คอลัมนิสต์

ไขปมศาลยกฟ้อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขปมศาลยกฟ้อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”เหตุ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือมาเบิกความที่ศาลให้เห็นว่าถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ

             “คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ” กลายเป็นประเด็นร้อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังตรวจสอบกระบวนการทำสำนวนคดีกันอย่างเคร่งเครียด หลังศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีข่าวว่าผู้ใหญ่ในทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความไม่พอใจอย่างมาก เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล คสช. ให้ปราบปราม “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”

            ‘คมชัดลึก’ พาย้อนกลับไปตรวจสอบคำพิพากษาของศาล ว่าเหตุใดถึงยกฟ้องคดีนี้ ซึ่งบอกได้คำเดียวว่า ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดในคดีนโยบายของรัฐบาล

           “คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นการยื่นฟ้องผู้บริหาร บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต และกรรมการบริษัทห้างร้านอื่นๆ ในเครือข่าย ในข้อหา อั้งยี่ 

             โดยระบุพฤติการณ์ว่า จำเลยกับพวกประกอบธุรกิจนำเที่ยว มี บริษัท ฝูอัน ทราเวลฯ และ บริษัท ซินหยวน ทราเวลฯ นำนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะ “ทัวร์ต้นทุนต่ำ” ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่เรียกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” จากนั้นก็บังคับให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าจากบริษัทและกิจการในเครือของจำเลย ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก

            คำฟ้องระบุว่า เป็นการกระทำของจำเลย เข้าลักษณะ “อั้งยี่” มีเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท มีการนำเงินจากนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าราคาสูงเกินจริงไปฟอกเงิน

            ขณะที่ข้อพิเคราะห์ของศาลแต่ละประเด็นมีดังนี้

            1.จากข้อเท็จจริงในสำนวนคดี มีหลักฐานเพียงว่าพวกจำเลยประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสนำเที่ยวและจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว มิใช่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว จึงไม่ต้องขอจดทะเบียน และเหตุที่นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลาง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวของ บริษัท ซินหยวน ทราเวลฯ กับ บริษัท ฝูอัน ทราเวลฯ เพราะกรรมการขาดคุณสมบัติไม่มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เท่านั้น

           2.คำว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นการเรียกเก็บเงินนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และมีการกำหนดโปรแกรมท่องเที่ยวเอาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีการประกอบธุรกิจลักษณะเช่นนี้กว่า 300 บริษัท มีการแข่งขันค่อนข้างสูง จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด

           3.ฝ่ายตำรวจและอัยการไม่มีพยานหลักฐานอะไร รวมทั้งไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดให้การต่อพนักงานสอบสวน หรือมาเบิกความที่ศาลให้เห็นว่าถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทนำเที่ยวของจำเลย ขณะที่พนักงานสอบสวนกลับไปเบิกความตอบทนายจำเลย ยอมรับว่าได้สอบปากคำนักท่องเที่ยวไว้ 2 คน ให้การว่าเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยได้รับความประทับใจจากการที่ได้เดินทางเข้ามา แถมไม่เคยถูกบังคับขู่เข็ญให้ซื้อสินค้าหรือเดินทางไปที่หนึ่งที่ใด

          4. จำเลยนำสืบสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว แต่ประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสกว่า 2 พันคัน และมีร้านจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีเงินทุนหมุนเวียนกันในบริษัท ก่อนถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม และถูกฟ้องศาลแพ่งยึดและอายัดทรัพย์สินกว่า 3,600 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน 

           บทสรุปของศาลในคำพิพากษาเขียนเอาไว้แบบนี้ว่า “การสอบสวนคดีนี้เริ่มแรกมีการแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ เพราะทำธุรกิจนำเที่ยวผิดกฎหมาย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวนี้เลย แต่กลับกลายมีการแจ้งข้อกล่าวหาฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ อันเป็นความผิดมูลฐานและนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน”

            ทว่าเมื่อนำเจ้าหน้าที่ ปปง.ขึ้นเบิกความ กลับระบุเพียงว่า ได้ตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมทางการเงินของจำเลยจากเอกสารสำนวนการสอบสวนเท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือมูลเหตุของความผิดนี้เลย

          ท้ายสุดของคำพิพากษาระบุว่า ศาลเห็นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง การกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเสียหายเป็นอย่างมาก แต่จากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา กลับไม่มีพยานหลักฐานใดทำให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้ง 13 คนร่วมกันกระทำความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

          นายเจษฎา อนุจารี  ทนายความให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ว่า  คดีนี้ที่ศาลยกฟ้อง ก็เพราะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง  อย่างข้อหาอั้งยี่ ที่นำมากล่าวหาจำเลยนั้น ส่วนมากข้อหา อั้งยี่  และข้อหาซ่องโจร จะงัดมาใช้เมื่อหาข้อหาอื่นไม่ได้แล้ว  โดยข้อหาอั้งยี่ตามมาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญานั้น ถ้ามีการนำสืบให้เห็นว่ามีการสมคบกันกระทำผิด มีลักษณะกระทำผิดเป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรม มีการประชุมที่จะทำผิดกฎหมาย ก็เอาผิดได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เข้าข่ายอั้งยี่แต่อย่างใด

         “เรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ  ผมมองว่าเป็นการแข่งขันทางการค้า  มีการเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว แต่อาจราคาถูกหน่อย ที่จะฟรีไม่ต้องจ่ายเงินเลยคงไม่มี และมีการแข่งขันที่สูง อย่างในคดีนี้ ก็ระบุว่าในประเทศไทยมีการประกอบธุรกิจลักษณะเช่นนี้กว่า 300 บริษัท และมีการพานักท่องเที่ยวไปซื้อของที่ร้านจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวตามที่บริษัททัวร์กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าในร้านมีราคาแพงกว่าในท้องตลาดบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญว่าต้องซื้อ ไม่ซื้อไม่ได้”

          เจษฎา ยังเล่าว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ พัฒนามาจากพวกร้านขายจิวเวอร์รี่ ที่ต้องการให้คนมาช้อปปิ้งที่ร้านของตนเยอะๆ จึงมีการประสานกับบริษัทที่ทำธุรกิจนำเที่ยว ให้ค่าตอบแทนกับบริษัทธุรกิจนำเที่ยว ที่นำนักท่องเที่ยวมาช้อปปิ้งที่ร้านของตน อาจให้ค่าตอบแทนกับบริษัทธุรกิจนำเที่ยวหัวละ 100 บาท ต่อนักเที่ยว 1 คน  บางร้านจิวเวอร์รี่  มีการจัดรถไปบริการนักท่องเที่ยวถึงสนามบิน และยังพาเที่ยวสถานที่ต่างๆอีกด้วย โดยคิดราคาถูก

          "ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  หากมีการไปบังคับ ขู่เข็ญ ให้นักท่องเที่ยวใช้บริการหรือดูโชว์,  มีการหลอกลวง ต้มตุ๋น,  ประกาศว่าจะพาไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่ง แต่พาไปเที่ยวจริงไม่ถึงตามที่ประกาศไว้  ,มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวนักท่องเที่ยวให้อยู่แต่ในโรงแรม ไม่พาไปเที่ยว,นำเอาเพชรปลอม ทองปลอม มาหลอกขายในราคาแพง, มอมยารูดเงิน นักท่องเที่ยว การกระทำลักษณะเหล่านี้ผิดกฎหมายแน่  แต่ถ้าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีลักษณะทำธุรกิจครบวงจร เช่น ทัวร์จีน นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย แล้วใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งเป็นของคนจีนทั้งหมด  อย่างนี้จะไปเอาผิดเขาไม่ได้ แม้ว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการผูกขาด การทุ่มตลาด แต่ก็ไม่เห็นว่าจะบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ในบ้านเราได้  อย่างบริษัทโอเอ ฯ ในคดีนี้ ก็เป็นบริษัทใหญ่มาก มีรถบัสให้เช่าถึง 2 พันกว่าคัน เราจะเห็นรถของบริษัทนี้เต็มไปหมด และมีร้านจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวด้วย"

           ทนายความผู้คร่ำหวอด ยังชี้ให้เห็นว่า  คดีนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดให้การต่อพนักงานสอบสวน หรือมาเบิกความที่ศาลให้เห็นว่าถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบหรือ ถูกบังคับขู่เข็ญจากจำเลย  ขณะที่พนักงานสอบสวนเองกลับไปเบิกความตอบทนายจำเลย ยอมรับว่าได้สอบปากคำนักท่องเที่ยวไว้ 2 คน ให้การว่าเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยได้รับความประทับใจจากการที่ได้เดินทางเข้ามา แถมไม่เคยถูกบังคับขู่เข็ญให้ซื้อสินค้าหรือเดินทางไปที่หนึ่งที่ใด 

           “เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมาเป็นพยานว่าถูกบังคับขู่เข็ญจากจำเลย  และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการประชุมกันในลักษณะองค์กรอาชญากรรม ก็ต้องยกฟ้องจำเลย  ผมว่าถ้าคดีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ต้นแล้ว  ที่จริงจำเลยในคดีนี้เขาฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรัฐบาลได้น่ะ ทั้งทางแพ่งและอาญา  แต่เขาคงไม่ฟ้องกลับ เพราะหลุดคดีนี้ จำเลยก็คงดีใจมากแล้ว”เจษฎา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ