คอลัมนิสต์

สุดอาลัย ‘อุดร ทองน้อย’ ตำนาน ส.ส.สังคมนิยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขอแสดงความเสียใจและอาลัยยิ่ง ต่อการเสียชีวิตของ ‘คุณลุงอุดร ทองน้อย’ อดีตนักเขียน ทนายความ นักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ยโสธร 2 สมัย

 

               การจากไปของนักการเมืองคนหนึ่ง อาจไม่เป็นที่กล่าวขานของผู้คนในวงกว้าง แต่สำหรับ “คนรุ่น 14 ตุลา” ย่อมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนักการเมืองคนนี้เคยมีส่วนร่วมสร้างตำนานพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ก้าวหน้าที่สุดของเมืองไทย

               เย็นวันจันทร์ สมชัย คำเพราะ ทนายนักเขียนได้อัพสเตตัสถึงญาติอันเป็นที่รักของเขาคนหนึ่ง

               "ขอแสดงความเสียใจและอาลัยยิ่ง ต่อการเสียชีวิตของ ‘คุณลุงอุดร ทองน้อย’ ...อดีตนักเขียน ทนายความ นักการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ยโสธร 2 สมัย ที่จากไปด้วยอาการสงบ ในวันที่ 25 กันยายน 2560 เวลา 15.36 น. และจะจัดพิธีศพ ณ วัดบึงทองหลาง ซอยลาดพร้าว 101 เป็นเวลา 5 วัน .. จึงขอแจ้งให้เครือญาติ พี่น้อง และกัลยาณมิตรทุกท่าน เพื่อทราบโดยทั่วกัน"

 

สุดอาลัย ‘อุดร ทองน้อย’ ตำนาน ส.ส.สังคมนิยม

 

               เมื่อ 40 กว่าปีก่อนโน้น “อุดร ทองน้อย” ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส.อายุน้อยที่สุดในสภาฯ คือ 25 ปี !!

               อุดร ทองน้อย เกิดที่บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร หลังจบชั้นประถมศึกษาตอนต้น ปี 2503 ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดราชนัดดา และเข้าเรียนที่โรงเรียนบาลีมัธยมวัดโพธิ์ (วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม) แล้วจึงมาเรียนจบมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนมหาพุทธาราม (วัดพระโต) จ.ศรีสะเกษ

               ปี 2511 สอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2515 ได้เป็นรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ยุคที่ ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ)

               เมื่อเรียนจบได้ทำงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ช่วงวันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2516

               ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการสายสังคมนิยม ได้ร่วมก่อตั้ง “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ขึ้นมา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เป็นของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ ต่างเป็นพรรคการเมืองของคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นนำในสังคมหรือนายทุนใหญ่

 

สุดอาลัย ‘อุดร ทองน้อย’ ตำนาน ส.ส.สังคมนิยม

 

               พรรคสังคมนิยมฯ มีเป้าหมายเพื่อที่จะผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยพรรคใช้สัญลักษณ์ “สี่เคียวเกี่ยวกันในฟันเฟือง” มีคำขวัญว่า “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” และมีคำประกาศ อุดมการณ์ และนโยบายของพรรคว่า “เด่นชัดเป็นรูปธรรม และมีพลัง บนจุดยืนผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ”

               ปี 2517 ผู้ก่อการพรรคสังคมนิยมฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค

               อุดร ทองน้อย ลาออกจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กระโจนสู่สนามเลือกตั้งบ้านเกิด ยโสธร ทันที โดยลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 2 คน คือ ประยงค์ มูลสาร และสมบัติ วอทอง

               “อุดร” ได้เปรียบผู้สมัคร ส.ส.คนอื่น เพราะมีภาพเป็นนักกฎหมายหนุ่ม รูปหล่อ คารมคมคาย ปราศรัยได้ดุเด็ดเผ็ดมันถูกใจชาวบ้าน ประกอบกับกระแสสังคมนิยมมาแรงในเขตชนบทสีชมพู - แดง อย่าง อ.กุดชุม และ อ.เลิกนกทา ผู้สมัครทั้ง 3 คน ของพรรคสังคมนิยมฯ จึงได้รับความสนใจจากชาวบ้าน

 

สุดอาลัย ‘อุดร ทองน้อย’ ตำนาน ส.ส.สังคมนิยม

 

               การเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคม 2518 ที่สนามยโสธร ปรากฏว่า อุดร ได้คะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยสุทิน ใจจิต พรรคเกษตรสังคม และเพื่อนร่วมพรรคอย่างประยงค์ มูลสาร ได้คะแนนเป็นอันดับ 3

               สรุปว่า พ.ศ.โน้น พรรคสังคมนิยมฯ ได้ ส.ส. 2 ที่นั่งในจังหวัดยโสธร ซึ่งสื่อมวลชนสมัยนั้นให้ความสนใจ “อุดร - ประยงค์” 2 ผู้แทนหนุ่มอย่างมาก

               โดยภาพรวมพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 15 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศ 82 คน ประกอบด้วย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม , โสภณ วีรชัย , สม วาสนา , เติม สืบพันธ์ (อุดรธานี) , ไขแสง สุขใส (นครพนม) , วิชัย เสวมาตย์ และ สุทัศน์ เงินหมื่น (อุบลราชธานี) , อุดร ทองน้อย และ ประยงค์ มูลสาร (ยโสธร) , ประเสริฐ เลิศยะโส (บุรีรัมย์) , ศิริ ผาสุก (สุรินทร์) , ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ อาคม สุวรรณนพ (นครศรีธรรมราช) , เปรม มาลากุล ณ อยุธยา (อุตรดิตถ์) และ อินสอน บัวเขียว (เชียงใหม่)

               ปี 2519 กระแส “ขวาจัด” ได้พัดพาพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ออกจากสนามเลือกตั้ง

               หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อุดร ทองน้อย ไปใช้ชีวิตในเขตป่าที่แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว และฐานที่มั่นภูพาน ก่อนที่จะกลับคืนเมืองตามนโยบาย 66/23 ของรัฐบาลในยุคนั้น ก่อนที่จะคืนสู่เมือง และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย โดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2531

 

สุดอาลัย ‘อุดร ทองน้อย’ ตำนาน ส.ส.สังคมนิยม

 

               อุดร ทองน้อย สร้างงานวรรณกรรมในรูปแบบกาพย์กลอน เรื่องสั้น บทละคร ความเรียง อย่างต่อเนื่อง

               ผลงานที่ได้รับการรวมเล่ม อาทิอีสานกู , วันที่แดดที่เป็นสีเลือด , หมาเน่า อีแร้ง และแมลงวัน , คืนก่อนวันเก่า , ตามรอยเรอแดว , ทุงนา ป่าดอน นครคน , ต้องมีสักวัน , แมลงเม่า , ถังเหว่ยเวียตนาม และตะวันแดงยังส่องทาง

               บั้นปลายชีวิตยังคงยึดอาชีพทนายความที่อำเภอกุดชุม และสร้างสรรค์งานด้านวรรณกรรมตลอดมา จนกระทั่งล้มป่วยด้วยโรคเบาหวานและไตวาย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ