายทั้งหมดมาพิจารณาก่อนเสนอข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 

        ถัดมาอีก 2 วันมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประยุทธ์5  แม้พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะหรือ“บิ๊กฉัตร”จะพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯตามคาด แต่ก็ไม่หลุดโผไปจากครม.กลับก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งใหญ่"รองนายกรัฐมนตรี"และเป็นที่คาดหมายกันว่าน่าจะมาคุมนโยบายน้ำแห่งชาติแทนนายกรัฐมนตรี เนื่องจากบิ๊กฉัตรเคยดูเรื่องน้ำมาตั้งแต่ต้น 

       หากจำกันได้หลังตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ได้มอบหมายให้พลเอกฉัตรชัย สาริกลัยะ ในฐานะรองหัวหน้าคสช.เข้ามาจัดระเบียบนโยบายน้ำใหม่ พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์น้ำชาติ 20 ปี ในขณะที่ตัวเองก็นั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลประยุทธ์1 ก่อนถูกโยกมาคุมกระทรวงเกษตรฯ  เพื่อมาดูงานน้ำในภาคการเกษตร ทำให้เขาได้รับทราบข้อมูลเรื่องน้ำในภาพรวมและน้ำภาคการเกษตรแบบเจาะลึก 

       และหนีไม่พ้นหน่วยงานในสังกัดอย่างกรมชลประทานที่รับผิดชอบดูแลงานน้ำเพื่อการเกษตรทั้งระบบและว่ากันว่าทุกครั้งที่“บิ๊กฉัตร”อยากได้ข้อมูลเรื่องน้ำ แผนการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน คนที่บิ๊กฉัตรเรียกใช้บ่อยที่สุดคือรองอธิบดีฝ่ายวิชาการ“ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์”ที่กุมข้อมูลเรื่องน้ำทั้งหมดเอาไว้ ประกอบกับเคยผ่านประสบการณ์มาในทุกสายงาน จึงทำให้เขาคนนี้มีความครบเครื่องทั้งข้อมูลภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ ทั้งยังเคยเห็นฝีไม้ลายมือมาแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ  โดยรองอธิบดีสมเกียรติ ประจำวงษ์ ตัวแทนกรมชลประทานเข้าไปนั่งอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย จึงไม่แปลกใจ“บิ๊ณกฉัตร”ลงพื้นที่ติดตามงานเรื่องน้ำคราใด มักจะหอบหิ้วดร.สมเกียรติไปด้วยเสมอเพื่อใช้บริการในเรื่องข้อมูล ไม่เว้นแม้กระทั่งการไปดูงานเรื่องน้ำในต่างประเทศ

       "ท่านอธิบดีสมเกียรติ คนนี้ของจริง เก่งเรื่องน้ำมาก รู้ข้อมูลดีในทุกจุดทั่วประเทศ แล้วก็ภาษาอังกฤษท่านนี่เป๊ะมาก เวลานายไปดูต่างประเทศก็มักจะหนีบท่านสมเกียรติไปด้วยเสมอ เพราะการสื่อสาร บางครั้งมีเทคนิคทางชลประทานที่เข้าใจยากหรือนายอาจไม่เข้าใจ ก็ได้ท่านสมเกียรตินี่แหละช่วยอธิบายความ ทำความเข้าใจ"แหล่งข่าวใกล้ชิดพลเอกฉัตรชัยให้ความเห็น

      ครั้นเมื่อไล่เรียงลำดับความสัมพันธ์และการทำงานแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมดร.สมเกียรติ์ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน โดนคำสั่งม.44 เด้งไปรับตำแหน่งใหม่ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีฐานะเทียบเท่ากรม(ซี11)ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ขณะที่“บิ๊กฉัตร”พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ถูกโยกให้ไปนั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อไปคุมนโยบายน้ำของประเทศ ดังนั้นการโยกย้ายทั้งสองคนในครั้งนี้ จึงมีที่มาและที่ไป เนื่องจากสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานเกิดใหม่และใหญ่กว่ากรมอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างการทำงานทั้งเรื่องบุคลากรและหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อต้องการลดความซำ้ซ้อนและรวบรวมของงานด้านน้ำ 

       ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำกว่า 30 หน่วยงานกระจายอยู่ใน 10 กระทรวง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 30 ฉบับและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ รวมถึงเตรียมการรองรับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสภานิติบัญัติแห่งชาติ(สนช.) 

     ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้เตรียมวางแผนในด้านงบประมาณเพื่อรองรับองค์กรที่เกิดใหม่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อ“บิ๊กฉัตร”สั่งกรมชลฯผ่างบน้ำเกือบแสนล้านบาท ลงแผนน้ำบูรณาการน้ำทั่วประเทศ ขึ้นตรงกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อนำไปใช้ในภารกิจบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 

       ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พัฒนาแหล่งน้ำ แก้มลิง ทำอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงงานที่ไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรฯถึงแผนงบประมาณกระทรวงเกษตรฯภาพรวมในปี 2562 ที่มีวงเงิน 221,373.1958 ล้านบาท ใน 12 แผนงาน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่อธิบดีโดยเด้ง

       โดยเฉพาะของกรมชลประทานนั้นได้ปรับงบประมาณลดลงกว่าครึ่งหรือประมาณ 50-60 % ของงบประมาณทั้งหมด โดยใช้ในภารกิจแค่บริหารจัดการระบบการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกกว่า 30 หน่วยงานที่ต้องดำเนินการในเรื่องงบประมาณในลักษณะเดียวกัน หากมองโดยภาพรวมตามภารกิจต้องยอมรับว่าหน่วยงานน้ำที่ตั้งใหม่ใหญ่ทั้งอำนาจและงบประมาณสั่งการผ่านการนโยบายโดยคณะกรรมการที่หน่วยงานในสังกัดรับไปดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

        หากโฟกัสมาที่"กรมชลประทาน"จากนี้ไปคงทำหน้าที่แค่จัดการน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น ส่วนการดำเนินการก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ และใหญ่ ๆ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลผ่านการสั่งการโดยคณะกรรมการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 

                                                         ...........................................................

      

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ