คอลัมนิสต์

ปฏิรูปรถเมล์ไทย จะสำเร็จไหม?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ลึกกับจุฬา

 

แผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เริ่มต้นแล้วเมื่อหลายวันที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ รถเมล์ทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนสี ตามโซนวิ่งของรถ เป็นสีเขียว แดง น้ำเงิน และเหลือง รวมถึงรหัสเลขใหม่ พร้อมเปิดสายทดลองวิ่ง 8 สาย

ขณะที่ฝั่งประชาชนผู้ใช้รถต่างบ่นกันระงมว่า สับสน ไม่คุ้นเคยกับเลขใหม่ และยังล้อเลียนกันอีกว่า นึกว่าตนเองจะได้ใช้รถเมล์คันใหม่ แต่ความเป็นจริง เป็นเพียงรถเมล์คันเก่านำมาทาสีตัวหน้ารถเท่านั้น เป็นที่มาของคำพูดล้อเลียนในโลกออนไลน์ว่า “สิ่งที่ได้ไม่เหมือนสิ่งที่คิด”

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เป้าหมายของการปฏิรูปรถเมล์นี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการรูปแบบหนึ่ง ต่อไป รถเมล์แต่ละสายจะวิ่งเพียงระยะสั้นๆ เช่น จากเดิมจะวิ่งตลอดสาย 50 กิโลเมตร ต่อไปจะเหลือวิ่งแค่ 10 กิโลเมตร

“พอเส้นทางบริการสั้น ก็จะคุมเวลาได้ดีขึ้น รถขาดก็รีบปล่อยรถไปเสริม และที่เขาบอกว่าจะจัดโซนเชื่อมกับรถไฟฟ้า ก็ช่วยให้เดินทางสะดวก ข้อดีคือควบคุมเวลาบริการได้ แต่ข้อเสียก็มี ทำให้คนต้องต่อรถหลายทาง” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าว

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีรถเมล์ 3 สายมีจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดคนละที่กัน แต่มีเส้นทางร่วมกันระหว่างทาง ต่อจากนี้ไปจะไม่มีแล้ว จะเป็นเส้นใครเส้นมันไปสายเดียว ถ้าจะไปเส้นทางอื่นก็ต้องเปลี่ยนรถ

ข้อสำคัญคือ “ของดีไม่มีถูก” ซึ่ง รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์หมายความว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพ การบริการ และประสิทธิภาพจะต้องเพิ่มตาม แต่ภาระนี้จะตกไปอยู่ที่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน ค่ารถจะแพงขึ้นหรือไม่ ต้องอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะอุดหนุนและช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน

แต่จากสภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏ จนกลายเป็นดราม่า “รถเมล์ทาสี” ในโลกออนไลน์ ก็เป็นภาพสะท้อนว่า ขสมก.เองก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เมื่อย้อนกลับไปก็พบว่ามีการขาดทุน และเป็นหนี้มาตลอด ขณะที่รัฐบาลเร่งรัดให้มีการปรับปรุงคุณภาพรถและบริการ

“ไอเดียการปฏิรูปถูกต้องนะ แต่พอออกมาเป็นงานปฏิบัติจริงมันดูแย่ คนเลยวิจารณ์ เอารถเมล์มาทาสีก็เลยเสียเครดิต คือตัวแผนปฏิรูป เสนอไป 100 ทำได้จริง 70 มันทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าว

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ระบุว่า ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนด้วยรถประจำทางเลย ที่ผ่านมารัฐบาลมีแต่นโยบายสนับสนุนคนใช้รถยนต์ส่วนตัว และรถไฟฟ้าที่มีงบประมาณสนับสนุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“คือประเทศพัฒนาแล้ว คนรวยใช้ขนส่งมวลชนนะ แต่นโยบายของประเทศเราไม่เคยจัด Priority (วางลำดับความสำคัญ) ให้แก่รถเมล์เลย ควรจะมีนโยบายที่สนับสนุนมากกว่านี้ รัฐบาลต้องลงทุน ต้องเอาจริงให้มากกว่านี้ ทุกวันนี้ ขสมก.ก็ยังเป็นหนี้อยู่เลย” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ระบุ

ปัญหารถเมล์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก่อให้เกิดธุรกิจรถตู้เดินทาง ทั้งในจังหวัดและข้ามจังหวัด เนื่องจากรถโดยสารประจำทางไม่ได้มีการพัฒนา ทำให้เอกชนต้องมาจัดการกันเอง และบ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุตามหน้าข่าวอยู่บ่อยๆ

รถโดยสารประจำทางที่เป็นรถร่วมบริการ ก็มีการคุมค่าโดยสารไม่ให้สูง แต่พอราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น จำเป็นต้องมีการลดต้นทุน ทำให้ต้องใช้รถเก่า ไม่บำรุงรักษา และต้องขับเร็วเพื่อทำรอบ ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่คนบ่นกัน พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าควรจะปรับปรุงตรงนี้มากกว่าการปฏิรูปสายรถเมล์ ซึ่ง รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ชี้ว่าเป็นปัญหาที่มีต้นเหตุมาจากที่รถเมล์ไม่ได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น

“ของต่างประเทศเขามี earmark คือเป็นกองทุนสนับสนุน หักภาษีน้ำมันมาสนับสนุนขนส่งมวลชนเพื่อให้มีคุณภาพ ของไทยเราต้องปากกัดตีนถีบ แค่จะซื้อรถก็ยื้อแล้วยื้ออีก ไม่ได้สักที รถก็เลยติดอยู่อย่างนี้ไม่ไปไหน แถมภาครัฐยังมองว่า ขสมก.เป็นปัญหา บริหารไม่มีประสิทธิภาพเอง ควรต้องปรับปรุง” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าว

จะเป็นอย่างไรต่อ และการปฏิรูปรถเมล์ครั้งใหญ่ครั้งนี้ในรอบหลายสิบปีนี้จะสำเร็จไหม คงเป็นคำถามหลักที่ทุกคนสนใจ แต่ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่า “ไม่อยากให้คาดหวังกับการปฏิรูปครั้งนี้มาก” เพราะทรัพยากรในการปฏิรูปน้อยเกินไป

“ถ้ายังทำแบบเดิมๆ งบเดิมๆ เปลี่ยนแค่เส้นทาง โซนสี ก็คงไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน หนี้แสนล้านของ ขสมก.ก็ยังอยู่ อย่าไปคิดว่าบริหารดีแล้วกำไรจะอู้ฟู่ ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่มีระบบที่เอื้อต่อบริการรถเมล์ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์สรุป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ