คอลัมนิสต์

ม.44 ดาบอาญาสิทธิ์ คู่กาย “ลุงตู่” : ทั้งฟาดฟัน ทั้งป้องกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ม. 44 "ดาบอาญาสิทธิ์" ประจำตัวนายกฯ ซึ่งถูกใช้บ่อยครั้งและพิสูจน์ทราบแล้วว่าได้ผลชะงัดนัก จนเมื่อใดที่ไม่ใช้ก็มักจะเกิดปัญหา แต่เมื่อใช่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา

รัฐบาลอื่นคงมองค้อนปะหลับปะเหลือก อิจฉา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยิ่งนัก ที่มี “ดาบอาญาสิทธิ์” อย่างมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นอำนาจที่ให้สิทธิ์ขาดชนิดครอบจักรวาลแก่ “หัวหน้า คสช.” โดยปราศจากความรับผิดใดๆ ในภายหลัง ซ้ำคำสั่งที่ออกตามมาตรานี้ ยังมีอำนาจเหนือทุกหน่วยงาน และมีสถานะเป็นกฎหมายอีกด้วย 

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

นี่คือเนื้อความที่บัญญัติเอาไว้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยหากแบ่งจะพบว่ามีสองเรื่องสำคัญคือ 1.คำสั่งดังกล่าวถือว่ามีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แปลได้ว่ามีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งสาม และ 2.ให้คำสั่งที่ออกมาเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ทำให้การออกคำสั่งตามมาตรานี้ ไม่ต้องรับผิดชอบผลทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่า นิรโทษกรรมทันทีที่ใช้กฎหมาย

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่ศาลตัดสินไม่รับฟ้อง เพราะถือว่าคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้ดูเหมือนว่า “ดาบอาญาสิทธิ์” นี้กลายเป็นยาสามัญประจำบ้านของ “พล.อ.ประยุทธ์" ผลงานของรัฐบาลที่มีการโฆษณาว่าเป็นผลมาจากการใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ก็เช่นการแก้ปัญหามาตรฐานการบิน ซึ่งทำให้ไทยถูกไอเคโอ (ICAO) ปลดธงแดง หรือการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

แต่หลายครั้งก็ถูกนำมาใช้ทางการเมืองภายใต้วาทกรรมความมั่นคง อาทิ การตั้งให้ทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการควบคุมเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง แน่นอนว่าจะดูย้อนแย้งกับเรื่องทางกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกอย่างก็ได้รับการรับรองให้ถูกต้องไปแล้ว

หลายครั้งถูกนำมาแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ หรือความขัดแย้งของหน่วยงาน ที่หากใช้กฎหมายธรรมดาอาจต้องใช้เวลานาน หรือติดขัดในเรื่องต่างๆ แต่อำนาจตามมาตรานี้เรียกได้ว่าเหมือนเป็น อาวุธที่ใช้เปิดช่องทางที่ตันให้มีทางออกแบบทะลุกลางปล้อง

การยุบเลิก หรือตั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ปกติต้องทำโดยกฎหมาย ก็ถูกตัดทางลัดโดยมาตรานี้ อาทิ การยุบสภาพัฒนาการเมือง การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ การแต่งตั้งอธิการบดี หรืออย่างล่าสุดการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำ ที่หลังจากชักเข้าชักออกอยู่หลายครั้งสุดท้ายก็ไม่พ้นต้องถึงมือ “ม.44”

แน่นอนว่าทุกเรื่องไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย เพราะมักถูกตั้งคำถามเรื่องความรอบคอบ และความถูกต้องตามกระบวนการอันชอบธรรม เพราะเมื่อถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 ก็หมายความว่ามีสิ่งที่ทำไม่ได้ตามกฎหมายเดิมอยู่

หลายครั้ง ถูกนำมาใช้ในการโยกย้ายข้าราชการ และแน่นอนที่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะการโยกย้ายในหลายๆ ตำแหน่งนั้นเป็นเพียงเพราะข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียน โดยเบื้องต้นมักจะใช้ในกรณีการร้องเรียนเรื่องทุจริต ที่ตรวจสอบโดย ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

และเช่นเคยที่ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีคนเห็นด้วย เพราะเมื่อไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนแต่ผู้ที่ถูกโยกย้ายคล้ายถูกตีตราว่า “ทุจริต” หรือ “ไร้ประสิทธิภาพ” ย่อมต้องไม่พอใจ แต่ไม่อาจจะเอาผิดได้ และเป็นจำนวนมากที่สุดท้ายแล้วหาหลักฐานอะไรไม่ได้ แต่เจ้าตัวก็ต้องกระเด็นจากตำแหน่งไปแล้ว

เอาเป็นว่าถ้า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ตามระบบปกติรับรองว่ามีเรื่องขึ้นศาลชนิดรายวัน ทั้งศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ แต่นี่เป็นเพราะมี “ดาบอาญาสิทธิ์” ทำให้เขาทำทุกอย่างได้อย่างลื่นไหลไร้กังวลเพราะนอกจากจะทันใจแล้ว ยังไม่ต้องรับผิดหรือมีปัญหาถูกฟ้องในอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีต้องตกเก้าอี้เพราะเรื่องแบบนี้มาแล้ว

และกับครั้งล่าสุดก็เช่นกัน ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกใช้มาตรา 44 ในการปลด “วรานนท์ ปีติวรรณ” ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน และเรื่องก็ลุกลามมาถึงการที่ “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตัดสินใจลาออก ซึ่งว่ากันว่าเกิดจากเหตุผลดังกล่าว เพราะการใช้อำนาจครั้งนี้เป็นการ “ล้วงลูก” การทำงานของเจ้ากระทรวง 

คำถามคือ ทำไมการปลด “อธิบดีกรมการจัดหางาน” ครั้งนี้จึงต้องใช้มาตรา 44 เพราะตามปกติแล้วการปลด โยก ย้าย ระดับอธิบดี ใช้เพียงมติคณะรัฐมนตรีก็สามารถทำได้แล้ว แต่เหตุใดจึงเลือกใช้เส้นทางอื่น

เหตุผลมีสองประการ ประการแรก แปลว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่เห็นด้วย เพราะการจะออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีนั้นต้องนำเสนอโดยต้นสังกัด เช่นในกรณีนี้หากจะปลด “วรานนท์” คนที่จะเสนอสู่ที่ประชุม ครม. คือ “พล.อ.ศิริชัย” จึงแปลความหมายได้เป็นสองทางว่า “พล.อ.ศิริชัย” อาจไม่เห็นด้วย หรือไม่เขาก็ไม่รับรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ซึ่งน่าจะเป็นอย่างหลัง

ประการที่สอง การปลดย้ายครั้งนี้ อาจมีเหตุผลที่ไม่เพียงพอ และที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นว่า หากใช้อำนาจตามปกติจะเป็นเช่นไร  ถ้ายังนึกไม่ออกให้นึกถึงกรณีการใช้อำนาจตามมติ ครม. ปลด “พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” พ้นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา

“พงศ์พร” นั้นมาสู่ตำแหน่งโดยมาตรา 44 แต่ตอนที่จะปลดเขาออกจากตำแหน่งกลับใช้มติครม.

อย่างที่เคยบอกกันไว้ตั้งแต่แรกว่า ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์” มักใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแต่งตั้ง ปลด หรือโยกย้าย ทำให้ไม่มีใครสามารถโต้แย้งแม้แต่ช่องทางใดๆ แต่เมื่อเขาปลด “พงศ์พร” โดยมติ ครม. จึงเป็นครั้งแรกที่เห็นคนถูกปลดลุกขึ้นสู้ โดยเขาได้ทำหนังสือแย้งว่าคำสั่งปลดดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ถูกต้อง

สุดท้าย ครม.ต้องกลับมติใหม่ คืนตำแหน่งให้ “พงศ์พร” ซึ่งทำให้รัฐบาลเสียรังวัดไปพอตัว จากกรณีนั้นเอง ทำให้ “บิ๊กตู่” น่าที่จะเชื่อใจ และเลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการทำงานมากกว่า เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจจะเกิดปัญหาตามมามากมาย 

นี่จึงเป็นเหตุให้ “บิ๊กตู่” เลือกใช้ช่องทางนี้ในการปลด “วรานนท์”   แต่ก็ใช่ทุกอย่างจะราบรื่น เพราะเป็นการแสดงชัดว่ากำลัง “ล้วงลูก” จนทำให้เกิดรอยร้าวในคณะรัฐมนตรี  สร้างบาดแผลให้แก่รัฐบาลที่กำลังอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง

ต้องบอกว่าการลาออกของ “พล.อ.ศิริชัย” อาจไม่ส่งผลต่อรัฐบาลที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นพระเอก  แต่การปล่อยให้มีรอยร้าวเช่นนี้บ่อยๆ ไม่ดีแน่  เพราะแม้มาตรา 44 จะใช้ง่าย สะดวกมือ ทรงประสิทธิภาพ แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ

 

 -----

อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ