คอลัมนิสต์

โจทย์ใหญ่ไม่ใช่คำตัดสิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อทุกสายตาจับจ้องไปที่คำพิพากษาคดี "จำนำข้าว" และเกิดคำถามว่าหลังจากนั้นบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร "สุริชัย หวันแก้ว" กลับมองว่า "โจทย์ใหญ่ไม่ใช่คำตัดสิน"

         สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง สถานการณ์ทางการเมืองหลังคำพิพากษา คดี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ” เรื่อง โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แม้สถานะของคดีดังกล่าวจะมีความสำคัญทางการเมือง เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารต่อการกำหนดนโยบายที่ต้องไม่เกิดความผิดพลาดที่สร้างผลกระทบต่อความเสียหายด้านงบประมาณของประเทศ แต่ภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองทั้งหมด ไม่ควรให้น้ำหนักเฉพาะคดีจำนำข้าวเพียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาการตัดสินคดีที่สำคัญทางการเมือง อาทิ การสลายการชุมนุม เคยผ่านมาแล้ว และภาคส่วนของสังคมได้รับบทเรียนมามากพอแล้ว

         “ที่ผ่านมาเราผ่านการทดสอบวุฒิภาวะของสังคมไทยโดยรวม หากมองภาพแบบเชื่อมโยง อย่างมีสติ แน่นอนว่าจะเกิดความเข้าใจและยอมรับร่วมกัน ส่วนกรณีที่ไม่ว่าแนวโน้มของคำพิพากษาจะออกมาทางไหน ก็จะมีคนไม่พอใจ เพราะตัดสินไม่เป็นไปตามที่ใจต้องการ เราควรตั้งต้นของการแก้ปัญหานี้ว่า สังคมต้องอยู่ร่วมกันไม่ใช่ต้องหักล้าง หรือทำลายฝ่ายตรงข้ามเสมอไป หากจะมองว่าคดีของคุณยิ่งลักษณ์ คือการทำลายฝ่ายการเมืองขั้วของพรรคเพื่อไทย อาจจะมองได้ เพราะเรื่องคุมโครงการจำนำข้า ไม่ใช่เรื่องที่มองว่าเป็น ดำ หรือ ขาวแบบชัดเจน แต่เพื่อความเป็นธรรมและสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ควรพิจารณาด้วยว่าในพฤติกรรมของการดูแลนโยบายของคุณยิ่งลักษณ์ สมัยที่เป็นนายกฯ นั้นมีความผิดพลาด และไม่เอาใจใส่ ในการตรวจสอบจนทำให้การดำเนินโครงการมีผลกระทบและสร้างปัญหาใดหรือไม่” สุริชัย กล่าว

 

         สุริชัย มองด้วยว่ากับแนวโน้มของสถานการณ์ทางการเมืองหลังวันพิพากษานั้น โจทย์ใหญ่ไม่ใช่ที่คำตัดสิน แต่เป็นสิ่งที่ต้องคิดร่วมกันต่อประเด็น ที่สังคมจะเดินหน้าอย่างมีอนาคตร่วมกันอย่างไร โดยผู้ที่มีอำนาจพิเศษอยู่ในปัจจุบันต้องร่วมสร้างบรรยากาศในสังคมให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วย ด้วยว่าภาวะการนำของรัฐบาลปัจจุบันไม่ใช่แบบประชาธิปไตย แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนผ่านต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้กลับสู่ภาวะสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำแบบชี้นิ้วสั่งการเท่านั้น ขณะที่พรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต้องทบทวนตนเองด้วย โดยเฉพาะการปฏิรูปภายในพรรคเพื่อให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาของสังคมแบบองค์รวม ไม่ใช่คิดแบบเดิม ที่ว่า มองทางที่เป็นประโยชน์เฉพาะพรรคพวกของตนเองเท่านั้น โดยการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหานั้น สถาบันตำรวจ สถาบันทหารและฝ่ายความมั่นคงทุกระบบต้องทบทวนตนเองเพื่อสร้างการปฏิรูปที่สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า ผลคำพิพากษาของ “คดียิ่งลักษณ์” จะสร้างจุดแตกหักของขั้วทักษิณ กับขั้วของ คสช. นั้น “สุริชัย” กล่าว คงไม่ใช่จุดแตกหัก เพราะโครงสร้างที่หลายฝ่ายเข้าใจมีหลายระดับ และระดับต่างๆ นั้นสามารถต่อกันติด ซึ่งประเด็นมุมมองของหลายฝ่ายยอมรับว่าเป็นสิ่งที่สังคมส่วนหนึ่งคิด แต่โจทย์ที่ต้องคิดเพื่อให้ผ่านเฉพาะมุมแตกหัก คือ การรักษาต้องถูกต้องและการปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ ขณะเดียวกันความแตกแยกที่เคยมี ต้องพยายามอย่าให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ โดยทุกฝ่าย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายพรรคการเมืองต้องพิจารณาเพื่อปฏิรูปตนเองเพื่อไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม

 

“ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่การแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ควรนำไปปฏิบัติ ดังนั้นต้องมีสติ พิจารณาความทุกข์ ความเดือดร้อน อย่าคิดว่าต้องแก้ปัญหาให้เป็นไปตามที่ตนออกกแบบ โดยลืมมองใจเขาใจเรา หรือสภาพการที่ต้องการร่วมคิด ร่วมแก้ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดวังวนแบบการมองปัญหาด้านเดียว แม้จะถูกต้องแต่ไม่สามารถเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของคนในสังคม” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย

---

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ