คอลัมนิสต์

“อิมเมจ”กับปัญหาที่ “ไม่ชิน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรากฏการณ์ "บ่นดังๆ" ของ "อิมเมจ -สุธิดา"สะเทือนไปถ้วนทั่ว มาดูวันว่าเรื่องราวครั้งนี้สะท้อนอะไร และใครที่ชินชา กับคำว่า "เฮงซวย" ในคอลัมน์ "ขยายปมร้อน"

ปรากกฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “อิมเมจ” เป็นสิ่งที่พิสูจน์ทราบอีกครั้งว่าประเทศเราไม่ได้ก้าวไปทางไหน เพราะการโพสต์ของเธอไม่ว่าอย่างไรถึงขณะนี้ได้ถูกขยายไปไกลกว่าความเห็นของคนหนึ่งคน หรือเด็กเพียงหนึ่งคนไปแล้ว และขยายไปสู่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เช่นเดียวกับหลายๆเรื่องที่ผ่านมา
 
ข้อความทวิตเตอร์ของ “อิมเมจ - สุธิตา ชัยชนะสุวรรณ” เป้าหมายของเธอคืออะไร จะเป็นเพียงเรื่องการรอรถเมล์จริงอย่างที่เธอออกมาระบุในภายหลัง หรือเป็นเรื่องความอัดอั้นต่อสภาพความเป็นไปของประเทศในมุมต่างๆ อย่างที่ถูกตีความก็สุดวิสัยที่จะทราบได้ เพราะมีเพียงเธอเท่านั้นที่จะรู้
 
แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว เรื่องที่เธอโพสต์มานั้นถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะไม่ว่าจะเจอกับเรื่องแย่ๆอะไรในสังคม หรือในประเทศเรามา ก็ต้องบอกได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น และไม่ใช่เธอเท่านั้นที่เพิ่งบ่นกับสภาพความเป็นไป
 
คนที่บ่นเช่นเธอมีมาตั้งแต่อดีตกาล คนที่เป็นรุ่นพี่ของเธอที่ประสบพบเจอเรื่องที่ไม่ดีในประเทศก็เคยบ่น คนรุ่นพ่อของเธอก็เคยบ่นเพราะได้เห็นอะไรที่ไม่ควรจะได้เห็นในประเทศแห่งนี้ คนรุ่นคุณปู่ของเธอก็คงจะเคยบ่นเช่นกัน
 
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่คนในรุ่นอดีตเคยบ่นนั้น ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปจริงหรือไม่ วันที่เกิดปรากฏการณ์ “อิมเมจ-ประเทศเฮงซวย” เรายังเห็นรถเมล์ขับซิ่งอย่างไมห่วงใยชีวิตผู้โดยสาร เรายังได้เห็น การรอรถเมล์อย่างสิ้นหวังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะที่ทางเลือกก็มีอยู่ไม่มาก
 
วันที่ “อิมเมจ” บ่นผ่านโลกโซเชียล ก็เกิดฝนตกหนักในตอนเย็น รถติดมหาศาล รถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ทั้งๆที่มีกฎหมายห้ามปฏิเสธ แต่ในทางกลับกัน เราได้เห็นรถแท็กซี่ไล่จับรถอูเบอร์ที่เป็นทางเลือกให้ผู้โดยสาร และเห็นรัฐที่เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
 
วันเดียวที่หลายคนเริ่มก่นด่า “อิมเมจ” ว่าทำไมไม่มองประเทศนี้ในทางที่ดี เราได้เห็นข่าวเด็ก 6 ขวบ ถูกลืมไว้ในรถรับส่งนักเรียน จนสุดท้ายเราต้องสูญเสียเขาไป ทั้งๆที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น ครั้งที่แล้วพวกเราก็ภาวนากับเคสในทำนองเดียวกนว่าขอให้เป็นครั้งสุดท้าย และกี่ศพแล้วในลักษณะนี้ที่เราขอให้เป็นครั้งสุดท้าย และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น แม้แต่ตัวเราเองก็ยังมั่นใจว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
 
วันที่เริ่มมีการถกเถียงกับ ทวิตของ “อิมเมจ” เราได้เห็นข่าวคนถูกไฟคลอกตาย เพราะติดเหล็กดัดจนหนีออกมาไม่ได้ และแน่นอนเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 
เรื่องหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเพียงเพราะอุบัติเหตุ ไม่ได้เกิดเพราะความ “เฮงซวย” ในเชิงปัจเจก หากแต่เป็นเพราะปัญหาไม่เคยถูกแก้ไขในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง
 

แม้แต่เรื่องดาราที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ไม่ได้ผิดแผกไปจากอดีตที่ผ่านมา เพราะเรามองดาราเป็นเพียงตุ๊กตา ที่เต้นกินรำกิน อย่ามาริแสดงความเห็นต่อการเมือง หรือสังคม ดังนั้นหากยังอยากได้รับความนิยมและทำมาหากินได้ก็พึงอยู่อย่างนิ่งๆ ร้อง เล่น เต้นไปเรื่อยๆ แม้มีเรื่องที่ขัดตาขัดใจแค่ไหนก็ไม่พึงแสดงออกมา
 
เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่แม้เขาจะมองเห็นโลกที่แตกต่างในมุมของก็ไม่ควรบ่นหรือแสดงความเห็นออกมา เพราะเมื่อไหร่ที่ทำแทนที่จะถูกมองอย่างเข้าใจหรือถูกมองไปที่ปัญหา กลับถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว และถูกไล่ให้ไปตั้งใจเรียน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นคนละเรื่องระหว่างการบอกเล่าปัญหากับการตั้งใจเรียน
 
เมื่อปัญหาไม่เคยถูกเหลียวมองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเนื่องด้วยปัญหาเชิงระบบ หรือ อคติส่วนตัว ก็ทำให้ปัญหาไม่เคยถูกแก้ และทำให้คนต้องจำทนเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหา จนกระทั่งวันนึงก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอีกต่อไป  แต่วันใดที่เห็นสิ่งผิดปกติก็หลุบต่ำพร้อมบอกว่ายังมีสิ่งสวยงามอีกมากให้มอง 
 
วันนั้นในอดีตจึงไม่มีอะไรต่างจากวันนี้ เพียงแค่หลายคนอาจจะ “ชิน” และมองเธอเป็นตัวประหลาดเพียงเพราะเธอ “ไม่ชิน” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้
 

-----

(คอลัมน์ ขยายปมร้อน -อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ