คอลัมนิสต์

จะกลับมาใหม่... ‘บิ๊กตู่’ อยู่ให้เป็น!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

1 ปี จากนี้ไป “บิ๊กตู่” จะอยู่อย่างไร เพื่อให้กลับมาเป็นนายกฯแบบมีแรงเสียดทานน้อยที่สุด


               ถึงนาทีนี้คงไม่มีใครไม่คิดแล้วละว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะไม่กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง คำถามจึงอยู่ที่ว่า

               “บิ๊กตู่” จะรักษาเนื้อรักษาตัวในช่วง 1 ปีที่เหลือ เพื่อให้กลับมาเป็นนายกฯ แบบมีแรงเสียดทานน้อยที่สุด ได้อย่างไร

               จนถึงเวลาปิดต้นฉบับนี้ รายชื่อ “ครม.บิ๊กตู่ 5” แบบเป็นทางการยังไม่คลอดออกมา แต่จาก “โผ” ที่ปรากฏออกมาก็ชัดเจนว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้ ไม่ใช่การปรับแบบ “พลิกโฉม” เป็นแค่การขยับปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเท่านั้น

               การปรับ ครม. ครั้งนี้ จึงไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

               ภาพรวมของรัฐบาลจึงจะยังอยู่ในภาวะเดิม ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ สภาพเศรษฐกิจยังจะเป็นตัวฉุดคะแนนรัฐบาลให้อยู่ในภาวะทรงๆ ทรุดๆ ขณะที่แรงกระเพื่อมทางการเมืองจะมีมากขึ้นๆ

               จึงกลับมาสู่คำถามที่ว่าในภาวะที่ยังมองไม่เห็น “แรงบวก” นี้ “บิ๊กตู่” จะอยู่อย่างไร?

               หากเป็นการประคองตัวอยู่เพื่อให้ถึงวันเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้มีรัฐบาลที่มา “โดยอิสระ” แล้ว คสช. ก็กลับบ้านไป ก็คงไม่ยาก แต่เพราะ “ไม่ใช่” จึงกลายเป็นเรื่อง “ไม่ง่าย”

               ในด้านเศรษฐกิจนั้น ชัดเจนว่า “บิ๊กตู่” ยังคงวางใจให้เป็นภารกิจของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ในการวางนโยบายและลงมือปฏิบัติ

               จากวันที่ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจให้ “สมคิด” ผลักดัน “ประชารัฐ” ออกมาขาย ผ่านมาประมาณ 2 ปี สิ่งที่เด่นชัดมากขึ้นๆ คือ “คำถาม” ที่มีต่อแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล ว่าใครได้ประโยชน์?

               สิ่งที่ปรากฏออกมา เหมือนจะทำให้ “เศรษฐกิจดีแบบกระจุก” โดยเฉพาะกับกลุ่มบริษัทเอกชนรายใหญ่ๆ ดูจะ “แฮปปี้” กับนโยบายนี้

               ขณะที่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และกลุ่มประชาชนรากหญ้า อยู่ในภาวะลำบาก ข้าวของขายไม่ได้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

               รัฐบาลพยายามแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการทุ่มเงินไปให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรงผ่าน “บัตรคนจน” เติมเงินใส่เข้าไป เริ่มจากให้เป็นค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภครายเดือน และคาดว่าน่าจะยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่จะฉีดเงินผ่านบัตรนี้ ล่าสุดที่แพลมออกมา คือ ค่าโทรศัพท์รายเดือน

               แน่นอน คำถามก็จะวกกลับมาอีกว่า มี “ใคร” ได้ประโยชน์แฝงจากเงินที่อัดฉีดลงไปนี้หรือไม่

               หากเป็นไปตาม “แผน” ของฝั่งสนับสนุน “บิ๊กตู่” การอัดฉีดงบประมาณตรงไปที่ “กลุ่มรากหญ้า” มีเป้าหมายเพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้

               แต่ด้วยความที่ “การให้เปล่า” แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้มีอะไรประทับใจเป็นพิเศษมากไปกว่าที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เคยทำไว้ การจะดึงให้ “ชาวบ้าน” หันมาสนับสนุนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะได้ก็แค่ลดเสียงโจมตีจากคนกลุ่มนี้เท่านั้น

               ระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล ความท้าทายในแง่เศรษฐกิจ คือ จะดูแลประคับประคองคนค้าขายรายย่อย และกลุ่มประชาชนที่ค่อนไปทางผู้มีรายได้น้อยให้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร

               นั่นคือ ด้านเศรษฐกิจ

               แต่จุดสำคัญที่สุด ที่จะส่งผลว่า “บิ๊กตู่” จะกลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 ในสภาพไหน น่าจะอยู่สถานการณ์ทางด้านการเมืองที่ตอนนี้กำลังบีบเข้ามาๆ

               ถึงแม้ว่า “บิ๊กตู่” จะได้เปรียบ “พรรค” อื่น เพราะมี “พรรควุฒิสภา 250 คน” เป็นฐานอยู่แล้ว แต่การมีเฉพาะ 250 เสียงจาก ส.ว. ก็ไม่สามารถ “ค้ำบัลลังก์” ให้รัฐบาลอยู่ได้

               นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ฝั่ง คสช. ต้องคิดถึงเรื่อง “พรรคนอมินี”

               คำถาม 6 ข้อ ของสะท้อนความคิดของ “บิ๊กตู่” ได้เป็นอย่างดี

               นอกจากแนวคิด “ตั้งพรรค” ขึ้นมาเอง ซึ่งดูเป็นแนวทางที่โฉ่งฉ่าง และเสี่ยงต่อเสถียรภาพของ “บิ๊กตู่” (สะท้อนจากคำถามข้อที่ 1) อีกแนวที่น่าจะอยู่ในความคิดของฝั่งนี้ คือ การสนับสนุนพรรคเดิมที่มีอยู่ (จากคำถามข้อที่ 2) เพื่อดึงมาเป็นพวก

               เหลียวดูซ้ายขวา ตอนนี้มีพรรคไหนที่จะเป็นพรรคให้ คสช. ดึงมาเป็นพวกได้แบบ 100% บ้าง?

               หากเป็นก่อนหน้านี้ อาจตอบกันว่า คือ “พรรคภูมิใจไทย” แต่ถึงวันนี้บอกเลยว่า ไม่ใช่แล้ว

               “อนุทิน ชาญวีรกุล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงอาการชัดเจนทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ว่าเขาพร้อมจะลงแข่งชิงตำแหน่งนายกฯ ด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าเขา “มีโอกาส”

               ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า  “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” จะเข้าไปเทคโอเวอร์ แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ

               เมื่อวางใจที่ “ภูมิใจไทย” ไม่ได้ จึงมีรายงานข่าวว่าพรรคสำรองต่อไปที่ถูกหมายตาคือ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่วันนี้ไม่มี “บรรหาร ศิลปอาชา” แล้ว

               ภาพที่พลพรรคแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ขนกันไปต้อนรับและพูดจาปราศรัย “โชว์หวาน” ผ่านสาธารณะเมื่อเดือนก่อน ตอนที่ “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่สุพรรณบุรี ยังเป็นที่จดจำ

               นั่นคือด้านหนึ่งของการเดินเกมการเมืองของฝั่ง คสช.

               อีกส่วนที่ต้องจับตา คือ “การปะทะ” กับนักการเมืองของ “บิ๊กตู่”

               ประเด็นที่จะก่อให้เกิดแรงปะทะ นอกจากที่เกิดจากเสียงเรียกร้องให้ปลดล็อกนักการเมืองแล้ว ก็จะมี “ประเด็นจร” อย่างเรื่อง 6 คำถาม ที่ “เรียกแขก” ทันทีที่ปล่อยออกมา

               นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า หาก “บิ๊กตู่” คิดจะกลับมา ควรจะต้อง รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี อย่าทำให้นักการเมืองคิดว่า “บิ๊กตู่” คือศัตรูหมายเลข 1

               ทั้งนี้ หากสำรวจศัตรูของพรรคการเมืองต่างๆ ตอนนี้ สำหรับพรรคเพื่อไทย ศัตรูหมายเลข 1 น่าจะเป็น คสช. หมายเลข 2 คือ ประชาธิปัตย์

               ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ศัตรูหมายเลข 1 ตอนนี้น่าจะยังเป็นพรรคเพื่อไทย แต่จะเห็นได้ว่าช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่าง คสช. กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีรอยร้าวมากขึ้น คนในพรรคตั้งแต่หัวแถวถึงหางแถวออกมาตั้งคำถาม ถล่ม คสช. กันบ่อยขึ้น

               “บิ๊กตู่ ต้องบริหารความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองต่างๆ ให้ดี ต้องบริหารความขัดแย้งให้ได้ อย่าทำตัวเป็นศัตรูกับพรรคหนึ่งพรรคใดอย่างชัดเจน ต้องทำตัวเป็นกรรมการ อย่าลงไปเป็นคู่ขัดแย้งด้วย เพราะถ้าเป็นศัตรูกับนักการเมือง หนทางในการกลับมาของบิ๊กตู่ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น” นักวิเคราะห์การเมือง มอง

               “บิ๊กตู่” จะต้องอยู่แบบร้อนๆ หรือ จะได้กลับมาแบบเย็นๆ ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า 1 ปี จากนี้ไป “บิ๊กตู่” จะ “อยู่เป็น” แค่ไหน??

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ