คอลัมนิสต์

ปฏิรูปตำรวจ ..หวยออกที่“ดีเอสไอ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯได้สั่งการให้มีการปฏิรูปดีเอสไอ ให้มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ งานนี้ดีเอสไอคงไม่นั่งนิ่งให้ถูกยุบง่ายๆ จึงได้เตรียมนำเสนอข้อมูลการปฏิรูปดีเอสไอต่อรัฐบาลแล้ว

              ในห้วงที่สังคมกำลังจับจ้องไปที่การ“ปฏิรูปตำรวจ” จู่ๆ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการผ่านมายัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯให้“ปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ”(ดีเอสไอ) ให้มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ ทำเฉพาะคดีพิเศษจริงๆ ไม่ใช่ทำคดีเล็กๆน้อยๆหรือเอางานของตำรวจมาทำ หากอดีตข้าราชการตำรวจในดีเอสไอต้องการย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ( สตช. )ก็ให้โอนย้ายกลับได้ เพื่อเปิดรับสมัครบุคลากรภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามา...ผลิตน้ำดีให้ดีเอสไอ

               จากนั้น สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรียุติธรรม ได้เรียก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เข้าพบ แว่วว่าเนื้อหาสาระสำคัญที่คล้ายจะเป็นข้อสั่งการให้สำรวจตัวเลขอดีตข้าราชการตำรวจในดีเอสไอ 118 คน จากอัตรากำลัง 1,300 คน โอนตัวกลับสตช.ทั้งหมด โดยรัฐบาลจะไปตั้งแท่งสอบสวนเอาไว้ให้ที่ สตช.

               สุดท้ายทางออกจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้ แต่งานนี้ดีเอสไอซึ่งก่อตั้งมา 14 ปี ก็คงไม่นั่งนิ่งให้ถูกยุบหน่วยทิ้งไปง่ายๆ เบื้องต้นได้เตรียมนำเสนอข้อมูลการปฏิรูปดีเอสไอต่อรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นองค์กรถูกปฏิรูปมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  เป็นรัฐมนตรียุติธรรม

          ปฏิรูปตำรวจ ..หวยออกที่“ดีเอสไอ”

              เริ่มต้นจากการปฏิรูปการสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีความผิดแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 (1) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งกรมในปี 2547 จนถึง2553 โดยขณะนั้นกำหนดเส้นแบ่งความเป็น“คดีพิเศษ”ในเชิงปริมาณ ตามจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหาย เช่น ต้องมีผู้เสียหายมากกว่า 100 คนขึ้นไป หรือมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ต่อมา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เห็นว่าการกำหนดเชิงปริมาณไม่ตอบโจทย์ความเป็น“คดีพิเศษ”ในแง่ของอาชญากรรมที่สลับซับซ้อนยากต่อการสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีปกติ หรือเป็นอาชญากรรมพิเศษที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จึงเสนอต่อบอร์ด กคพ. ครั้งที่ 5/2553 ให้กำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนคดีพิเศษใหม่

             โดยการรับสอบสวนคดีพิเศษ ต้องอธิบายได้ตามลักษณะ 5 ด้านดังนี้ (ก) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ (ข) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ (ค) คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน (จ) คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ต้องสงสัยว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา

            ต่อมาในยุคของ พล.อ.ไพบูลย์ เห็นว่า การบริหารงานคดียังมีปัญหาในแง่อำนาจในการใช้ดุลพินิจรับสอบสวนคดีของอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งกฎหมายเดิมในช่วงก่อนปี 2557 อธิบดีดีเอสไอมีอำนาจโดยลำพัง จึงเป็นช่องว่างให้มีการแทรกแซงสั่งการตามสายการบังคับบัญชาได้ นำไปสู่การรับคดีที่ไม่สมควรเป็นคดีพิเศษไว้สอบสวน ในครั้งนั้นจึงมีการปฏิรูปใหญ่ภายในดีเอสไอเพื่อลดอำนาจอธิบดีดีเอสไอ และวางมาตรฐานการรับสอบสวนคดีพิเศษใหม่ ยกระเบียบว่าด้วยการกลั่นกรองการรับคดีพิเศษ

            ซึ่งกำหนดให้ทุกคดีเริ่มต้นนับหนึ่งจากการสืบสวนว่า คดีที่มีการร้องทุกข์ให้รับเป็นคดีพิเศษนั้นเข้าองค์ประกอบ ก-จ หรือไม่ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการรับคดี ที่มีรองอธิบดีดีเอสไอและผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษในแต่ละด้าน ร่วมกับกองบริหารคดีพิเศษ ได้พิจารณาร่วมกันว่าสมควรรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ก่อนเสนอให้อธิบดีดีเอสไอมีคำสั่ง

            ส่วนการรับสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นคดีอาญาอื่นที่ไม่ได้กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งในช่วง 3 ปีเศษของรัฐบาล คสช. บอร์ด กคพ.มีมติรับคดีพิเศษเพียง 16 เรื่องเท่านั้น

               ปฏิรูปตำรวจ ..หวยออกที่“ดีเอสไอ”

            ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2560  มาตรา 258(2) ระบุว่า ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม โดยปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม  ซึ่งในระบบงานสอบสวนของดีเอสไอในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานเดียวที่มีอัยการร่วมสอบสวนคดีตั้งแต่เริ่มต้นและสอบสวนในรูปของคณะพนักงานสอบสวน ไม่มีใครมีอำนาจชี้ขาดสำนวนเพียงลำพัง

         ดังนั้น ข้อเสนอให้ยุบรวมดีเอสไอไปอยู่กับสตช.หรือให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของอัยการ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 หรือไม่ เพราะการย้ายเข้าไปเป็นหน่วยงานในกำกับเดียวกัน เป็นการทำลายหลักการถ่วงดุลและคานน้ำหนักลงทันที

         มาถึงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุบทิ้งดีเอสไอ หรือปฏิรูปให้ไปอยู่ใต้สังกัดของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงแนวคิดในการจัดตั้งสำนักการสอบสวนแห่งชาติ แยกงานสอบสวนออกจากงานจับกุมปราบปราม ซึ่งทุกโมเดลมีความเป็นไปได้ทั้งหมด แต่ทว่าฝ่ายตำรวจคงไม่ยอมปล่อยให้งานสอบสวนหลุดจากมือไปง่ายๆ “หวยล็อค” จึงอาจมาออกที่ดีเอสไอ อย่างน้อยให้มีผลงานที่ “รัฐบาล คสช.” พอคุยได้อ้อมแอ้มว่า ปฏิรูปสำเร็จ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ