คอลัมนิสต์

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

          ผลสำรวจเกี่ยวกับ “เด็กไทย” ของยูนิเซฟครั้งล่าสุด สร้างความผิดหวังเศร้าสร้อยให้แก่กลุ่มคนโลกสวย ผู้เคยเชื่อมั่นว่า “ไทย” กำลังก้าวเข้าสู่สังคมของประเทศพัฒนาแล้ว เด็กทุกคนเติบโตมาแบบสุขสมบูรณ์ด้วยการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมเป็นอนาคตของชาติไทยแลนด์ 4.0...

          หลายคนอาจคิดว่าเด็กไทยสมัยนี้มีชีวิตความเป็นอยู่แสนสบาย มีการศึกษา ไปโรงเรียนฟรี มีอาหารดีๆ มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มีสมาร์ทโฟน มีห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ฯลฯ ครอบครัวมีลูกน้อยลง ทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นกว่าเดิม

 

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

          แต่หลังจากรัฐบาลไทย ร่วมกับยูนิเซฟ จัดระบบติดตามเก็บข้อมูลความก้าวหน้าของเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้านต่างๆ ในชื่อ “โครงการสำรวจพหุดัชนีแบบจัดกลุ่ม” (Multiple Indicators Cluster Survey: MICS)

          ทำให้พบว่า เด็กๆ มี “ความล้าหลัง เหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกัน” อย่างน้อย 5 ด้าน โดยเฉพาะเด็ก 3 กลุ่มคือ 1.เด็กที่ผู้ปกครองไม่ได้เรียนหนังสือ 2.เด็กในครอบครัวยากจน และ 3.เด็กที่ครอบครัวไม่พูดภาษาไทย...

          ด้านที่ 1  “สุขภาพและโภชนาการ” ผลสำรวจพบเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ ร้อยละ 10.5 มีร่างกายเตี้ยแคระแกร็น เพราะขาดโภชนาการที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และเด็กร้อยละ 8 กลายเป็นเด็กอ้วน เสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต

          ด้านที่ 2 “การมีพัฒนาการของเด็ก” เด็กไทยไม่อ่านหนังสือหรือไม่ได้รับการส่งเสริมให้รักการอ่าน จนส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ด้านต่างๆ สถิติระบุว่าเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนถึงร้อยละ 59 ไม่มีหนังสือเด็กอยู่ในบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น “คุณพ่อ” ผู้เป็นหัวใจหลักช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย กลายเป็นคุณพ่อจอมเหินห่าง ไม่มีเวลาเล่น สอนการบ้าน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ กับลูก

 

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

          ด้านที่ 3 “การศึกษา” หากเปิดดูแค่ตัวเลขสถิติอัตราการเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา พบสูงถึงร้อยละ 95 แต่เมื่อจบประถมแล้วมีเด็กถึงร้อยละ 14 หรือประมาณ 7 แสนคนที่ไม่ได้สมัครเข้าเรียนต่อระดับมัธยม โดยเฉพาะกลุ่มที่พ่อแม่ไม่ได้พูดภาษาไทย พุ่งเป็นร้อยละ 34 ยิ่งเด็กเรียนระดับมัธยมน้อยเท่าไร แสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้ในอนาคตจะเติบโตไปแบบมีการศึกษาไม่เท่าเทียมกับเด็กอื่น

          ด้านที่ 4 “การมีบุตรของวัยรุ่น” ปัญหาแม่วัยใสเกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ตัวเลขวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี ตั้งครรภ์หรือเป็น วัยรุ่นท้องไม่พร้อม ประมาณ 60 คนต่อ 1,000 คน นับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น พม่า 22 บรูไน 17 มาเลเซีย 13 ฯลฯ ถ้าแยกเป็นระดับนักเรียนประถมศึกษาพบ 104 คนต่อ 1,000 คน ถ้ามีกลุ่มที่จบมัธยมศึกษาพบ 3 คนต่อ 1,000 คน ผลการศึกษาของยูนิเซฟระบุว่า แม้โรงเรียนส่วนใหญ่สอนวิชาเพศศึกษา แต่พบว่า นักเรียนยังขาดทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรื่องเพศวิถีและชีวิตทางเพศของตนเอง เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร การปฏิเสธ และการต่อรอง ฯลฯ

 

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

          ด้านที่ 5 “ความรุนแรงต่อเด็ก” ผลการสำรวจพบเด็กอายุ 1-14 ปี ร้อยละ 75 เคยถูกอบรมหรือลงโทษด้วยวิธีการทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ โดยผู้ปกครองเกือบครึ่งเชื่อว่า “การลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างวินัยให้แก่เด็ก” ทั้งที่งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า การใช้ความรุนแรงส่งผลร้ายต่อเด็ก ไม่ได้ทำให้สร้างวินัยได้จริง เด็กที่เคยโดนกระทำด้วยความรุนแรงจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่นับถือตนเอง เกิดความเครียดกลายเป็นโรคซึมเศร้า

          หลายฝ่ายพยายามช่วยกันคิดวิธีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในเด็กทั้ง 5 ด้าน  โดยเฉพาะการชักชวนให้คนไทยทั้งประเทศเข้ามารับรู้ และมีส่วนร่วมในเสนอวิธีหยุดยั้งไม่ให้เด็กๆ ผู้เป็นอนาคตเติบโตไปตามยถากรรมแบบที่ผ่านมา

          หนึ่งในโครงการที่ “ยูนิเซฟ” กำลังทำคือ "โครงการ#โอกาสที่เท่าเทียมหรือ#FightUnfair" มีการชักชวนคนในโลกของสื่อสังคมออนไลน์มาวิ่งการกุศล UNICEF LINE Run ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่สวนหลวง ร.9 โดยความร่วมมือของโปรแกรม "ไลน์” เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำของเด็กในประเทศไทย โดย “ดอน กอสลิ่ง” หัวหน้าฝ่ายระดมทุน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวอธิบายว่า

          “กิจกรรมครั้งนี้อยากให้เป็นงานวิ่งการกุศลครั้งใหญ่ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างยูนิเซฟกับ ”ไลน์“(LINE)ประเทศไทย พวกเราอยากตอกย้ำให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงพลัง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยระดมทุนให้ยูนิเซฟในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคนที่ขาดโอกาสต่อไปอีกด้วย วิ่งการกุศลครั้งนี้จะมีการใช้คาแรกเตอร์การ์ตูนและตัวอื่นๆ มาร่วมเป็นสีสันด้วย”

 

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

 

          “พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” หัวหน้าฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ “ไลน์” ประเทศไทย เปิดใจกับ “คม ชัด ลึก” ว่าที่ผ่านมายูนิเซฟกับไลน์จับมือเป็นพันธมิตร มีกิจกรรมความร่วมมือระดับโลกหลายครั้งแล้ว เช่น การออกสติกเกอร์หลายชุดช่วยระดมทุนช่วยเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบดิจิทัล แต่สำหรับไลน์ประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมแบบออฟไลน์ร่วมกัน และสถานที่วิ่งการกุศลได้เลือกสวนหลวง ร.9 เพราะเป็นเส้นทางวิ่งที่สวยงามมากของกรุงเทพฯ อยากให้คนไทยและสมาชิกไลน์ได้มีกิจกรรมสนุกๆ กับเพื่อนๆ ครอบครัว และได้ใกล้ชิดกับไลน์คาแรกเตอร์อย่างบราวน์ โคนี่ และเพื่อนๆ เพราะมีทั้งระยะทางให้เลือก 2.5, 5 และ 10.5 กิโลเมตร สำหรับผู้ที่ชอบวิ่งจริงจัง หรือครอบครัวไหนอยากมาเดินเล่นถ่ายรูปเซลฟี่ก็สนุกสนานไปอีกแบบ ไลน์เตรียมนำเทคโนโลยีไลน์บีคอน (LINE Beacon) มาช่วยให้นักวิ่งรับรู้ข้อมูลการวิ่งและระยะทางของตัวเองแบบอัตโนมัติเรียลไทม์ผ่านทางออฟฟิเชียลแอคเคาท์ “UNICEF LINE Run”

 

ยูนิเซฟระดม “สาวกไลน์”!วิ่งแก้ “เด็กไทยเหลื่อมล้ำ”

 

           "ตอนนี้สมาชิกไลน์ในประเทศไทยมีมากกว่า 33 ล้านคน ทำให้ผมเชื่อว่าการจับมือกับยูนิเซฟเป็นการเปิดโอกาสให้แฟนๆ ที่ชื่นชอบคาแรกเตอร์ไลน์มาสมัครวิ่งการกุศลด้วยกัน ตอนนี้เกือบครบ 8 พันคนแล้ว รายได้มอบให้ยูนิเซฟทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าเด็กๆ ในประเทศไทยยังมีปัญหาอีกมากมายที่พวกเราไม่ค่อยรู้ เช่น เด็กชายขอบ หรือกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาหรือระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ฯลฯ ไลน์หวังว่าวิ่งการกุศลครั้งนี้จะสนับสนุนโครงการของยูนิเซฟให้ช่วยเหลือเด็กๆ ได้มากขึ้น" พิเชษฐ กล่าว

 



         นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ “สาวกออนไลน์” กับ “วิ่งการกุศล” สามารถหลอมรวมกันได้ กลายเป็นพละกำลังช่วยสนับสนุนเด็กๆ ของพวกเราได้เติบโตอย่างมีสุขภาวะดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

          ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องจับมือคนไทยก้าวไปสู่อนาคตแบบปลดล็อก “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่ใช่แค่ตั้งเป้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างไม่เท่าเทียม...
ทีมข่าวรายงานพิเศษ
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ