คอลัมนิสต์

มโน?...เลื่อนอ่านคำพิพากษา"คดียิ่งลักษณ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้วันที่27 ก.ย.ซึ่งเป็นวันนัดอ่านคำพิพากษา'คดียิ่งลักษณ์'ในโครงการจำนำข้าว ขณะที่มีข่าวลือว่าอาจเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปอีก แต่ในความจริงเป็นไปได้แค่ไหนกัน

           กรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 27 กันยายนนี้  เวลา 09.oo น. ซึ่งเป็นการนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2  หลังจากที่เลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาออกไป เนื่องจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์  ไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัดและหนีคดีไป และถูกศาลออกหมายจับเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายนนี้นั้น  

           คำถาม คือว่า..วันที่ 27 กันยายนนี้จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างกับคดีนี้ ถ้า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาหรือยังไม่ได้ตัวมาฟังคำพิพากษา

           ศาลอาจเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีกจนกว่าจะได้ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่เริ่มมีการพูดกันหนาหูในขณะนี้ได้หรือไม่  ?

          แหล่งข่าวซึ่งเป็น“นักกฎหมายผู้คร่ำหวอดในกระบวนการยุติธรรม” ได้ชี้ให้เห็นแนวทางปฏิบัติของศาลในวันที่ 27 กันยายนนี้ ว่ามี  2 แนวทาง ดังนี้

         1. อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย  เนื่องจาก  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542   มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า  ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่จำเลยไม่อยู่หรือไม่มาฟังคำพิพากษา ให้ศาลเลื่อนการอ่านไปและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา เมื่อได้ออกหมายจับแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน  1เดือน  นับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่า จำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว 

            สำหรับคดี น.ส. ยิ่งลักษณ์  ได้เดินมาถึงขั้นตอนที่จำเลยถูกออกหมายจับแล้ว  ดังนั้นหากวันที่ 27 กันยายน นี้ ยังไม่ได้ตัว น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นจำเลยมาฟังคำพิพากษา จึงถือว่าล่วงเลยเวลา 1 เดือนนับแต่ศาลออกหมายจับแล้ว  ดังนั้นหากวันดังกล่าวมีอัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษา ศาลก็จะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย และถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์  จำเลยได้ฟังคำพิพากษาแล้ว   

            ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยไม่มีการรอลงอาญา ศาลก็จะออกหมายจับซึ่งเป็นหมายจับเพื่อนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาบังคับตามคำพิพากษา (ส่วนหมายจับฉบับแรกที่เป็นหมายจับเพื่อนำตัว น.ส. ยิ่งลักษณ์ มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน ก็จะสิ้นสภาพไป) 

           2.งดอ่านคำพิพากษา กรณีที่ทั้งอัยการซึ่งเป็นโจทก์และจำเลย ไม่มาฟังคำพิพากษา  คือ ไม่มีคู่ความในคดีมาฟังคำพิพากษาเลย ศาลก็จะงดการอ่านคำพิพากษา โดยศาลจะมีคำสั่งว่า “งดการอ่านคำพิพากษา และให้ถือว่าโจทก์และจำเลยทราบคำพิพากษาแล้ว” ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่ามีการอ่านคำพิพากษาแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีตามปกติเท่านั้น ในกรณีที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย ศาลก็จะออกหมายจับ  

           ทั้งนี้ทั้งโจทก์และจำเลยหากมาศาลภายหลังที่ศาลงดอ่านคำพิพากษา ก็สามารถมาขอดูคำพิพากษากับเจ้าหน้าที่ศาลได้ และหลังจากศาลงดอ่านคำพิพากษาแล้ว  ศาลก็อาจสรุปคำพิพากษาเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสื่อมวลชนทันทีในวันที่ศาลงดอ่านคำพิพากษาได้เลย หรือสื่อมวลชนจะมาขอดูคำพิพากษาจากศาลก็ได้เพราะตามกฎหมายถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาจึงไม่เป็นความลับอีกต่อไป

           ส่วนกรณีที่มีการไปตีความ มาตรา 32 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯที่ระบุว่า " ให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้” ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า  ศาลจะต้องอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย  ดังนั้นอาจเกิดกรณีที่ศาลจะไม่อ่านคำพิพากษาจนกว่าจะได้ตัวจำเลยเพื่ออายุความในคดีจะไม่เดินไปเรื่อยๆในระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวจำเลยนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า ไม่มีทางเป็นได้เลย เป็นเรื่องที่“มะโน” กันขึ้นเอง  เพราะว่าในวันที่ 27 กันยายนนี้ ถึงอย่างไรศาลก็ต้องอ่านคำพิพากษา ไม่ว่า 1.จะเป็นกรณีโจทก์และจำเลยมาศาล หรือ  2.มีแค่อัยการซึ่งเป็นโจทก์มาศาล ตามกฎหมายศาลก็ต้องอ่านคำพิพากษาให้ทางอัยการโจทก์ฟังอยู่แล้ว หรือ 3.แม้ว่ากระทั่งว่าไม่มีทั้งโจทก์และจำเลยมาศาลตามนัด  และศาลงดอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี แต่ก็ถือว่าจำเลยทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคู่ความสามารถมาขอคัด ขอดูคำพิพากษาได้ซึ่งก็ทราบผลคำพิพากษาเหมือนกับการอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี  ซึ่งทั้ง 3 กรณี จะเห็นได้ว่าครอบคลุมหมดแล้วในทางคดีที่จะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 27 กันยายนนี้ซึ่งล้วนแต่นำมาซึ่งการทราบผลคำพิพากษาทั้งสิ้น  อีกทั้งคดีต้องเสร็จสิ้นจะปล่อยค้างไว้ไม่ได้ซึ่งการอ่านคำพิพากษาจะทำให้คดีเสร็จสิ้น และหากไม่อ่านคำพิพากษา ก็ออกหมายจับบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ได้ ดังนั้นการที่จะเก็บคำพิพากษาเอาไว้ แล้วค่อยอ่านจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาอย่างที่พูดกัน จึงไม่มีทางเป็นไปได้เลย

              ส่วนแหล่งข่าวอีกคนซึ่งเป็น“อดีตผู้พิพากษา”ระบุว่า  ศาลต้องอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย จะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา 32 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542  ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่จำเลยไม่อยู่หรือไม่มาฟังคำพิพากษา ให้ศาลเลื่อนการอ่านไปและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่า จำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว   จะเห็นได้ว่า  มาตรา 32  บังคับให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษา จะแปลความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

              "ถ้าคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยหรือรอลงอาญา  ศาลก็ไม่ต้องดำเนินการอะไรต่อไป นอกจากการบังคับคดีเอาแก่หลักประกัน ซึ่งก็คือ การริบหลักทรัพย์ประกันที่วางศาลไว้เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาประกันไม่มาฟังคำพิพากษา  แต่ถ้าศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ศาลก็ต้องออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมาบังคับตามคำพิพากษาภายในอายุความซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าเมื่อคดีีนี้ีคดีถึงที่สุดศาลจำคุกเท่าใด"

             ด้านนายเจษฎา อนุจารี  ทนายความชื่อดัง ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษา และถูกศาลออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษาซึ่งมีการนัดใหม่เป็นครั้งที่สองนั้น หากถึงนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่สองแล้วยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลก็จะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 32 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งบังคับให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย  ดังนั้นที่ไปแปลความ มาตรา 32 ว่าจะอ่านคำพิพากษาหรือไม่ก็ได้ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 

            “การที่ศาลจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาคดีคุณยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 27 กันยายนนี้ออกไป จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นกรณีที่ว่า มาพบข้อเท็จจริงในภายหลังว่าคุณยิ่งลักษณ์ ป่วยหนักนอนอยู่ห้องไอซียู มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาครั้งแรกและยังป่วยหนักอยู่จนถึงวันที่ 27 กันยายน หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษา การที่ศาลออกหมายจับไปเพราะศาลได้รับข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ศาลก็อาจเพิกถอนหมายจับ และเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปและนัดใหม่  กรณีนี้ไม่เข้าข่ายมาตรา 32  วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ”

           นอกจากนี้นายเจษฎา ยังเห็นว่า  หากมองในแง่ด้านการบริหารคดี การเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป จะเกิดความยุ่งยากตามมา เนื่องจากในเดือนตุลาคมนี้ผู้พิพากษาต้องโยกย้ายตำแหน่งประจำปี  ซึ่งรวมถึงผู้พิพากษาบางคนซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนี้ด้วย  การโยกย้ายผู้พิพากษาในบางตำแหน่ง ผู้พิพากษาคนนั้นจะไม่กลับมาทำคดีเดิมอีก ก็จะมีผู้พิพากษาคนใหม่มาทำคดีแทน แต่ตามกฎหมายบังคับว่าผู้พิพากษาที่จะพิพากษาคดีใดได้ ต้องนั่งพิจารณาคดีนั้นมาก่อนอย่างน้อยก็ 1 นัด  ขณะที่คดีนี้สืบพยานไปหมดแล้ว ศาลอาจต้องใช้วิธีเรียกพยานมาสอบเพิ่ม  ซึ่งทำให้ยุ่งยากไปหมด ดังนั้น ตนจึงเชื่อว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน นี้แน่นอน   

           แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ จินตนาการกันไปต่างๆนาๆ เกี่ยวกับ การเลื่อน-ไม่เลื่อน การอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายนนี้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าบัญญัติไว้อย่างไร

          ชมวิดีโอประกอบ

                       

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ