คอลัมนิสต์

โยนภาระให้“เหยื่อ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยายปมร้อน : โยนภาระให้“เหยื่อ” : โดย...อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

          เรื่องล่วงละเมิดทางเพศยังเป็นปัญหาของสังคมไทยเสมอมา โดยเฉพาะกับสองกรณีล่าสุดที่ปรากฏต่อสาธารณะทำให้เห็นได้ว่า อะไรที่ทำให้ปัญหาแก้ไม่ตก เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นเพราะวัฒนธรรมในการจัดการปัญหา ที่กลายเป็นการส่งเสริมความรุนแรงของปัญหา

 

          ทั้งสองเรื่องเกิดในสังคมคนละระดับแต่กลับมีวิธีการจัดการปัญหาที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก

 

          กรณีแรก เป็นข่าวดังเมื่อเกิดการเปิดเผยว่า มีเด็กอายุ 14 คนหนึ่ง ที่ จ.พังงา ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยการข่มขืนต่อเนื่องจากคนจำนวนมากในหมู่บ้าน

 

          แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาแทนที่จะมีการสืบหาความจริงจากคนในหมู่บ้าน กลับมีการปกป้องคนกันเอง โดยไม่ต้องการให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวออกไป  ใช้ข้ออ้างว่าหากมีการเผยแพร่ในวงกว้างหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบ คนจะไม่กล้ามาท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นว่าหมู่บ้านไม่มีความปลอดภัย ซ้ำยังตั้งคำถามย้อนกลับไปที่ตัวครอบครัวเด็กว่ากำลังโกหกหรือไม่ และตั้งคำถามซ้ำไปว่าเป็นการขายบริการ หรือที่เรียกว่า “สมยอม” ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก 14 ไม่ว่าจะสมยอมหรือไม่ล้วนเป็นความผิดทั้งสิ้น

 

          เคสที่สอง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่นักศึกษาถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคคลที่เป็นอาจารย์ จนกลายเป็นข่าวดัง แต่ล่าสุดกลับมีผลสรุปและแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยว่า แม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง แต่อาจารย์คนดังกล่าวเป็นอาจารย์พิเศษ ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินการอื่นใดได้นอกจาก ไม่ให้กลับเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษอีก ส่วนเรื่องการล่วงละเมิด ก็ให้เป็นนักศึกษาเองที่ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

          เรื่องแรก นั้นเราจะเห็นถึงวิธีคิดที่บิดเบี้ยวของการปกป้องพวกพ้อง และมองว่าเหยื่อที่ถูกกระทำเป็นคนผิด เพราะทำให้หมู่บ้านเสียหาย ทำให้หมู่บ้านเสียชื่อเสียง จนอาจจะกระทบกับวิถีการทำมาหากินที่พึ่งพิงกับการท่องเที่ยว โดยลืมไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นอาชญากรรม และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็เกิดจากคนในพื้นที่เอง

 

          การตามหาคนกระทำความผิดต่างหากที่จะทำให้หมู่บ้านดังกล่าว ได้ภาพลักษณ์แห่งความปลอดภัยกลับคืนมา การปฏิเสธการนำเสนอหรือตามหาข้อเท็จจริงกลับจะทำให้หมู่บ้านแห่งนั้นตกอยู่ในเมฆหมอกของความหวาดกลัว

 

          และที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการเข้าไปสืบสวนสืบหา กลับเป็นภาระของผู้เสียหายเองที่ต้องมาพิสูจน์ว่าถูกล่วงละเมิดจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เหยื่อจึงต้องกลายเป็น เหยื่อซ้ำสอง" จากกระบวนการและวัฒนธรรมการปกป้อง

 

          ซึ่งก็คล้ายกับกรณีที่สอง ที่ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งน่าจะเป็นที่รวมของปัญญาชนกลับมีสภาวะของการโยนภาระในการร้องเรียน การร้องทุกข์ การสืบหาความเป็นจริงให้กับเหยื่อโดยมหาวิทยาลัย รับผิดชอบเพียงการไม่จ้างอาจารย์พิเศษผู้นั้น

 

          ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยต้องอยู่ในสถานะต้นสังกัด และผู้ว่าจ้างอาจารย์ผู้นั้นให้เข้ามาเป็นผู้สอน สมควรที่จะมีมาตรการที่แสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา แต่สิ่งที่ทำเหมือนกับเป็นการปัดความรับผิดชอบให้พ้นจากตัวไป

 

          เรื่องราวที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ที่สังคมและต้นสังกัดมักไม่ปกป้องเหยื่อ หากแต่มองเพียงว่าสังคมที่ตนอยู่นั้นไม่ผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ   เช่นเดียวกับวิธีคิดที่มักโยนให้เหยื่อเป็นผู้ร่วมรับผิดในการถูกกระทำ เช่น การที่บอกว่าโดนล่วงละเมิดเพราะ แต่งตัวโป๊ โดนล่วงละเมิดเพราะไม่ป้องกันตัว โดนล่วงละเมิดเพราะพาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อันไม่เหมาะสม

 

          คำอธิบายการหาผู้ร่วมรับผิดในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการบรรเทาความรู้สึกแล้ว  ยังเป็นการโยนความรับผิดชอบให้พ้นออกไปจากตัว เมื่อการประณามที่เกิดขึ้นมิได้พุ่งเป้าไปที่ประณามคนกระทำความผิดแต่กลับโทษคนถูกกระทำไปพร้อมกัน เหยื่อจึงถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

 

          และสุดท้ายหลายๆคนที่ถูกกระทำก็เลือกที่จะอยู่เฉยแทนที่จะออกมาร้องเรียน เพราะประสบการณ์ที่เกิดขึ้นสอนพวกเธอว่าถ้าไม่อยากเจ็บเป็นคำรบสอง ก็อย่าออกมา

 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาจึงไม่เคยถูกแก้ไขหรือบรรเทาลงได้

 

--------
 

(ขยายปมร้อน : โยนภาระให้เหยื่อ” : โดย...อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ