คอลัมนิสต์

ไขปริศนา!! หลุมดำ“อาชีวะไทย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เด็กอาชีวะยกพวกตีกันถึงขั้นตาย!! ทางออกไม่ใช่"ยุบสถานศึกษา"หรือ"ย้ายผู้บริหาร"ง่ายไปปะ...ติดตาม...ไขปริศนา!! หลุมดำ“อาชีวะไทย”กับ"คม ชัด ลึก"

          เราต่างทราบกันดีว่าประเทศไทยคนไทยนั้น “บ้าปริญญา” แห่เรียนปริญญาตรี โท เอก กัน ทั้งๆ ที่หลายคน โดยเฉพาะนักการเมืองใช้วิธีซื้อมาแปะข้างฝา เรามีมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันอุดมศึกษา 200-300 แห่ง และตอนนี้มี over supply คือระดับปริญญาตรี แต่ละปีมหาวิทยาลัยต้องการรับนักศึกษาราว 140,000 คน แต่เด็กนักเรียนที่สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีเพียง 70,000-80,000 คน

           ในขณะที่อาชีวศึกษาคนไทยไม่อยากเรียน ทั้งๆที่ ประเทศเราไม่ต้องการบัณฑิตระดับปริญญาตรีเกร่อด้อยคุณภาพทำงานไม่ได้จริง   แบบที่ผลิตออกมามากๆ เพราะช่วย "เลี้ยงดู” มหาวิทยาลัย และ เป็น“ปากท้อง” ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แทบจะตีกันตาย เพราะ “แย่งกันสอน” เอาตังค์และยัดเยียดวิชาที่เด็กไม่สมควรจะเรียน หรือล้าสมัยที่ตัวเองเคยเรียนเมื่อ 20-30 ปีก่อน ให้เด็กเรียนเพราะตัวเองไม่มีความเพียรเพียงพอ ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสอนอะไรที่เอาไปทำงานจริงไม่ได้เพราะไม่เคยทำงาน

          ขนาดมหาวิทยาลัยที่คนไทยบ้าปริญญายังไปไม่รอด ไม่เกิน10ปีข้างหน้าจะมีมหาวิทยาลัยไทยล้มหายตายจากไปอีกมาก อันเกิดจากภาวะประชากรถดถอย ในอีกแท่งของการศึกษาไทยคือ“แท่งอาชีวศึกษา”ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศชาติอย่างยิ่งยวด และขาดแคลนแรงงานฝีมืออย่างรุนแรง ก็ประสบปัญหาหนักหนาไม่แพ้กัน

           ประการแรก อาชีวศึกษาชั้นดี ในประเทศไทย หลงทางกัน อยากเป็น  "มหาวิทยาลัยชั้นเลว" ไปแทบทั้งหมด จนหลงลืม“อัตลักษณ์”ของตัวเอง เช่น เคยเด่นเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้าง โรงเรียนช่างยนต์ โรงเรียนคหกรรมศาสตร์ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ที่ดี เด่น ดัง เฉพาะด้านที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากที่สุด ก็กลับกลายเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นเลว” เปิดสอนปริญญาโททางบริหารธุรกิจ หรือ บริหารรัฐกิจ ที่แสนธรรมดา ไม่ได้ดี เด่น ดัง อะไร ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด และเสียชื่อเสียงอันดีงามในอดีตไป

          ประการที่สอง ค่านิยมบ้าปริญญา คนไทยจบปริญญาตรี ปริญญาโท กันเยอะแยะ แต่ทำงานไม่ได้ เลี้ยงตัวเองไม่รอด ให้ไปลงทะเบียนคนจน จบปริญญาโทและปริญญาเอกกันมากมาย ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่รอด ต้องมาให้รัฐบาลเลี้ยงดูเป็นภาระของรัฐบาล และแน่นอน อยากได้ปริญญาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำงานสบาย เรียนสายอาชีวะเป็นช่างฝีมือ ต้องเหนื่อย เลยไม่อยากจะเรียนกัน กลัวไม่ได้ปริญญาถ้าเรียนอาชีวศึกษา

         ประการที่สาม อาชีวศึกษายกพวกตีกัน โดยเฉพาะที่ตีกันเป็นคู่ๆ สถาบันที่อยู่ใกล้ๆ กัน เช่น แถวมาบุญครอง อีกสองสถาบันแถวมีนบุรี และอีกหลายๆ ที่ พอมีตีกันบ่อยๆ แบบนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไหนจะอยากส่งลูกไปตาย ส่งลูกไปให้ถูกเขาตีตาย หรือโดนลูกหลงทั้งๆ ที่เป็นเด็กดีๆ แต่ไม่รู้อีโหน่ อีเหน่ พ่อแม่ก็ต้องกลัวและไม่อยากจะให้เรียนอาชีวะ

          ประการที่สี่ อาชีวศึกษาของไทยไม่ได้มาตรฐานสากล ที่จะทำงานได้จริง อันที่จริงการผลิตอาชีวศึกษาชั้นดีต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก ต้องได้ครูที่ฝีมือดี ระดับนายช่าง ต้องมีอุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียนการสอนที่ทันสมัย ซึ่งหลายๆ อย่างมีราคาแพงไม่น้อยกว่าอุดมศึกษาชั้นดี ลองเอาอาชีวศึกษาบ้านเราไปเทียบกับอาชีวศึกษาของประเทศเยอรมัน ยังห่างไกลกันหลายโยชน์

ไขปริศนา!! หลุมดำ“อาชีวะไทย”

          เราจึงมีความจำเป็นทั้ง "rebranding" และ "reforming" อาชีวศึกษาของไทย

          “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี” ทรงทำให้พวกเราได้เห็นแล้ว “วิทยาลัยจิตรลดาแผนกอาชีวศึกษา” ได้รับความนิยมอย่างมากมาย ชื่อเสียง"โรงเรียนจิตรลดา" นั้นได้รับการยอมรับอย่างดี และเป็นการใช้ชื่อ“แผนกมัธยมศึกษาสามัญกับอาชีวศึกษา” ในชื่อหรือ brand name เดียวกัน และประสบความสำเร็จมากมาย ทำตามรอยพระบาทกันเถอะครับ!!

          ในเมื่อกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นิยมใช้ชื่อโรงเรียนดังๆ มาตั้งชื่อโรงเรียนทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า โรงเรียนสตรีวิทยา 2           ทำไมเราไม่สามารถเปิด โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแผนกอาชีวะ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแผนกอาชีวะ โรงเรียนสตรีวิทยาแผนกอาชีวะ และมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป ผนวกรวมกันระหว่างแท่งอาชีวะและสายสามัญเป็น dual system แบบเยอรมันก็ทำได้ ให้เข้ามหาวิทยาลัยต่อไปก็ได้ ให้เรียนไปเป็นช่างฝีมือชั้นดีก็ได้ พ่อแม่ก็จะได้เลิกกังวลว่าจะส่งลูกไปตาย ไม่ต้องกังวลหรอกว่าเป็น แท่งสพฐ. แท่งอาชีวะ หรือ แท่งอุดมศึกษา

          ถ้าทำให้ดีมีคุณภาพ ก็ไม่ต้องมีแท่งก็ยังได้ อันนี้เป็นการ rebranding ปรับใหม่ เปลี่ยนภาพลักษณ์เพราะบางสถาบันภาพลักษณ์อาชีวศึกษาเน่าเละเกินกว่าจะเยียวยาแล้ว

          อย่างที่สองต้องดึงภาคเอกชน มาร่วมผลิตกับภาครัฐในลักษณะของ apprenticeship ให้เอกชนมาช่วยภาครัฐบาลสร้างอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาแท่งอาชีวศึกษาไม่ยืดหยุ่นพอ เราเลยเห็น CP มาเปิดปัญญาภิวัฒน์เอาเอง เห็น กลุ่มปตท. และเครือซิเมนต์ไทย เปิดสอนอาชีวศึกษาเอง การทำเช่นนี้กลับได้รับความนิยมมาก เพราะนักศึกษาอาชีวศึกษาได้เรียนจริง จากของจริง การทำงานจริง และถ้าเรียนได้ดี ทำงานได้ดี ก็จะได้ทำงานจริง มีแหล่งงานรองรับ 

         "กระทรวงศึกษาธิการ" น่าจะ"แสวงหาความร่วมมือ" กับ"เอกชน"ให้มากกว่านี้ หากจะผลิตอาชีวศึกษาให้ดีต้องใช้ทุนมาก โดยเฉพาะการฝึกทักษะฝืมือ ที่ต้องการทั้งช่างฝีมือ และ เครื่องมืออุปกรณ์ซึ่งต่างก็หายาก

          เราน่าจะคิดเปลี่ยนโมเดลการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้รองรับ Thailand 4.0 ได้แล้วครับ ที่ต้องทำเลยคือการ rebranding และ reforming วิธีการเรียนการสอนให้ทันสมัย เรียนจบแล้ว สามารถทำงานได้จริง 

             คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อพัฒนาอาชีวะไทยกันเถอะ!!  

 

            0 อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 0 รายงาน 

              สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence

              สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์

             ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ