คอลัมนิสต์

สิ่งท้าทาย หุ้นส่วนยุทธศาสตร์"ไทย-เวียดนาม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ่งท้าทาย หุ้นส่วนยุทธศาสตร์"ไทย-เวียดนาม" :  โดย...  ทรงฤทธิ์ โพนเงิน

 

          การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ เหงวียน ซวน ฟุ๊ก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม 2017 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีเวียดนามคนที่ 2 (ต่อจาก เหงวียน เติ่น หยุง นายกรัฐ มนตรีคนก่อน) ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย นับจากการบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2013 เป็นต้นมา 

          ทั้งยังถือเป็นนายกรัฐมนตรีเวียดนามคนแรกที่เดินทางเยือนไทย ภายหลังพิธีการเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเวียดนามครบรอบ 40 ปีในเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น ดร.หวอ ซวน วิง นักวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งเวียดนาม ก็ได้กล่าวให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจในการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “Enhancing Vietnam-Thailand Relations for Common Prosperity, Sustainable Development and Regional Security” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

          “การบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับไทย นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2013 เป็นต้นมา ได้แสดงถึงความเชื่อมั่น และความไว้วางใจขั้นสูงสุดระหว่างไทยกับเวียดนาม แต่ถึงกระนั้น ก้าวย่างที่ไทย-เวียดนามกำลังเดินไปข้างหน้าร่วมกัน ก็ยังเต็มไปด้วยสิ่งที่ท้าทายต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งจะต้องร่วมกันสร้างสรรค์และก้าวข้ามไปให้ได้”

          กล่าวสำหรับในด้านเศรษฐกิจนั้น ถึงแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเกินกว่า 27 เท่า ก็คือเพิ่มขึ้นจาก 513.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1995 เป็นมากกว่า 13,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 ก็ตาม แต่เวียดนามก็ยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน (เป็นรองมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่มีมูลค่าการค้ากับไทยกว่า 20,527 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับ 14,726 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมากกว่า 14,452 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 ตามลำดับ) หากแต่การที่เวียดนามกับไทยจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 นั้นก็มิใช่เรื่องง่าย

 

สิ่งท้าทาย หุ้นส่วนยุทธศาสตร์"ไทย-เวียดนาม"

 

          ส่วนในด้านการลงทุนนั้น แม้ว่าไทยจะมีมูลค่าการลงทุนสะสมในเวียดนาม มากกว่า 8,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 450 โครงการก็ตาม แต่ก็เทียบมิได้เลยกับการลงทุนของสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีมูลค่าลงทุนสะสมมากกว่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและกว่า 15,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนามตามลำดับ ทั้งยังถือเป็น 2 ประเทศในอาเซียนที่อยู่ใน 10 อันดับแรก ในฐานะประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในเวียดนามอีกด้วย ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 11 ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดอันดับลงเรื่อยๆ ถ้าหากยังขาดการประสานงานที่ดีระหว่างรัฐกับเอกชนไทย-เวียดนาม

          อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในแง่ของความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างเวียดนามกับไทยในระยะ 22 ปีมานี้หรือนับจากการที่เวียดนามได้เข้ามาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามนั้นมีพัฒนาการในทางที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสิ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศได้อย่างชัดเจน ก็คือการที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงว่าด้วยเขตน่านน้ำทางทะเลในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1997 และไทยยังถือเป็นประเทศแรกในโลกที่บรรลุข้อตกลงนี้ร่วมกับเวียดนาม นับตั้ง แต่ข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UNCLOS) มีผลบังคับใช้ในปี 1982

          ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยกับเวียดนามยังมีแนวทางที่สอดคล้องกันในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้อีกด้วย ถึงแม้ว่าไทยจะมิใช่คู่ขัดแย้งอย่างเวียดนาม (รวมฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน) ที่มีต่อจีนก็ตาม แต่การที่รัฐบาลไทยกับเวียดนาม ได้แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการแก้ปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธี ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทย-เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2015 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของทั้ง UNCLOS กับ Conduct of Parties in the South China Sea (DOC) และ Code of Conduct (COC) ว่าด้วยการแก้ปัญหาขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้นั้นก็ถือเป็นการต่างประเทศที่สร้างสรรค์ที่ทั้ง 2 ประเทศมีร่วมกันโดยปราศจากการมองแต่ผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเป็นที่ตั้ง

          ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสร้างสรรค์ระหว่างไทยกับเวียดนาม ได้ปรากฏผลให้เห็นอย่างชัด เจนจากความร่วมมือในการสำรวจและขุดค้นแหล่งน้ำมันและแก๊สในเขตอ่าวไทยนับจากปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. (PTTEP) ได้ร่วมทุนกับกลุ่ม PetroVietnam Exploration and Production Corp. (PVEP) ในการสำรวจและสามารถนำแก๊สและน้ำมันจากแหล่ง Yellow Tunaและแหล่ง White Rhino ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ในปี 2008 และปี 2011 ตามลำดับ ทั้งก็ยังร่วมกัน

 

สิ่งท้าทาย หุ้นส่วนยุทธศาสตร์"ไทย-เวียดนาม"

 

          สำรวจและขุดค้นในเขต Vung Tau โดยร่วมมือกับ Chevron, MOECO and Mitsui อีกด้วย

          นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือที่ถือว่ามีศักยภาพสูงในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านภายใต้การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนาม ก็คือ ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region--GMS) เนื่องจากทั้งเวียดนามและไทยนั้นถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการเชื่อมต่อความร่วมมือกับลาว พม่า กัมพูชา และจีนนั่นเอง

          โดยล่าสุด รัฐบาลไทยก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วม 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย (CLMVT FORUM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2016 ภายใต้เป้าหมายเพื่อการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและขยายการร่วมมือในทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทั้ง 5 ประเทศให้ดีขึ้น

          ทั้งนี้ด้วยการสร้างฐานการผลิตสินค้าต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงวางแผนการผลิตที่สอดคล้องเหมาะสมกับระดับความต้องการที่เป็นจริงของตลาด โดยไม่ตัดราคากันในสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น กาแฟ ชา ยางพารา และข้าวเป็นต้น ส่วนธุรกิจที่สามารถจะสร้างผลประโยชน์ให้กับ 5 ประเทศได้อย่างมากมายและสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ก็คือภาคบริการและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงกันทั้ง 5 ประเทศ ดังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การยืนยันต่อที่ประชุมฯ ว่า

          “ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว ในวันนี้เป็นรายได้ที่ดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวของเพื่อนบ้านทั้งหมด ในลักษณะเป็น Package ร่วมกัน เป็นไทยบวกหนึ่งหรือเป็นเมียนมาร์บวกหนึ่งมาไทย หรือ ลาวมาไทยๆไปลาวก็แล้วแต่ เราต้องเป็นศูนย์กลางซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ก็คุยกันในเรื่องมิติการท่องเที่ยวว่าเรามีกี่ Cluster การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงป่าเขาลำเนาไพร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทางศาสนา ฉะนั้น เราต้องจัดวางแผนการท่องเที่ยวให้ได้ทั้งปี แต่ละประเทศมีตรงไหนเป็นที่เที่ยวที่ดีที่สุดก็มาเชื่อมโยงกัน”

          โดยเขตที่ถือว่ามีศักยภาพสูงมากสำหรับเวียดนามในการเชื่อมโยงมายังไทย ก็คือเขตสามเหลี่ยมพัฒนาระหว่างลาว-กัมพูชาและเวียดนามที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า 144,600 ตารางกิโลเมตรในเขต 13 แขวง (จังหวัด) คือแขวงสาละวัน เซกอง อัตตะปือ และจำปาสักของลาว แขวงสตึงแตร็งรัตนคีรี มณฑลคีรี และกระเจาะของกัมพูชา แขวงดักลัก หย่าหล่าย กอนตุม ดักนง และ บิงเฝือกของเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงและเตรียมพร้อมทั้งในด้านการสนองข้อมูล การปรึกษาหารือ และการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อทำให้บรรยากาศทางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในเขตสามเหลี่ยมพัฒนาฯ ให้เป็นเขตที่มีการขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 10 ที่แขวงจำปาสัก เมื่อปลายปี 2015 ที่ผ่านมา

          ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำรัฐบาลลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังได้เป้าหมายร่วมกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจในเขตสามเหลี่ยมพัฒนาฯนี้ขยายตัวมากกว่า 10% เพื่อทำให้ประชาชนในเขตสามเหลี่ยมพัฒนามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปัจจุบันเป็น 2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปี 2020 นั้น จึงถือเป็นพื้นที่หนึ่งในความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งในที่นี้ยังรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่การร่วมมือด้านแรงงาน ด้านการศึกษา-วัฒนธรรม การเชื่อมต่อด้านคมนาคม-ขนส่งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

          นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งเน้นในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาประมงอย่างยั่งยืน โดยฝ่ายเวียดนามจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายประมงไทยสู่การรับรู้ของชาวประมงในเวียดนามอย่างกว้างขวาง ทั้งยังจะเสริมเพิ่มความร่วมมือทางวิชาการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การกีฬา ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นระหว่างกันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

          แต่ถึงกระนั้น ความสัมฤทธิ์ผลในความร่วมมือเหล่านี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างประชาชนสองประเทศ โดยตระหนักในความสำคัญที่ว่าเวียดนามกับไทยนั้นอยู่ในครอบครัวอาเซียนเดียวกัน ทั้งยังเป็นสองชาติแรกในอาเซียนที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ซึ่งจะต้องข้ามพ้นจากการมองว่าเป็นคู่แข่งกันไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มั่งคั่งและมั่นคงให้ได้อย่างแท้จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ