คอลัมนิสต์

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่านวันแรกของการทดลองปรับปรุงสายรถเมล์ เป็นอย่างไรกันบ้าง เราพาไปพูดคุยกับทั้งคนให้บริการ และคนใช้บริการ

เริ่มกันไปแล้ว สำหรับปฏิบัติการ (ทดลอง) ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทาง หรือ รถเมล์ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ของกรมการขนส่งทางบก สังกัดกระทรวงคมนาคม ผ่านเปลี่ยนชื่อเรียกสายรถ จากเดิมที่มีเฉพาะตัวเลข ไปเป็น ตัวเลขพ่วงอักษรภาษาอังกฤษ, เปลี่ยนเส้นทางเดินรถ และเปลี่ยนสีด้านหน้ารถ

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

สำหรับปฏิบัติการนี้ มีระยะทดลองวิ่ง 1 เดือนและนำร่องใน 8 เส้นทาง คือ สาย G21 รังสิต-ท่าเรือพระราม5 , สาย G59E (ทางด่วน)มีนบุรี – ท่าเรือสี่พระยา , สาย R3 สวนหลวง ร.9 – สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ, สาย R41 ถนนตก-แฮปปี้แลนด์, สาย Y59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน – กระทุ่มแบน, สาย Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ – สถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักร, สาย B44 วงกลมพระราม 9 – สุทธิสาร และ สาย B45 หมู่บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม – ท่าเรือสะพานพุทธ

 

โดยเกือบทั้งหมดจะวิ่งในระยะและเส้นทางเดิมที่มีรถเมล์ วิ่งประจำทาง ยกเว้นบางเส้นทางที่ปรับเพื่อแก้ปัญหาวิ่งทับเส้นทาง แน่นอนว่า.. การปฏิรูประยะทดลอง ย่อมสร้างความงุงงง ให้กับผู้ใช้บริการรถเมล์ในเส้นทาง เมื่อเทียบกับสายเดินรถที่ใช้ประจำ

อย่าง “สรางรัตน์ สิริสัจจานุวงศ์" อายุ 66 ปี พักอยู่ย่านวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กทม. ที่แม้จะใช้เส้นทางประจำ จากตลาดนนทบุรี สู่ อู่นครอินทร์ ที่เป็นจุดส่งปลายทางของรถเมล์ สาย 114 หรือที่ปรับใหม่เป็น G21 ยังออกตัวว่า “งง” และเห็นคราวแรก ไม่กล้าขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะวิ่งตามเส้นทางที่เคยใช้และพาไปสู่จุดหมายที่ต้องการหรือไม่

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

(สรางรัตน์ สิริสัจจานุวงศ์)

“ป้าจะมาลงที่อู่นครอินทร์ เนี่ยแหละ แต่เห็นป้ายหน้ารถเขียนว่า รังสิต-ท่าเรือพระราม5 ก็งง ไม่กล้าขึ้น เพราะไม่คุ้น แถมไม่รู้ว่ารถเมล์จะพาไปไหน แต่พนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถตะโกนเรียก ซึ่งป้าจำได้ เพราะรู้จักกันมาก่อน จึงขึ้นมาใช้บริการ แต่ก็ยังไงก็งงอยู่ดี” สรางรัตน์ เผยความในใจ

 

เมื่อเราถามถึงข้อมูลบ่งชี้ของการเปลี่ยนสายรถเมล์ และสีรถตามที่หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้ เธอหัวเราะก่อนตอบ ว่าทราบมาบ้าง ผ่านน้องชายที่ทำงานในอู่รถเมล์ เขาบอกว่าจะเริ่มเปลี่ยนชื่อเรียกสายรถแล้ว แต่ไม่ทันได้จำว่าเป็นหมายเลขอะไร ก่อนหน้านี้ที่ใช้บริการรถเมล์ จะใช้อ่านป้ายหน้ารถว่าไปส่งจุดไหน เมื่อป้ายจุดหมายเปลี่ยนไป แถมเลขประจำสายเปลี่ยนอีก ยิ่งงไปใหญ่ ทั้งที่ท่าเรือพระราม5 อยู่ใกล้อู่นครอินทร์ เดินไปได้นิดเดียว

 

ส่วนสีรถที่ใช้สติ๊กเกอร์สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ช่วยจำนั้น “สรางรัตน์” ถามกลับพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ทำไมต้องสีเขียว แล้วสายอื่นใช้สีเขียวเหมือนกันไหม”

 

ขณะที่ “ชัยรัตน์ รัตนกานดา" วัย 69 ปี อาชีพอิสระ ให้ความเห็นเรื่องปรับเลขสายรถเมล์ ระหว่างที่รอใช้บริการรถเมล์ จากโรงพยาบาลศิริราช ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า “เขาอาจเปลี่ยนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า เพราะสังเกตได้จากอักษรภาษาอังกฤษที่มาพร้อมกับตัวเลขประจำรถ แต่การปฏิรูประบบเดินรถรูปแบบใหม่นั้น ยังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง”

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

(ชัยรัตน์ รัตนกานดา)

ส่วนมุมมองของ “ประชาชน” ที่ใช้บริการของรถประจำทางเป็นประจำ ต่อการปฏิรูปหรือพัฒนาระบบเดินรถ เห็นตรงกันว่า ควรเริ่มต้นจากการการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ที่เน้นความปลอดภัยของประชาชน มากกว่าเริ่มปรับที่เลขรถโดยสาร โดย “ชัยรัตน์” ที่ใช้รถประจำทางจากที่พักย่านรามคำแหง ไปสู่จุดหมายต่างๆ ตั้งความหวังกับการปฏิรูปด้านบริการ ใน 3 ด้าน คือ 1.มีสายตรวจประจำทาง เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร อย่างน้อยควรมีตามเส้นทางที่มีปัญหาเด็กนักเรียนชกต่อยกัน , 2. ปรับปรุงคุณภาพให้บริการของพนักงานขับรถ ที่ต้องดูความเรียบร้อยของผู้โดยสายระหว่างขึ้นรถ และลงรถ ก่อนใส่เกียร์เดินหน้า เพราะจากประสบการณ์พบว่า พนักงานขับรถมักใจร้อน คนชรายังขึ้นรถไม่เรียบร้อย ก็ออกตัวเดินหน้า ซึ่งผู้โดยสารเสี่ยงได้รับบาดเจ็บ และ 3.ให้หน่วยงานของรัฐที่กำกับการบริการของรถโดยสารร่วมเอกชน เข้มงวดเรื่องมารยาทของคนขับรถ เพราะจากประสบการณ์ที่เจอเขาจะขับรถหวาดเสียว ขับรถเร็ว และมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารและยานพานะอื่น บนถนน

 

ขณะที่ “ธนชัย แย้มชื่น" อาชีพฟรีแลนซ์ วัย 33 ปี ผู้โดยสารรถเมล์ สาย Y61 บางแค-หมอชิต ที่พอใจต่อการบริการรถเมล์ ขสมก. แต่การปฏิรูปเดินรถ ที่เป็นของใหม่ทั้งเลขรถ สถานที่จุดหมายและปลายทางนั้น ควรบอกรายละเอียดสถานที่สำคัญตามเส้นทางไว้ด้วย นอกจากนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยการพัฒนารูปแบบรถโดยสารควรคำนึงถึงเส้นทางตามสถานที่สำคัญที่ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาต่อรถหลายเที่ยว

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

(ธนชัย แย้มชื่น)

อย่างไรก็ตามในรอบหลายปีที่ผ่านมา “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.” เคยมีทดลองปรับเส้นทางเดินรถ ด้วยเส้นทางใหม่ และหมายเลขประจำสายใหม่ เช่น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขตการเดินรถที่ 1 อู่บางเขน ได้เพิ่มสาย M จากอู่บางเขน – แยกลาดพร้าว โดยใช้เส้นทาง จากวงเวียนปราบกบฎ เลี้ยวซ้ายไปถนนแจ้งวัฒนะ และเลี้ยวซ้ายออกถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าไปแยกลาดพร้าว ก่อนวกเข้าถนนพหลโยธิน มุ่งหน้ากลับอู่บางเขน

 

แต่ทดลองวิ่งไม่นานก็ยกเลิก เพราะไม่มีผู้ใช้บริการและไม่คุ้มค่า สาเหตุหนึ่งขาดการประชาสัมพันธ์และขาดการแจ้งรายละเอียดสถานที่สำคัญที่รถเมล์ผ่านตามเส้นทางใหม่

 

สำหรับการปฏิรูประบบเดินรถรอบนี้ ของกรมขนส่งทางบก ที่ส่งต่องานมาให้ “ขสมก.” เป็นฝ่ายปฏิบัติยอมรับว่ามีแผนรับมือกับปัญหาในอดีต ด้วยจัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำรถ และให้ พนักงานเก็บค่าโดยสารแจ้งสถานที่สำคัญที่รถเมล์ที่ปรับเลขใหม่ต้องผ่าน

 

อย่างรถสาย G21 รอบปฐมฤกษ์ มี “ประภัสรา เกริกธนสกุล” พนักงานเก็บค่าโดยสาร ที่ยืมตัวมาให้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ บอกกับทีมข่าวคมชัดลึก ว่า ต้องทำหน้าที่แจ้งและตอบคำถามของผู้โดยสารตามป้ายรถเมล์ ว่าสาย G21 จะผ่านสถานที่สำคัญใดบ้าง ซึ่งรถรอบแรกจาก อู่นครอินทร์ – อู่รังสิต มีคนขึ้นประมาณ 60 คน

 

ขณะที่การจัดการเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์ของ G21 มี “ผู้จัดการสายรถ – สมพร สงคำจันทร์ แห่งเขตการเดินรถที่ 7” คอยดูแลความเรียบร้อย ยอมรับว่าวันแรกที่เปิดทดลอง มีผู้ใช้บริการน้อย เพราะยังไม่มั่นใจว่าสายรถที่ปรับนั้นจะพาไปถึงไหน เพราะมีการปรับเส้นทางเล็กน้อย

ชิมลางรถเมล์ ปฏิรูปวันแรก! บททดสอบที่ยากกว่า ทาสีใหม่

(สมพร สงคำจันทร์)

ซึ่งประเด็นปรับเส้นทางนั้น ทาง “กรมขนส่งทางบก” ไม่เคยปรึกษาหรือประสานมายังเขตการเดินรถก่อน ตามคำบอกเล่าของ “สมพร” ระบุว่า ขสมก. เป็นผู้รับนโยบายที่ถูกส่งมาจาก กรมขนส่งฯ ขณะที่ ขสมก. จะมีหน้าที่ เก็บข้อมูล อาทิ จำนวนผู้โดยสาร ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจากต้นสายไปปลายสาย เพื่อให้หน่วยงานกรมขนส่งทางบกไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดทางนโยบายเท่านั้น

 

กับเจตนาตั้งต้นของการปฏิรูประบบเดินรถ มุมมองของผู้จัดการเดินรถ ระบุว่า ควรตั้งต้นในมุมของการให้บริการและคุณภาพชีวิตของพนักงานบนรถเป็นหลัก เช่น ปรับระยะทางเดินรถให้สั้นลง เหลือระยะไม่เกิน 25 กม. หรือต่อเที่ยวใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม. เพื่อให้พนักงานได้พักบ้าง ขณะที่การสนองตอบความต้องการของประชาชนในแง่เดินทาง ควรจัดสายรถเมล์ที่สนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งทางเรือ, ระบบรถไฟฟ้าที่เข้าถึงพื้นที่ชุมนุมหรือพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน

 

และนั่น ก็เป็น ภาพสะท้อนและความเห็นของตัวแทนผู้ที่ใช้บริการ และ ให้บริการถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพฯ หากคิดจะปฏิรูประบบเดินรถให้มีมาตรฐาน อย่ายึดมุมของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายเพียงอย่างเดียว พึงตระหนักถึงมุมความต้องการของประชาชนด้วย.

-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ