คอลัมนิสต์

เดินหน้า 5 คดี "ทักษิณ” สู่...หนีตลอดชีวิต?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจาก กม.วิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ทำให้ 5 คดีของ"ทักษิณ" เดินหน้าต่อไปได้ และอาจนำไปสู่การหนีตลอดชีวิต

             หลังจาก พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในบทเฉพาะกาล  มาตรา 69  ระบุว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่กระทบต่อการดําเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดําเนินการไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้ใช้บังคับ ส่วนการดําเนินการต่อไปให้ดําเนินการตาม พ.ร.ป.ฉบับนี้

            และในมาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยแต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจำเลย 

             จากผลของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้คนจับตามองไปที่คดีของ “ทักษิณ ชินวัตร ” ที่ศาลฎีกาแผกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวไว้หลายคดี  เนื่องจาก “ทักษิณ” หนีคดีไปในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกและศาลออกหมายจับเพื่อตามตัว“ทักษิณ” กลับมาดำเนินคดี  แต่เมื่อไม่ได้ตัว “ทักษิณ” คดีเหล่านั้นจึงไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542  (ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิม) ระบุว่า ต้องมีตัวจำเลยในนัดการพิจารณาคดีครั้งแรกเนื่องจากต้องสอบคำให้การจำเลย แต่เมื่อ พ.ร.ป. ฉบับนี้  ออกมา“ปลดล็อค” ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ จึงทำให้คดีของ “ทักษิณ” ที่จำหน่ายคดีชั่วคราว (พักไว้) สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ 

            ทั้งนี้มี  5 คดี ที่มีการฟ้อง “ทักษิณ” เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ  

            1. คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณ ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นในกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152,157 กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูล ชินวัตร โดยวันที่ 16 ก.ย. 51 ศาลสั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้ติดตามตัวมาในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเนื่องจาก“ทักษิณ”ไม่มาศาลและหนีคดีไป และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

           2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว( หวยบนดิน ) ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณ , คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

            กรณีที่ร่วมกันมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2546 ให้ดำเนินการ“โครงการออกสลากพิเศษ” ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 โดยการออกสลากได้ยกเว้นและลดหย่อนภาษี ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 และภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยถือว่าเป็นสลากการกุศล มติดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์ที่ร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหายด้วย รวมจำนวน 14,862.25 ล้านบาท

            โดยศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 26 ก.ย.51และมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายทักษิณ จำเลยที่ 1 และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้นำตัวมาพิจารณาคดี (ส่วนจำเลยคนอื่น ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาวันที่ 30 ก.ย.52 ยกฟ้องคณะรัฐมนตรีไม่ผิดอนุมัติโครงการหวยบนดิน แต่ให้จำคุก 2 ปี “ วราเทพ รัตนากร" อดีต รมช.คลัง จำเลยที่ 10 , นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดคลัง และประธานบอร์ดกองสลากฯ จำเลยที่ 31 , นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก จำเลยที่ 42 พร้อมโทษปรับ 20,000 – 100,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลปรานีให้รอลงอาญาคนละ 2 ปี)

            3.คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ–ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญา, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,152,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท โดยศาลฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 15 ต.ค.51 และศาลได้ออกหมายจับนายทักษิณ จำเลย เนื่องจากไม่มาศาล และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราว

             4.คดียื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองหรือคู่สมรส หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.263 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ( ป.ป.ช. ) พ.ศ.2542 ม.119 โดยศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 29 ก.ค.2553 แต่นายทักษิณ ไม่มาศาล ศาลสั่งให้ออกหมายจับ และสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว

            5.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 ร่วมกับ นายวิโรจน์ นวลแข อดีต กก.ผจก.ธ.กรุงไทยฯ และบริษัทในเครือของ บริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 , ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 , ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535 กรณีที่มีการอนุมัติสินเชื่อมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาทของธนาคารกรุงไทย ฯ ให้กับกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 

           โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2555 ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย และสั่งออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาล และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวในส่วนของนายทักษิณจนกว่าจะได้ตัวมาศาล (ส่วนจำเลยอื่น ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 จำคุกและปรับ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารกรุงไทยฯ , นายวิโรจน์ นวลแข อดีต กก.ผจก.-บอร์ดธนาคารกรุงไทยฯ กับพนักงานของธนาคารกรุงไทยและกรรมการสินเชื่อ และกลุ่มกฤษดามหานคร รวม 24 ราย กระทำผิดจริงในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ)

           แหล่งข่าว ระบุว่า   5 คดีข้างต้น จึงรอเพียง ป.ป.ช.และอัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ของแต่ละคดี ยื่นคำร้องต่อศาลฯขอให้พิจารณาคดีต่อ โดยอ้างถึง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  พ.ศ.2560 ที่เปิดช่อง ให้ศาลฯพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย  

เดินหน้า 5 คดี "ทักษิณ” สู่...หนีตลอดชีวิต?

            ส่วนอีกคดี คือ คดีซื้อขายที่ดินรัชดา ฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  พิพากษาจำคุก 2 ปี นายทักษิณ และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 2551 โดยมีอายุความตามหมายจับ 10 ปี ไม่น่าอยู่ในข่ายตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560  เนื่องจาก พ.ร.ป.ฉบับนี้ ใช้กับคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้น ในขณะคดีที่ดินรัชดาฯ คดีถึงที่สุดไปแล้ว ดังนั้น จึงทำให้คดีที่ดินรัชดาฯ มีอายุความ 10  ปีตามหมายจับซึ่งจะครบในปีหน้า ( ต.ค. 2561 ) โดยไม่นำเรื่องการหลบหนีคดีไม่มีอายุความ ตาม พ.ร.ป. ฉบับนี้มาใช้กับคดีที่ดินรัชดาฯ

              นอกจากนี้ “ทักษิณ” ยังมีคดีอื่นอีก แต่เป็นคดีที่ถูกฟ้องต่อศาลอาญา  คือ คดีที่กองทัพบกเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีเมื่อ  พ.ค.58  ได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ“ ทักษิณ” จากประเทศเกาหลี เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของ คสช ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก 

              คดีนี้“ทักษิณ” หลบหนีคดีไม่ได้มานัดสอบคำให้การเมื่อ 12 ต.ค. 58 ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราว  คดีนี้ต้องได้ตัว “ทักษิณ” ซึ่งเป็นจำเลยมา ศาลจึงจะพิจารณาคดีต่อได้ เนื่องจากคดีไม่ได้ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จึงไม่อยู่ในข่ายของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ พ.ศ. 2560 ที่ให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ 

              และยังมีคดีที่พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ส่งสำนวนที่กล่าวหา"นายทักษิณ ว่าหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เมื่อปี 2558 ให้อัยการ และเนื่องจากคดีนี้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร จึงต้องรอฟังคำสั่งจากอัยการสูงสุดว่าจะฟ้องหรือไม่ต่อไป

             เวลานี้ จึงรอเพียง 5 คดีที่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าจะมีการหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเมื่อไหร่และถ้าคดีที่นำมาพิจารณาคดีต่อ เพียงแค่คดีใดคดีหนึ่งเกิดศาลพิพากษาว่า“ทักษิณ” ผิดและจำคุก และ “ทักษิณ”หนีคดีไม่ยอมรับโทษ ก็คงต้องหนีตลอดชีวิต เพราะหมายจับที่ศาลออกจะเป็นหมายจับ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ พ.ศ.2560 ซึ่งไม่มีอายุความ  นั่นหมายความว่า หนีคดีนานเท่าไหร่ อายุความก็ไม่มีวันขาดลงเพราะไม่มีการนับอายุความตลอดเวลาที่หนีคดีตามกฎหมายใหม่
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ