คอลัมนิสต์

ฟองสบู่ไทยลีก ต้นตอ “ล้มบอล”?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จะว่าไป โต๊ะพนันบอลไทยมีมานานแล้ว แต่มันเริ่มขยายวง ก็สืบเนื่องมาจาก “ปัญหาการเงิน” ของบางทีม ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะได้เต็มที่!

            เกรียวกราวโครมครามตามสไตล์ “บิ๊กตำรวจเก่า” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในการแถลงข่าว “ปราบขบวนการล้มบอล” ซึ่งได้ผู้ต้องสงสัยพัวพันการล็อกผลการแข่งขันในฟุตบอลลีกอาชีพของไทย มีตั้งแต่ผู้ตัดสิน, นักเตะ, ผู้จัดการทีม และนักพนัน

            แน่นอน “โต๊ะพนันบอล” ย่อมตกเป็นจำเลยในคดีล้มบอลอยู่แล้ว แต่มากไปกว่านั้น มีใครสืบสาวถึงต้นตอของปัญหาล้มบอลหรือไม่ และมีข้อน่าสังเกตว่า นักเตะหรือ “ผู้เล่น” ของสโมสรฟุตบอลในไทยลีกที่มีข่าวพัวพันกับการล้มบอลนั้น เป็นสโมสรที่มีเงินทุนสนับสนุนไม่มากมายนัก หรือไ่ม่ก็ระบบบริหารจัดการทีมยังไม่เป็นมืออาชีพ ส่งผลให้นักเตะแหกคอกออกไปรับงานล้มบอล

            4-5 ปีที่ผ่านมา วงการฟูตบอลอาชีพเมืองไทยถือได้ว่า “บูมสุดขีด” สโมสรฟุตบอลใหญ่ๆในไทยลีก มีรายได้จากการขายบัตรค่าผ่านประตู และค่าเสื้อรวมถึงของที่ระลึกเป็นกอบเป็นกำ ตลาดซื้อขายนักเตะไทยลีก ก็มีเงินหมุนเวียนเป็นหลายร้อยล้าน นักเตะไทยมีค่าตัวแพงถึง 20-30 ล้านบาท 

            สำหรับฤดูกาลไทยลีก 2017 ที่เพิ่งจบลงไป ต้องยอมรับกันว่า คนดูในสนามลดฮวบฮาบ และเริ่มลดมาแต่ฤดูกาล 2016 แม้ความนิยมในไทยลีกยังมิได้ลดลงก็ตาม

            ยกตัวอย่างสนามไอโมบายสเตเดี้ยม รังเหย้าของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แต่ละนัดไม่เต็มสนาม ยกเว้นแมทช์ที่เตะกับเมืองทองฯ หลายสนามใช้กลยุทธ์แจกบัตรฟรี คนก็ยังไม่ถึงครึ่งสนาม นี่เป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าของทีมฟุตบอล เพราะจำนวนผู้ชมมีผลต่อสปอนเซอร์ 

            สาเหตุที่จำนวนผู้ชมเดินเข้าสนามน้อยลงไปมีอยู่ 2 ประการคือ มีถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ ทำให้แฟนบอลไม่ออกจากบ้านไปยังสนาม และมีการรับชมเกมสดๆ ผ่านทางบริการแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนมือถือ

            นอกจากจำนวน “คนดู” ในสนามที่ลดลง ปรากฏการณ์ “ทีมเล็ก” ต้องกระเสือกกระสนหาสปอนเซอร์ และหารายได้ จนทำให้บางสโมสรต้องยุบทีมกลางคัน บางสโมสรก็ลอยแพนักเตะ ขณะที่สโมสรใหญ่ที่สามารถหาเม็ดเงินได้ หาสปอนเซอร์รายใหญ่ได้ ก็ซื้อซูเปอร์สตาร์เข้ามาสู่ทีม เพื่อเรียกแฟนบอลเข้ามาในสนามได้มากกว่าทีมเล็กๆ

            ปัจจุบัน การลงทุนทำทีมระดับไทยลีกต้องใช้เงินเฉลี่ยทีมละ 100-200 ล้านบาท ทว่ารายรับที่ต้นสังกัดจะได้กลับคืนมานั้นแทบจะน้อยนิด เฉพาะในไทยลีก แต่ละทีมจะได้รับเงิน 20 ล้านบาท จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 

            ส่วนเงินรางวัล แบ่งกันตามนี่้ ชนะเลิศ 10,000,000 บาท รองชนะเลิศ 2,000,000 บาท อันดับสาม 1,500,000 บาท อันดับสี่ 800,000 บาท และอันดับ 4-8 ได้เงิน 8,7,6,5, 4 แสนบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเงินบำรุงสโมสรที่เข้าร่วมแข่งขัน สโมสรละ 1,000,000 บาท

            รายได้เพียงเท่านี้ ย่อมไม่คุ้มกับการทำทีมอย่างแน่นอน กรณีสโมสรซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทรปราการ ประสบปัญหาด้านเงินทุน จนต้องขายทีมกลางคันก็เป็นเรื่องใหญ่ ที่สมาคมฟุตบอลฯ และบริษัทไทยลีก ต้องคิดใคร่ครวญอย่างหนัก ด้วยกังวัลว่า จะเกิดปรากฏการณ์ “ฟองสบู่ไทยลีกแตก” ในอนาคตอันใกล้นี้

            ว่ากันว่า ยุครัฐบาลเลือกตั้ง มีนักการเมือง เข้ามาทำทีมฟุตบอล เพื่อหาเสียงในจังหวัดตัวเอง พอทำปีสองปี ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ทิ้งขว้างทีมไป สโมสรก็ต้องหาสปอนเซอร์เอง ถ้าได้นักธุรกิจไม่รักในกีฬาฟุตบอล มาทำแค่สร้างชื่อเสียงของตัวเอง หรือไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ตอบแทนกลับมา ไม่เกิน 1-2 ปี ก็ทิ้งทีมอีกเช่นกัน

            ผู้บริหารสโมสรในไทย ล้วนฝากผีฝากไข้ไว้กับ “สปอนเซอร์หลัก” หากวันไหนสปอนเซอร์ ถอนตัวก็เอวัง ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายการตลาดของทีม จึงต้องจัดอีเวนท์สร้าง “มูลค่าทีม” ตลอดเวลา เพื่อเอาใจสปอนเซอร์ อาทิจัดคอนเสิร์ตดึงแฟนบอลมารวมพลังเอาใจสปอนเซอร์

            อีกด้านหนึ่ง บริษัท ไทยลีก จำกัด ในฐานะบริษัทบริหารการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ซึ่งถือหุ้นโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ย่อมรับทราบถึงปัญหาฟองสบู่ไทยลีก จึงไม่มองข้ามปัญหา “ล็อกผลการแข่งขัน” หรือ “ล้มบอล” เพราะนี่เป็นมะเร็งร้ายกัดกร่อนความศรัทธา ความน่าเชื่อถือของลีกฟุตบอลอาชีพไทย

            โต๊ะพนันบอลไทยมีมานานแล้ว แต่มันเริ่มขยายวง ก็สืบเนื่องมาจาก “ปัญหาการเงิน” ของบางทีม ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะได้เต็มที่ เพราะทีมเล็กประสบภาวะ “รายได้หด-คนดูหาย” แถมสปอนเซอร์เตรียมถอนตัว

            มาตรการปราบขบวนการล้มบอล จึงมีการดำเนินอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน โดยความร่วมมือของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลฯ ,พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท สมาคมฟุตบอลฯ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และประธานสโมสรฟุตบอลโปลิศ-เทโร เพื่อรักษาภาพลักษณ์ “ไทยลีก” ให้เป็นลีกที่แข็งแกร่ง 

            แม้ “บิ๊กอ๊อด” จะแย้มพรายว่า มี “บิ๊กลูกหนัง”(กรรมการสมาคมฯชุดเก่าบางคน) มีเอี่ยวกับการล็อกผลบอล แต่คนในวงการก็รู้ดีว่า มันเป็นเกมการเมืองเรื่องลีกลูกหนัง 

 

***ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"บิ๊กอ๊อด"แฉสมาคมฯชุดเก่ามีเอี่ยวล็อกผล

เปิด 12 รายชื่อ พัวพัน "ล้มบอลไทยลีก"

ออกหมายจับ12รายพัวพันล้มบอล

เจาะ 5 แมตช์ฉาว พัวพัน "ล้มบอลไทยลีก"

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ