คอลัมนิสต์

ใส่ใจการศึกษา “ปฐมวัย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬาฯ

              สังคมไทยทุกวันนี้มีการแข่งขันทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย พ่อแม่หลายคนพาลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนดังๆ หวังให้ลูกได้ครูดี หลักสูตรดี เพื่อเป็นหลักประกันที่ดีให้ชีวิตตอนโต เด็กไทยจึงต้องเรียนหนักเพื่อแข่งขันตั้งแต่ชั้นอนุบาล

              เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการสอบเข้า ป.1 ในหลายโรงเรียนถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีข้อเสนอให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 เพราะถือเป็นการศึกษาภาคบังคับที่เด็กทุกคนต้องได้เรียน ขณะที่ฝั่ง สพฐ.เองก็ยืนยันว่าไม่ได้มีนโยบายในการสอบเข้า ป.1 แต่เป็นวิธีการของบางโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เพื่อคัดเลือกนักเรียน

              ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า อาจารย์จากสาขาวิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าเด็กในชั้นปฐมวัย หรือก่อน 6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย สังคม ที่เชื่อมโยงกับชีวิตรอบตัว มากกว่าที่จะพัฒนาทักษะทางวิชาการ

            มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าช่วงอายุปฐมวัยเป็นเวลาที่สำคัญในการเรียนรู้และเติบโตของเด็ก ซึ่งอาจารย์ยศวีร์กล่าวว่า ไม่อยากให้เด็กต้องเสียโอกาส 6 ปีนี้ไป เด็กในวัยนี้สมควรได้เล่น ได้เรียนรู้ ค้นหาความชอบ ความถนัดของตัวเอง มากกว่าการเสียเวลาในห้องเรียนกับวิชาการที่หนักหน่วงเกินไป

             “การเป็นคนที่สมบูรณ์ต้องได้รับการเติมเต็มตั้งแต่เนิ่นๆ การปล่อยให้เด็กเรียนหนัก เรียนกวดวิชาตั้งแต่เด็กๆ เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาเด็ก ในเชิงเศรษฐศาสตร์เราถือว่าเป็นการเสียทุนมนุษย์”

               การสอบเข้าในโรงเรียนหลายแห่งที่มีอัตราการแข่งขันสูง ทำให้พ่อแม่ไม่มั่นใจว่าลูกตนเองจะสอบผ่านแล้วได้เข้าโรงเรียนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องค่านิยม ความเชื่อของคนในสังคมไทย ที่เน้นผลการเรียน ผลการสอบเป็นสำคัญ รวมถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา ในเชิงความแตกต่างของโรงเรียนแต่ละแห่ง ที่ส่งผลให้การแข่งขันในการเรียนตั้งแต่ปฐมวัย ดำเนินต่อไปจนเกือบจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย

              “ต้องยอมรับโรงเรียนในไทยเราต่างจากเมืองนอก อย่างในสหรัฐ Gap (ความเหลื่อมล้ำ) ของแต่ละโรงเรียนเขามีน้อย ไม่มีระบบสอบเข้า ป.1 พ่อแม่ผู้ปกครองก็ให้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เรียนที่ไหนก็ไม่ต่างกัน แต่บ้านเรายึดชื่อโรงเรียน โรงเรียนไหนดีไหนดัง พ่อแม่ก็ต้องให้ลูกฝ่าฟันเข้ามาให้ได้”

               อาจารย์ยศวีร์กล่าวว่า ระบบการเรียนการสอนในสังคมไทย กลายเป็นระบบ Teach for Test คือสอนเพื่อสอบ สังคมไทยให้ความสำคัญกับคะแนน ผลสอบ เกรด ในเชิงวิชาการมากกว่าการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองในแบบอื่นๆ

               ถึงแม้ว่าหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยจะเน้น Child Center หรือเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีปรากฏไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษา แต่ในทางปฏิบัติจริง ระบบ Child Center ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างที่ควรจะเป็น

               “Child Center คือการให้เด็กได้เรียน เรียนอะไรก็ได้ที่พัฒนาตนเอง ดังนั้นการวัดผลประเมินผลเด็กแต่ละคนต้องต่างกัน ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมมองว่าเราสอนเพื่อสอบ ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ เราต้องสู้กับค่านิยมของสังคมที่ผิดทิศผิดทาง”

               อาจารย์ยศวีร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศ การเรียนการสอนเชิงวิชาการเริ่มต้นราวๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 แม้แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเด็กเรียนหนังสือหนัก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ก็มีการปรับตัวเน้นการศึกษาของเด็กปฐมวัยมากขึ้น เน้นให้เด็กได้เล่น ได้เรียนรู้ ซึมซับวัฒนธรรม ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเด็ก มากกว่าเนื้อหาในตำรา

              “ทุกวันนี้โรงเรียนที่ให้เด็กปฐมวัยในไทยได้พัฒนาทักษะเต็มที่กลายเป็นโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งก็เป็น Gap เพราะมีแต่ครอบครัวสถานภาพระดับสูงที่เข้าถึง ครอบครัวแบบนี้เขายอมส่งลูกไปเรียน จ่ายค่าเทอมแพงๆ เพราะเขามีปัญญาส่งลูก แถมเขาไม่แคร์การแอดมิชชั่น การเรียนมหาวิทยาลัยในไทย เพราะเขาส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้”

              การแก้ปัญหาต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ สังคมที่ให้คุณค่ากับถ้วยรางวัล เหรียญนักเรียนดี หรือผลสอบดีเลิศ เป็นเพียงเปลือกนอกที่ไม่ได้สนใจว่าเด็กแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข

               “ผมมองว่าปัญหาสำคัญคือวิธีคิดของคน การศึกษาทุกวันนี้เราให้คุณค่ากับอะไรกันแน่ ปัญหาเรื่องงบประมาณ เรื่องครู เราได้ให้ความสนใจพอไหม ทุกวันนี้ครูไทยรู้จักเด็กน้อยมาก ครูไม่รู้ว่าเด็กคนไหนเก่งอะไร อ่อนอะไร ครูมีเวลากับเด็กน้อยมาก ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณเยอะมากที่สุด นี่แสดงว่าเราให้เงินครูไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะทำ”

                 “และพูดอีกในฐานะที่ผมเป็นพ่อด้วย ผมก็อยากให้ 6 ปีแรกของเด็ก ได้มีประสบการณ์ที่คุ้มค่า น่าจดจำมากที่สุด อย่าให้มันหายไป อย่าให้มันหมดไป อย่าไปยัดเยียดสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้เด็กเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการเล่นเถอะ” อาจารย์ยศวีร์กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ