คอลัมนิสต์

ปฏิรูปที่ดินเพื่อ “คนจนเมือง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬา

 

          เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นวันที่อยู่อาศัยสากล กลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมตัวกันยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยแก่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ยูเอ็นกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยเคารพต่อสิทธิที่อยู่อาศัยของคนยากจนและมีมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องคนจนเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

          ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง หรือคนในชุมชนแออัด นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่ในสังคมมายาวนาน ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เดือดร้อนด้านสิทธิที่อยู่อาศัย ก็ได้เคลื่อนไหวกันมาหลายครั้ง แต่ปัญหาคนจนเมือง ก็มิใช่ว่าจะแก้ไขได้โดยง่าย

          รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมานาน สาเหตุเริ่มต้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบท คนชนบทต้องเข้ามาทำงานในเมืองเพื่อหารายได้ เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น ก็กลายเป็นชุมชนแออัดหรือที่เรียกว่าสลัม

          “ปัจจุบันเรามีชุมชนแออัดมากกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศไทย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีลด หลายแห่งมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาไล่รื้อเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน เพราะทำให้ไม่มีที่อยู่ แต่ถ้าย้อนกลับไป สลัมเองก็มีพัฒนาการของปัญหาเรื่อยๆ มาตั้งแต่อดีต”

          อาจารย์ประภาสกล่าวว่า สลัมในยุคแรกๆ มีปัญหาด้านสาธารณูปโภค ไม่มีน้ำ ไฟฟ้าใช้ สภาพชุมชนมีความไม่ปลอดภัย ถึงขั้นเลวร้าย ผู้คนมองว่าสลัมเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เป็นแหล่งที่มีปัญหายาเสพติด จึงมีหน่วยงานหลายแห่งเข้าไปช่วยเหลือ จนปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง

          “เดี๋ยวนี้การเข้าถึงสาธารณูปโภคไม่ใช่ปัญหาสำคัญ สภาพชีวิตคนในสลัมก็แทบจะไม่ได้ต่างจากพวกเราชนชั้นกลาง คนจน คนไร้การศึกษา คนติดยาก็น้อยลงมาก แต่ปัญหาที่เจอทุกวันนี้คือเรื่องไล่รื้อ” รศ.ดร.ประภาสกล่าว

          การไล่รื้อ เกิดขึ้นเนื่องจากชุมชนแออัดเหล่านี้เข้าไปจับจองพื้นที่ว่างปล่อยรกร้าง ตั้งกันเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมานานหลายสิบปี พื้นที่ที่เข้าไปจับจองมีทั้งที่ดินของภาครัฐและเอกชน เช่น ท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 60 ปี

          อาจารย์ประภาสระบุว่า ปัญหาการไล่รื้อที่ดิน ที่กลายเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะเป็นการไล่รื้อขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อหลายครัวเรือน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เน้นการลงทุนด้านเศรษฐกิจ การลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ด้านระบบขนส่ง ระบบราง พัฒนาระบบคูคลอง การระบายน้ำ การลงทุนด้านศูนย์การค้า ก็ยิ่งทำให้มีการไล่รื้อมากขึ้น

          ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้านต่างๆ เช่น มีการเคหะแห่งชาติ มีแผนบ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทร รวมถึงเงินชดเชยแก่ครัวเรือนที่ถูกไล่รื้อ แต่ผลจากการวิจัยพบว่ายังไม่เพียงพอต่อผู้ประสบปัญหา ที่ต้องหาที่อยู่ใหม่

          “ผมเคยคุยกับพี่น้องในเครือข่าย เขาบอกว่าพอถูกไล่ก็ต้องย้ายไปอยู่ชานเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่สร้างรายได้ บางพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ก็ต้องไปต่อไฟมาเอง เงินที่รัฐให้ก็ไม่พอสร้างบ้าน ได้แต่ค่าที่ดิน คือในเชิงปฏิบัติมีปัญหา เพราะรัฐไม่ใส่ใจกับปัญหานี้เท่าการพัฒนาเศรษฐกิจ”

          การแก้ปัญหาที่ต้องคำนึงถึง อย่างที่อาจารย์ประภาสเน้นย้ำ คือต้องมีการปฏิรูปที่ดิน เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือการถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ที่คนรวย คนจนเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดิน มีคนเพียงร้อยละ 10 ของประเทศ ถือครองที่ดินทั้งประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 80

          “มันไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน หรือมีกฎหมายมาจำกัดการถือที่ดิน กลไกเชิงกฎหมายการเสียภาษีที่ทำให้คนที่มีที่ดินมากๆ ต้องเสียภาษีมากๆ ก็ไม่มี ทุกวันนี้เลยมีแต่นโยบายเชิงสวัสดิการสังคมสงเคราะห์คนไร้บ้าน คนจนเมือง ซึ่งมันไม่พอ” อาจารย์ประภาสกล่าว พร้อมย้ำว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในประเทศไทย

          ทั้งนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกว่า ควรมีกลไกแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบาย คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งล่าสุดได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี พ.ศ. 2559-2568 เน้นส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน โดยจะมีการร่วมมือกันขององค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน แต่จะเป็นไปตามแผนหรือไม่คงต้องติดตามดูกันต่อไป

          แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าที่อาจารย์ประภาสย้ำคือนโยบายการใช้ที่ดิน ที่ต้องชัดเจน มีการปฏิบัติจริง เพื่อให้คนจนเมืองสามารถเข้าถึงที่ดิน และมีที่อยู่อาศัยที่ดีให้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ