คอลัมนิสต์

ส่องว่าที่ 7 อรหันต์กกต.ชุดใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ กกต. เดิมต้องถูกเซ็ตซีโร่ จึงต้องมีการสรรหากันใหม่ยกชุด และคราวนี้เพิ่มจาก 5 เป็น 7 มาดูกันใครเป็นตัวเต็ง

หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศใช้ ทำให้กกต.ชุดเก่าต้องโดนเซตซีโร่ออกไปทั้งหมด คณะกรรมการสรรหา กกต. ต้องดำเนินการสรรหาใหม่ทั้งคณะ  ตามกฎหมายกำหนดให้ กกต. มีจำนวน 7 คน โดย 5 คนมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และอีก 2 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและมีกำหนดเดดไลน์ที่ต้องได้ 7 อรหันต์กกต.ภายในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

คณะกรรมการสรรหาได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม จนถึง 10 พฤศจิกายน ปรากฏว่า มีผู้สมัครถึง 41 คน ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะต้องสกรีนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จากนั้นต้องส่งรายชื่อให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยสนช.จะมีเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน คาดว่าจะได้เห็นโฉมหน้า 7 เสือกกต.ชุดใหม่ต้นปี 2561

จากวันนี้ถึง 12 ธันวาคม คณะกรรมการสรรหามีเวลาไม่ถึงเดือนที่จะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เมื่อตรวจแถวผู้สมัคร กกต.ทั้งหมด 41 คนก็ต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยมีผู้สมัครที่จะสร้างความฮือฮาให้แก่สังคมได้ แม้ผู้สมัครจะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร แต่ที่น่าจับตามมองว่ามีสิทธิ์จะเข้าวิน ก็เช่น  “ประชา เตรัตน์” ที่ตอนนี้เป็นคณะทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 

“ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ” ที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายนุรักษ์ มาประณีต) และเคยเรียนหลักสูตรอบรมเพื่อหลักนิติธรรมประชาธิปไตย (นธป.รุ่น 1) รุ่นเดียวกับ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 

“เกษม เกษมปัญญา” ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถือเป็นผู้สมัครจากสายตุลาการคนเดียวในรอบนี้

“ธวัชชัย ไทยเขียว” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมอดีตรองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรมและมือประสานม็อบต่างๆ

นอกจากนั้ยังมี “พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า” อดีตอธิบดีกรมที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เป็นสิงห์ทอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่เมืองพนมรุ้ง

“พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือบิ๊กย้อย อดีตสปท. เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 30 สมัยดำรงตำแหน่งได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีการทุจริตโครงการจำนำข้าว ผ่านการทำคดีสำคัญๆ มากมาย ถือเป็นตำรวจสายสืบสวนปราบปรามมือดีคนหนึ่ง

“พล.ท.ศานิต สร้างสมวงษ์” อดีตหัวหน้าศาลทหารสูงสุด ซึ่งลงสมัครชิงเก้าอี้องค์กรอิสระหลายครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครทั้งหมด จะต้องผ่านด่านแรกให้ได้ก่อนคือ คุณสมบัติต้องครบและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่าขาดคุณสมบัติก็ต้อง "ปิ๋ว” ไปตั้งแต่รอบแรก เพราะจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญถือว่า ครั้งนี้กำหนดเข้มและสูง อาทิ ต้องรับราชการ เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี

เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจำกัดมหาชนแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี เป็นต้น

แค่คุณสมบัตินี้ผู้สมัครที่จะฝ่าด่านไปยังรอบสองก็แทบจะกระอักแล้ว ผู้สมัครที่เห็นว่าเป็นตัวเต็งอาจตกม้าตายตั้งแต่รอบแรก เพราะขาดคุณสมบัติ หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับเปิดช่องให้คณะกรรมการสรรหาสามารถ "ทาบ” คนนอกเข้ามาสมัครเป็น กกต.ได้ ซึ่งดูแล้วก็มีเปอร์เซ็นต์สูง

ขณะที่ว่าที่ กกต.อีก 2 คนที่จะมาจากการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา “ชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา ได้นัดประชุมใหญ่วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งตัวแทนมา 2 คน เป็นตัวเลือกให้กรรมการสรรหา

4 ธันวาคมนี้ คณะกรรมการสรรหาได้นัดประชุมอีกครั้งเพื่อ พิจารณาและวินิจฉัยคุณสมบัติ ประวัติ และลักษณะต้องห้าม รวมถึงพฤติการณ์โดยทั่วไปของผู้สมัคร เมื่อถึงวันนี้ก็น่าจะรู้ในเบื้องต้นแล้วในจำนวน 41 คน จะมีใครที่ขาดคุณสมบัติตกรอบไปตั้งแต่รอบแรก จากนั้นกรรมการสรรหาก็เฟ้น กกต.ชุดใหม่จำนวน 5 คน บวกกับอีก 2 คน ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมาส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

7 เสือกกต.ชุดใหม่นี้จะเป็นชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ปี 57 จึงถือว่า เป็นภาระหน้าที่ที่หนักหน่วง ที่จะต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น โฉมหน้า 7 กตต.เป็นที่ยอมรับจากภาคสังคมและการเมือง ไม่ใช่ถูกมองว่า เป็น 7 กกต.ที่ถูกวางเพื่อหมากการเมือง

/////////////////////////////////////

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ