คอลัมนิสต์

แพงจริงมั้ย? ตรวจจับความเร็ว เครื่องละ 9 แสน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพงจริงมั้ย? ตรวจจับความเร็ว เครื่องละ 9 แสน

                  กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ ภายหลังมีข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.60 เห็นชอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดหา "เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา" เพื่อใช้ในการป้องกันและป้องปรามการขับขี่ยวดยานด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการลดอุบัติเหตุทางถนน 

                 ตามข่าวระบุว่าจะจัดซื้อ "เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา" นี้จำนวนถึง 1,064 เครื่อง ราคาเครื่องละ 900,000 บาท ใช้งบประมาณรวมถึง 957,600,000 บาท

                 หลังมีข่าวออกมา ก็ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะราคา "เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา" ที่ระบุว่าเครื่องละ 900,000 บาท ว่าทำไมมันถึงแพงหูฉี่ขนาดนี้

                 วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในเฟซบุ๊ค 2 ประเด็น คือ 1.ราคาเครื่องแพงไปหรือไม่ เพราะราคาตามท้องตลาดอยู่ที่เครื่องละ 130,000 บาทเท่านั้น 2.เป็นการลักไก่เสนอ ครม.และอนุมัติช่วงที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ หรือไม่ เพราะโครงการนี้เสนอเข้า ครม.มาหลายรอบ หลายปีแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุมัติ เพราะถูกสำนักงบประมาณท้วงติงว่าราคาแพงเกินไป

                   ประเด็นเรื่องราคา มีเอกสารที่ทีมข่าวฯได้รับมา เป็นหนังสือของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เสนอโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา โดยเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุม ครม.

                  หนังสือนี้มีความยาว 6 หน้า อธิบายถึงความเป็นมาของโครงการ ซึ่งมีการเสนอมานานหลายปีแล้ว โดยอ้างความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องการ "เครื่องตรวจจับความเร็ว" ทั้งแบบ "ติดตั้ง" และแบบ "พกพา" ซึ่งน่าสังเกตตรงที่มีราคาเท่ากัน คือเครื่องละ 900,000 บาท และสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้ ปภ.เป็นหน่วยจัดซื้อ

                โครงการนี้ถูกเสนอพร้อมกับเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่โครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วถูกตีตกตลอด เนื่องจากสำนักงบประมาณท้วงติงว่าราคาแพงเกินไป กระทั่งปี 2559 ครม.อนุมัติให้จัดซื้อเฉพาะเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ จำนวน 2,930 เครื่อง งบประมาณ 234,400,000 บาท ตกราคาเครื่องละประมาณ 80,000 บาท

                 จากนั้นยังมีความพยายามเสนอจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วซ้ำอีก โดยอ้างมติคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 ส.ค.59 แต่ก็ถูกสำนักงบประมาณทักท้วง โดยให้ ปภ.ไปพิจารณาแผนความต้องการและแผนการจัดสรรเครื่องให้ชัดเจน ตลอดจนคุณลักษณะเฉพาะและราคาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่า

                ต่อมา ปภ.ได้ไปทบทวนราคากลางจากผู้ค้าในท้องตลาด พบว่าราคาอยู่ที่เครื่องละ 675,000 บาท ถูกกว่าเดิมที่ระบุว่าเครื่องละ 900,000 บาท ถึงเครื่องละ 225,000 บาท จึงมีการเสนอโครงการอีกครั้ง คราวนี้สำนักงบประมาณมีหนังสือลงวันที่ 11 ก.ย.60 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ใช้ "งบกลาง" จัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา (ไม่มีแบบติดตั้ง) จำนวน 849 เครื่อง ใช้งบประมาณ 573,075,000 บาท

                แต่น่าแปลกที่มีข่าวเมื่อวันที่ 10 ต.ค.60 อ้างว่า ครม.อนุมัติจริงในราคาเครื่องละ 900,000 บาท จำนวนถึง 1,064 เครื่อง ใช้งบประมาณรวมถึง 957,600,000 บาท ราคาต่อเครื่องเท่านี้ต้องบอกว่าแพงแน่ๆ เพราะตามหนังสือของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนที่เสนอเข้า ครม. ก็อ้างข้อมูล ปภ.ยอมรับว่าราคาเครื่องถูกลงแล้ว เหลือ 675,000 บาท ฉะนั้นหากครม.อนุมัติในราคาเครื่องละ 900,000 บาทจริง ก็ต้องถือว่าผิดสังเกตอย่างมาก

                หลังจากมีเสียงวิจารณ์ออกมา นักข่าวก็ไปถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ปรากฏว่า "บิ๊กป๊อก" ไม่ได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า ครม.อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแล้ว แต่อ้างว่า                       "รัฐบาลจะให้ซื้อจำนวนเท่าไร ผมไม่ทราบ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ผม ต้องถามทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนราคาที่ซื้อต้องเป็นราคาที่ประกวดราคากัน แต่ผมไม่ทราบ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ผม ผมมีหน้าที่นำความต้องการไปเสนอคณะรัฐมนตรีเท่านั้น" พร้อมย้ำว่า การดำเนินการทุกขั้นตอน หากพบการกระทำไปในทางทุจริต ตนไม่เอาไว้แน่

               ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดิมเป็นอธิบดี ปภ.ในช่วงที่มีการเสนอโครงการเข้า ครม. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องราคาต้องมีการสำรวจจากหลาย ๆ บริษัท รวมถึงพิจารณาข้อมูลการจัดซื้อจากในอดีตที่ผ่านมาด้วย โดยที่มาของราคาจะต้องสมเหตุสมผลกับสมรรถนะของอุปกรณ์ และการจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้เป็นการจัดซื้อให้เฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่จัดซื้อให้ทุกส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถยืมไปใช้ได้ ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการจัดซื้อ เป็นเพียงขั้นตอนการเสนอว่ามีความจำเป็น และยังไม่ได้รับงบประมาณ หลังจากนี้จะต้องมีการประกวดราคาตามขั้นตอน
 
                 ล่าสุด อธิบดี ปภ. นายชยพล ธิติศักดิ์ ออกมาชี้แจงเพิ่มเติม โดยย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อ เป็นเพียงการได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่มอบหมายให้ ปภ.เป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดซื้อจัดหาตามระเบียบของทางราชการ ซึ่ง ปภ.อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการทีโออาร์ เพื่อจัดทำรายละเอียดและคุณลักษณะของเครื่องตรวจจับความเร็ว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ส่วนที่มีเอกสารระบุว่าเครื่องตรวจจับความเร็ว ราคาเครื่องละ 675,000 บาทนั้น เป็นราคากลางเบื้องต้นที่ได้สอบถามจากบริษัทผู้ค้าในท้องตลาด
 
                 สำหรับ "เครื่องตรวจจับความเร็ว" ที่อ้างว่า ปภ.จะจัดซื้อในราคาเครื่องละ 900,000 บาทนี้ มีข้อมูลหลุดออกมาว่าเป็นเครื่องตรวจจับความเร็วระบบแสงเลเซอร์แบบมือถือ สามารถบันทึกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายที่ชัดเจนของรถยนต์ได้พร้อมกัน และสามารถพิมพ์ผลออกทางเครื่องพิมพ์ได้ โดยตรวจจับความเร็วได้สูงถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

                  จากสเปคแบบนี้ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็น "สเปคเทพ" เกินไปหรือเปล่า เพราะไม่เคยมีรายงานรถยนต์บนท้องถนนในเมืองไทยวิ่งได้ด้วยความเร็วถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

                   คำถามคือหากราคานี้ไม่ได้มั่ว (ซึ่งจริงๆ แล้วก็น่าจะมั่ว เพราะ ปภ.บอกเองว่าปัจจุบันราคาเครื่องละ 675,000 บาท) ประเทศไทยมีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องให้ตำรวจถือเครื่องตรวจจับความเร็วเครื่องละเหยียบล้าน!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ