คอลัมนิสต์

ไทยต้องแลกอะไรแทน “ค่าโง่”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การใช้มาตรา 44 ยกเลิกการทำเหมืองทอง เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทำท่าจะไม่จบลงง่ายๆ และบริษัทเองก็ไม่ผลีผลามเข้าสู่การเรียกค่าเสียหาย ต้องจับตาว่าอะไรที่เราจะต้องแลก

กลายเป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับการใช้ มาตรา 44 ปิดเหมืองทองเมื่อปลายปี 2559 ทำให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดต จากประเทศออสเตรเลีย ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทอัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ผู้รับประทานบัตรเหมืองทองคำ เตรียมเรียกค่าเสียหายจากประเทศไทยโดยการฟ้องต่ออณุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าไทยทำผิดข้อตกลง FTA ระหว่างไทยและออสเตรเลีย และมีความเป็นได้ไม่น้อยว่าหากแพ้ในชั้นอณุญาโตตุลาการ ไทยอาจต้องเสีย “ค่าโง่” อีกครั้งโดยมีประชาชนเป็นผู้สนบสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

เรื่องนี้เราได้กล่าวถึงตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การใช้มาตรา 44 แม้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในไทยแบบเบ็ดเสร็จชนิดไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แต่ในประชาคมโลกไม่ใช่เช่นนั้น ม.44 และอำนาจรัฏฐาธิปัตย์มิอาจเอื้อมวงแขนแห่งอำนาจออกไปถึงได้

 

เพราะสิ่งที่ “คิงสเกตฯ” กำลังทำนั้น กำลังทำคือการเรียกร้องว่าไทยทำผิด และไม่ใช้หลักการสากลที่ถูกต้องในการระงับสัญญาการทำธุรกิจ  ข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม และความแตกแยก ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นวิชาการอย่างชัดแจ้งและเป็นรูปธรรม 

 

ถึงนาทีต้องบอกว่า “คิงสเกต” ถือไพ่เหนือกว่า เพราะการใช้คำสั่งที่เป็นอำนาจที่มิได้มาตามระบบ หรือมิได้มีรากจากผลการศึกษาที่ถูกต้อง ย่อมไม่สามารถเป็นการรับรองอำนาจในเวทีโลกได้ และหากขึ้นสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการก็มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวว่า “ไทย” จะแพ้

 

แต่เกมส์นี้่อาจจะล้ำลึกกว่านั้น เพราะ “ผู้เสียหาย” ไม่ผลีผลาม กระโดดเข้าขย้ำเหยื่อ แม้จะมีการระบุว่าค่าโง่ที่ต้องจ่ายอาจถึง 30,000 ล้านบาท แต่ทางเจ้าตัวกลับออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่เคยกล่าวถึงตัวเลข 30,000 ล้านบาทเลย

 

พวกเขาเพียงแต่บอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจากับรัฐบาลไทย และไม่ต้องการที่จะกดดัน หรือขีดเส้นตายใดๆทั้งสิ้นเพื่อให้การเจรจาไปได้ด้วยดี

 

สิ่งที่ “อัคราฯ” ระบุคือในขั้นตอนการเจรจา สิ่งที่พวกเขาต้องการรคือการ การันตีว่าเขาจะได้ทำเหมืองต่อในประทานบัตรเดิมที่เขาเคยได้ ซึ่งจะมีอายุถึงปี 2572 และจะไม่มีอะไรที่มาทำให้ธุรกิจของพวกเขาสะดุดหยุดลงเหมือนที่ ม.44 เคยทำไว้

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาบอกว่าที่ผ่านมาในการสั่งปิดเหมืองก็ทำให้เสียหายไปไม่น้อย การเรียกร้องค่าเสียหายนั้นเป็นตัวเลือกที่ต้องได้อยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่จะตามมาหลังจากได้รับการยืนยันว่าจะได้รับผลประโยชน์ที่ควรได้ และรับรองว่าจะได้ทำธุรกิจต่อไป

 

พวกเขาไม่ได้บอกว่าตัวเลขค่าเสียหายหากต้องปิดเหมืองอยู่ที่เท่าไหร่ แต่เลี่ยงเพื่อบอกว่าทีผ่านมา รายได้ของพวกเขาอยู่ทีปีละ 5,000 ล้านบาท

 

ตัวแทนชาวไทยของ “อัคราฯ” บอกกับทีมข่าวของเครือเนชั่นฯ ในวันที่มาชี้แจงระบุว่า “เขาเองก็ไม่ต้องการให้เกิดการจ่าย เพราะนั่นก็หมายถึงเงินของพวกเราประชาชนคนไทย” แต่สิ่งที่เขาพูดต่อมาก็คือ การเจรจาทางตัวแทนของรัฐบาลไทยที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนั่งหัวโต๊ะ ก็ไม่ต้องการให้จ่ายเงินเช่นกัน ก็ต้องมาดูว่าจะเยียวยาหรือชดเชยอย่างไรได้บ้าง

 

จุดนี้เองที่ทำให้เห็นถึงความใจเย็นของ “อัคราฯ” และ บริษัทแม่อย่าง “คิงส์เกตฯ” ที่ใช้ชั้นเชิงในการเจรจา เรียกร้องผลประโยชน์ทดแทนสิ่งที่เสียไป เพราะสิ่งที่เสียไปอาจคำนวณเป็นต้นทุน และสิ่งที่ได้มาต้องคุ้มค่า และความคุ้มค่าไม่ได้จำกัดในรูปแบบของตัวเงินเท่านั้น

    

สิ่งที่ต้องจับตาดูจากนี้คือ วงเจรจาที่ว่าจะได้ข้อตกลงอย่างไร  และรัฐบาลไทยจะต้อง “มอบ” สิ่งใดให้กับทางบริษัทเอกชนเพื่อชดเชยความเสียหาย แลกกับการที่ต้องไม่ให้เรื่องขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ   

 

ขณะที่รัฐบาลก็คงชอบแนวทางนี้มากกว่าที่จะต้องควักเงิน หลายหมื่นล้าน ซ้ำยังถูกตราหน้าว่าแพ้ในเวทีโลก 

 

การเสียเงินนั้นกระทบกับความรู้สึกของคนมากกว่าการสูญเสียอย่างอื่นที่เข้าใจยากเช่น สัมปทานเพิ่มเติม หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด  แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว  ประชาชนก็ได้แต่ทำตาปริบๆกับ “ค่าโง่”ครั้งนี้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียมันในรูปแบบใดก็ตาม

------

(คอลัมน์ ขยายปมร้อน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ