คอลัมนิสต์

เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง

          ภาพของเมืองหลวงที่ไร้เสาไฟฟ้า ยังคงเป็นภาพในฝันที่คนกรุงอยากจะเห็นเป็นอันดับต้นๆ นอกจากเหตุผลทางด้านความสะอาดสบายตาแล้ว ยังมีเรื่องของความปลอดภัยมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้จากข่าวเสาไฟฟ้าล้ม ทั้งจากอุบัติเหตุและภัยทางธรรมชาติ ถือเป็นอภิมหาโครงการที่คนเมืองกรุงอยากให้เกิดขึ้นเป็นจริงอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้

                         เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง
          ทั้งนี้ ความพยายามเอาสายไฟ และสายสัญญาณต่างๆ ลงสู่ใต้ดิน เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 หรือนานร่วม 33 ปีที่แล้ว !! ซึ่งบางพื้นที่ก็เอาเสาไฟฟ้าลงสำเร็จ เห็นได้จากเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ห้าแยกลาดพร้าว มองแล้วสบายตา ซึ่งโครงการดังกล่าวหากจะร่ายถึงที่ไปที่มาก็คงจะยาว แต่วันนี้ “คม ชัด ลึก” ขอนำเสนอวิธีการเอาสายไฟฟ้าลงดิน ว่ามีขั้นตอนวิธีอะไรบ้าง
เพราะเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์เสาไฟฟ้าล้มระหว่างที่มีการรื้อถอนสายสัญญาณ ย่านสถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า ซึ่งโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ก็สร้างความหวาดหวั่นไม่น้อยว่า ในอนาคตที่จะทยอยเอาสายไฟฟ้าลงดิน จะเกิดเหตุซ้ำรอยหรือไม่ ซึ่งครั้งหน้าอาจจะไม่โชคดีอย่างนี้ ก็เป็นได้

                         เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง
          ขอเริ่มจากโครงการของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ได้ดำเนินการเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยขั้นตอนของ กฟน.นั้นก็มีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกัน ประกอบด้วย 1.สำรวจข้อมูลสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ที่จะดำเนินการ 2.วางแผน ออกแบบการก่อสร้าง และเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม 3.ก่อสร้างงานโยธา เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้า รวมถึงลากสายไฟฟ้าเข้าที่ใต้ดิน 4.เปลี่ยนระบบการจ่ายไฟฟ้า จากสายอากาศที่อยู่บนเสาไฟฟ้า เป็นสายใต้ดิน และ 5.รื้อถอนเสาไฟฟ้าออก

                       เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง

          นี่ถือเป็น 5 วิธี ที่ใช้ในปฏิบัติการปรับภูมิทัศน์ใน กทม. โดยในขั้นตอนที่ 3 งานก่อสร้างโยธานั้น สำหรับการขุดเจาะ มีอยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ 1.Open Cut เปิดหน้าดิน เป็นวิธีขุดเจาะเพื่อวางท่อสายไฟ แต่ว่าวิธีนี้มีข้อเสียคือ มีเสียงดังรบกวนเป็นอย่างมาก 2.HoriZontal Directional Drill (HDD) เป็นวิธีขุดอุโมงค์ โดยใช้สารละลายเบนโทไนต์ (Bentonite) ไม่ทำให้ดินพัง และ 3.Pipe Jacking เป็นวิธีดันท่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง โดยการจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่จะไปทำด้วย

          คราวนี้เมื่อได้ท่อเสร็จแล้ว ก็ส่งมอบให้ผู้รับผิดชอบเดินสายไฟในท่อต่อไป โดยการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์การเดินไฟ ซึ่งวิธีการนี้จะมีตู้ไฟ Unit Substation ที่รับไฟฟ้าจากส่วนหลัก คือการไฟฟ้านครหลวง แรงดัน 24 KV ปรับแรงดันให้เหลือ 220V และกระจายต่อไป ซึ่งหลังจากที่เดินสายเสร็จแล้ว ก็ยังต้องมีการทดสอบ โดยเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่อง Oscillating Wave Test System (OWTS) เทสต์สายไฟก่อน ที่จะเปลี่ยนระบบการเดินไฟฟ้า และกระจายไปยังบ้านเรือนต่อไป นั่นหมายความว่าระหว่างก่อสร้างไฟฟ้าก็ยังใช้ได้อยู่ จนกว่าช่วงเปลี่ยนระบบเดินไฟฟ้า ที่อาจใช้ไม่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ

                        เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง
          สำหรับการเอาสายไฟลงดินนั้นจะมีปัญหาน้อยกว่าสายไฟฟ้าลอยฟ้าแน่ๆ เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับภัยธรรมชาติ และรถชนเสาไฟฟ้า ในขณะเดียวกันสายไฟที่ใช้ก็กันน้ำได้อย่างดี แต่ถ้ามีปัญหาจริงๆ เจ้าหน้าที่ก็จะใช้เครื่อง Time Domain Relection (TDR) จ่ายคลื่นเข้าไปในสายไฟ วิ่งไปยังจุดที่มีปัญหา จากนั้นมันก็จะสะท้อนตำแหน่งออกมาเป็นระยะทาง ทำให้รู้ตำแหน่งที่มีปัญหาและแก้ไขได้ถูกต้อง
ดูเหมือนว่าเมื่อเอาสายไฟฟ้าลงดินได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะโค่นเสาไฟฟ้าได้เลย เพราะอย่าลืมว่าบนเสานั้น มันมีสายสัญญาณต่างๆ ร่วมด้วย !!!
          ในขั้นตอนการถอนเสาไฟฟ้านั้น ประสงค์ คุ้มประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารระบบจำหน่าย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการเรื่องการถอนเสาไฟฟ้า เล่าให้ฟังว่า ภายหลังที่เปลี่ยนระบบการจ่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าแล้ว สายไฟฟ้าอากาศที่เหลือรวมถึงอุปกรณ์เราก็จะรื้อออกไป ก็จะเหลือเพียงเสาเปล่าๆ ที่อาจจะมีสายสัญญาณของผู้ให้บริการรายอื่นอยู่ เราก็จะติดต่อผู้ประกอบการสายสัญญาณ ให้เขาได้เดินสายสัญญาณใต้ดิน รวมถึงรื้อเอาสายสัญญาณออก เมื่อนั้นเราจะเริ่มการถอนเสาไฟฟ้าออก
          “ประสงค์” เล่าอีกว่า การถอนเสาไฟฟ้านั้นก็เป็นหน้าที่ของ กฟน. ซึ่งวิธีถอนเสาไฟฟ้าของเรา วิธีแรกคือการเอารถกองงานที่มีระบบไฮโดรลิก ถอนเสาไฟฟ้าโดยการดึงขึ้นตรงๆ วิธีที่สองคือใช้กระบอกไฮโดรลิกวางไว้ที่โคนเสาไฟฟ้า ดันเสาไฟฟ้าออก โดยสองวิธีนี้มีลักษณะการทำงานที่ต่างกันเล็กน้อย แต่สำหรับข่าวเหตุการณ์เสาไฟฟ้าล้มที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามเป้านั้น เกิดขึ้นในขั้นตอนการรื้อสาย
สัญญาณของผู้ประกอบการอื่น โดยหลักการรื้อสายจะต้องมีการรักษาความสมดุลของเสา เพราะสายสื่อสารมีจำนวนมาก เวลารื้อ ดังนั้นการรื้อโดยขาดความสมดุลก็จะเกิดปัญหา ซึ่งเราก็เป็นห่วง
          “ส่วนการถอนเสาไฟฟ้าของ กฟน.นั้น ปกติแล้วเราจะมีการกั้นพื้นที่อย่างชัดเจน ซึ่งช่วงเวลาในการทำนั้นขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่มีความพร้อมเมื่อไหร่ เราก็จะกั้นพื้นที่ รวมถึงการกั้นพื้นที่จราจรช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อถอนเสาไฟฟ้า และนำออกจากพื้นที่โดยรถบรรทุกทันที” ประสงค์ ให้ความมั่นใจในความปลอดภัยจากการถอนเสาไฟฟ้า
          ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการทำเอ็มโอยูระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้า สายสัญญาณลงดิน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ประกอบด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กทม. ที่จะเป็นเจ้าภาพในการขุดและวางท่อ

                        เมืองกรุงไร้เสาไฟ ต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง
          โดย “วันชัย ถนอมศักดิ์” รองปลัด กทม. และผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป หน่วยงานต่างๆ จะยุติการอนุมัติโครงการเอาสายไฟหรือสายสัญญาณลงดินเพียงลำพัง โดยหลังจากนี้จะต้องมาร่วมมือกัน ซึ่งการดำเนินการของ กทม. ที่คิดไว้คร่าวๆ จะมีการแบ่งพื้นดินเป็น 3 ระดับ ชั้นล่างสุดเป็นสายไฟฟ้า จากนั้นเป็นสายไฟเบอร์ออพติก และบนสุดเป็นท่อระบายน้ำ โดยสายไฟฟ้า และสายไฟเบอร์ออพติกจะอยู่รวมกันในบล็อกคอนเวิร์ส ขนาด 3x3 เมตรอีกที
          “วันชัย” เล่าอีกว่า สำหรับการขุดเจาะนั้นก็ดูความเหมาะสมตามพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เมืองคนสัญจรเยอะ ก็จะใช้วิธี Pipe Jacking แต่ถ้าชานเมืองก็จะใช้วิธี Open Cut ซึ่งจะประหยัดงบกว่า โดยจะว่าจ้างให้เอกชนมาช่วยในงานขุดเจาะร่วมด้วย เมื่อเดินระบบสายไฟเรียบร้อย ก็จะสลับระบบการจ่ายไฟ จากนั้นค่อยเอาเสาไฟฟ้าลง ทั้งนี้ระบบการเดินสายไฟจะเป็นข้อต่อทุกๆ 1 กม. ในส่วนของการแก้ไขปัญหาสายไฟฟ้านั้น ภายในท่อขนาดใหญ่จะมีเครื่องที่สามารถเกี่ยวสายไฟที่เสียหาย และเปลี่ยนในตัวมันเองได้ โดยที่ไม่ต้องขุดท่อให้เสียเวลา
          แต่ถึงอย่างไร นายวันชัย ก็ย้ำว่านี่คือแผนที่คิดเบื้องต้น จะต้องมีการพูดคุยร่วมกับอีก 4 หน่วยงานก่อน จึงจะได้แผนการดำเนินงานที่แน่นอน
          นี่คือวิธีการคร่าวๆ ของการเอาเสาไฟฟ้าลงดิน และถอนเสาไฟฟ้า ที่ตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงมากขึ้น คงไม่ไกลเกินฝันที่เราจะได้เห็นภาพท้องถนนที่สะอาดตา อันปราศจากเสาไฟฟ้า และไม่ต้องคอยระแวงว่าเสาจะโค่นช่วงที่พายุเข้าหรือไม่อีกต่อไป.

จักรวาล ส่าเหล่ทู

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ