คอลัมนิสต์

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ 2 ส.ค. นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิพากษาคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51

       ซึ่งเหตุการณ์กล่าวนำมาซึ่งการเสียชีวิต สองราย และบาดเจ็บอีกกว่า 400 ราย  ซึ่งคดีนี้มีจำเลย คือ“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ (ในขณะนั้น) , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

      ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญาญามาตรา 157 จากพฤติกรรมที่รัฐบาล- สมชาย ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดคืนพื้นที่การชุมนุม บริวเณประตูทางเข้า-ออก รัฐสภา ทำให้ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ บาดเจ็บกว่า 400 คน   

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

     เราจึงขอไล่เรียงที่มาที่ไป และย้อนรำลึกว่าวันดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้างภายหลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยชุมนุมขับไล่ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปลายปี 2547 ได้ยุติบทบาทลงเมื่อการรัฐประหารเมื่อปี 2549

        แต่เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปกติ ก็ได้พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นร่าง “อวตาร” จากพรรค “ไทยรักไทย”ที่เคยถูกยุบมาเป็นรัฐบาล และมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

       แต่เมื่อบริหารประเทศได้ไม่นาน กลุ่มพันธมิตรฯ” ที่นำโดย “สนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์” ลงมติให้ฟื้นการชุมนุมของกลุ่ม เป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 25 พ.ค.51 เพื่อขับไล่ “รัฐบาลสมัคร” ที่บริหารประเทศได้เพียงสามเดือน โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อหวังช่วยเหลือคดีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ” 

       ต่อมา “สมัคร” ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยกระทำสิ่งที่ขัดต่อคุณสมบัตินายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนด คือ รับจ้างทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกขโยง 6โมงเช้า”

       อย่างไรก็ดีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ยังคงปักหลักอย่างต่อเนื่อง และปักหลักยาวภายใต้ยุทธศาสตร์เคลื่อนพลแบบดาวกระจายและมีภารกิจขั้นสูคือ “สงครามครั้งสุดท้าย”

     แม้พรรคพลังประชาชนจะเปลี่ยนตัวนายกฯ มาเป็น “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แต่พันธมิตรฯก็ไม่ยุติโดยกล่าวหาว่า “สมชาย” ก็เป็นเพียงร่างทรงและเป็นคนใน “เครือข่ายทักษิณ”

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

          “มวลชนพันธมิตรฯ”จึงทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องภายใต้แคมเปญ “กำจัดระบอบทักษิณให้สิ้้นซาก” ยุทธการต่างๆจึงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ให้ “รัฐบาล การยึดทำเนียบรัฐบาล, เคลื่อนพลดาวกระจายไปยังสถานที่ราชการสำคัญ แต่การปักหลชุมนุม ที่นานกว่า 5 เดือนนั้น ดูเหมือนทำอะไรรัฐบาลนอมินีไม่ได้      

      จนมาถึงวันที่ 7 ต.ค. 2551 “สมชาย” นัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้อย่างสมบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แกนนำพันธมิตรฯ มองว่าเป็น “โอกาสที่จะปิดฉากสงครามนี้เสียที”

      ดังนั้น แกนนำพันธมิตร รุ่น1 ได้หารือร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น2 เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 ต.ค. 51 เพื่อทำภารกิจขัดขวางการแถลงนโยบายของรัฐบาล-สมชาย ผ่านยุทธวิธี “เคลื่อนมวลชน” ขวางประตูเข้า-ออกรัฐสภา

 

      เมื่อมติได้ข้อสรุปการเคลื่อนพลของพันธมิตรเริ่มขึ้นประมาณ 19.30 น.โดย แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น2 เป้าหมายคือ ประตูเข้า-ออก รัฐสภา ทั้ง 2 ด้าน คือ ประตูทางเข้า-ออก รัฐสภา ด้านถนนอู่ทองใน ยาวต่อเนื่องถึงประตูประสาทเทวริทธิ์ ด้านถนนราชวิถี

      โดยมีเวทีปราศรัย ดัดแปลงจากรถขนาดสิบล้อเป็นจุดศูนย์รวมมวลชน โดยตลอดการชุมนุมโดยรอบพื้นที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 20.00 ของวันที่ 6 ต.ค. ล่วงถึงวันใหม่ ช่วง 06.00 น. ยังคงเป็นบรรยากาศการปราศรัยของแกนนำ และการเล่นดนตรีขับกล่อมมวลชน ตามปกติ

      จนถึงเวลาประมาณ 06.20 น.ที่ฟ้าเริ่มสาง เหตุการณ์เปิดฉากขอคืนพื้นที่ จากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เกิดขึ้น ด้วยแก๊สน้ำตาลูกแรก ที่ยิงมาจากวงนอกของพื้นที่ชุมนุม ด้านแยกขัตติยานี ถนนพิชัย ตัดกับถนนราชวิถี การดำเนินการครั้งนั้นเพื่อเป็นการเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปในรัฐสภาเพื่อฟังคำแถลงนโยบายของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

      จากนั้นพายุแก๊สน้ำตา ที่ตามมาลูกแล้วลูกเล่า ก็เริ่มพัดใส่ผู้ชุมนุมจนต้องถอย และเอาชีวิตรอดออกจากพื้นที่ปิดล้อม คือ ประตูประสาทเทวริทธิ์ ทางเข้ารัฐสภาฝั่งถนนราชวิถี แต่ในช่วงนาทีชุลมุนนั้นเอง “มวลชนพันธมิตร” ที่ไม่ยอม ได้ตอบโต้เจ้าหน้าที่ ทั้งมือเปล่า, ท่อนไม้, ด้ามธงที่ดัดแปลงเป็นหอก, ขวดแก้ว, หนังสติ๊ก และอาวุธเฉพาะกิจที่สามารถจะหาได้ในตอนนั้น        ซึ่งการตอบโต้นั้นเป็นผล ทำให้ “เจ้าหน้าที่” ถอยออกไปทางถนนสุโขทัย และ ถนนราชวิถี และออกห่างจากพื้นที่ยุทธศาสตร์ คือ รอบรั้วรัฐสภา แต่จากเหตุการณ์ชุลมุน เมื่อควันยกแรกจาง ก็พบผู้บาดเจ็บ ทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุม และ ฝ่ายเจ้าหน้าที  บางคนถึงกับมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขา

      สำหรับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดทางให้ “ส.ส.- ส.ว.และฝ่ายบริหาร” เข้าไปภายในรัฐสภาจะเป็นผลสำเร็จตั้งแต่การเปิดฉากยุทธการณ์ขอคืนพื้นที่ในรอบแรก และ “สมชาย” สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงทักท้วงทั้งจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง       นอกจากนี้ทั้ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. บางกลุ่มได้คว่ำบาตรไม่ยอมเข้าร่วมประชุม แต่ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลและส.ว. จำนวนมากที่เพียงพอต่อการเปิดประชุมก็เดินหน้าตามกระบวนการต่อไป

         การประชุมเริ่มเมื่อเวลา 09.30 น. โดยตลอด 2 ชั่วโมง 1 นาทีที่วงประชุมรัฐสภาเปิดให้ “สมชาย” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา บรรยากาศภายในที่ประชุมร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อ “ส.ว.กลุ่ม 40 นำโดย ประสงค์ นุรักษ์ , รสนา โตสิตระกูล” ลุกประท้วงการประชุมและขอให้เลื่อนการแถลงออกไป

     แต่การประท้วงก็ไม่เป็นผล เพราะส.ส.รัฐบาล นำโดย “ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธิศักดิ์ศิริ ส.ส.พรรคพลังประชาชน” ลุกตอบโต้แบบดุเดือด และกล่าวหาว่าเป็นความพยายามของ กลุ่มส.ว. ที่ต้องการล้มการประชุม พร้อมกับลักลอบให้บุคคลภายนอกเข้าห้องประชุม ซึ่งอาจมีความไม่ปลอดภัยได้

     เมื่อ “สมชาย”ได้แถลงนโยบายเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ก็ได้เดินทางออกจากรัฐสภาโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ พร้อมด้วยชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว ไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย แต่จากนั้นไม่นาน พล.อ.ชวลิต ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

       อย่างไรสถานการณ์ก็ยังไม่สงบลงมีการปะทะกันโดยรอบ มีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีตำรวจบางนายถูกแทงด้วยด้ามธงทะลุหน้าท้อง มีตำรวจถูกรถกระบะของผู้ชุมนุมขับไล่ทับ

     ขณะเจ้าหน้าที่ก็ระดมยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่จนมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยและถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดแก๊สน้ำตาจึงทำให้เกิดความบาดเจ็บได้ถึงเพียงนี้

    และเมื่อเวลา 15.47 น. ก็เกิดเหตุระเบิดที่รถจี๊ปหน้าพรรคชาติไทย โดยมีผู้เสียชีวิตคือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ” พี่เขยของนายการุณ ใสงาม ซึ่งร่วมอยู่ในการชุมนุมนั่นเอง

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

     ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภา เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวออก โดยให้ผู้จะออกแสดงบัตร และอนุญาตให้ออกเฉพาะที่ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ตำรวจจึงได้ใช้แก๊สน้ำตายิงอีกหลายนัด เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. ออกไปได้ และระดมยิงแก๊สน้ำตาต่อเนื่องไปจนถึงหัวค่ำ

       ต่อจนถึงช่วงค่ำ เมื่อ ส.ส. และ ส.ว. ออกจากรัฐสภาหมดแล้ว ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนกลับ แต่ก็ยังมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและที่นี่เอง “น้องโบว์” อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ก็ได้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

       เหตุการณ์ในวันนั้นสงบลง เมื่อพันธมิตรฯ กลับสู่ที่ตั้งในทำเนียบรัฐบาล และเดินหน้าขับไล่รัฐบาลสมชายต่อไป

    แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้ทิ้งร่องรอย ความทรงจำ ความเจ็บปวด และคำถามของใครต่อใครอีกเป็นจำนวนมาก และครั้งนั้นเองถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นนหน้าประวัติศาตร์อันเจ็บปวดของการเมืองไทย

   ------------------------------

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

  สุริยะใส กตศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บอกว่า เหตุผลที่ตัดสินใจ ให้ “แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น2” ที่นำโดย “ศิริชัย ไม้งาม, สำราญ รอดเพชร, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง เป็นต้น พามวลชนไปชุมนุมโดยรอบรัฐสภา เพราะต้องการเพิ่มแรงกดดันกับ รัฐบาล – สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และตัดสินใจยุติบทบาทรัฐบาล ผู้เป็นนอมินีของ “ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ” หลังจากที่การชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และยุทธศาสตร์ดาวกระจายไม่ส่งผลอะไร

      เมื่อแกนนำพันธมิตรฯ ตัดสินใจไปอย่างนั้น เราทั้งรุ่น 1 และ รุ่น2 ได้ประสานงานกันตลอดโดยย้ำว่า ให้มวลชนรวมตัวเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลรอบนั้น อย่าให้ใครบุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภาหรือปีนรั้วเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าผู้ติดตามสมาชิกรัฐสภา รวมถึงผู้ติดตามรัฐมนตรีนั้นอาจพกปืน รวมถึงให้มวลชนเว้นระยะห่างกับเจ้าหน้าที่ แม้จะกำชับไว้อย่างนั้น แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตั้งใจจากฝ่ายรัฐ

     “ตอนที่มวลชนเคลื่อนไปที่รัฐสภา ผมเห็นสัญญาณบางอย่างจาก การตั้งแถวและวางกำลังของหน่วยอรินทราชที่ผิดสังเกต ขณะที่ตำรวจภาคสนามไม่ยอมเจรจา และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับนครบาล ปฏิเสธการสื่อสารกับผม ด้วยการปิดโทรศัพท์มือถือ”

     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่พบการยิงแก๊สน้ำตาและใช้อาวุธที่มีอณุภาพรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้ยางรถยนต์ที่วางเป็นบังเกอร์กระเด็น ลอยขึ้นฟ้าได้ และคำพูดจากเจ้าหน้าที่ในวันนั้น ที่มีผู้ถ่ายวิดีโอคลิปได้ ที่ระบุว่า “เอามันให้ตาย” จึงเชื่อนั่นคือ กองกำลังที่มาทำร้ายประชาชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามฝูงชนและมีเป้าหมายคือเผชิญหน้า มากกว่าแค่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทาง เข้าพื้นที่รัฐสภา

      “ผมเคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จึงมองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงรอบนั้นแม้จะแรงในระดับเท่ากัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ เจ้าหน้าที่กระทำไปเพราะความเกลียดชัง ไม่ใช่เพราะคำสั่งนาย!!”

     จากบทเรียนของวันนั้น ผมยังเชื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างสังคม 2 ขั้ว 2สี ไม่มีทางลงรอยกันได้อีก และเมื่อถึงวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ้นจากการคุมกำลังไป เชื่อว่าความขัดแย้งจะกลับมาเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งเพราะ คสช. ไม่คลายบรรยากาศที่ตรึงด้วยข้างทางการเมืองให้จางไป แต่สิ่งที่เขาทำคือการ “พัก” ไว้ชั่วคราวเท่านั้น

       ส่วนทิศทางของคำพิพากษา ยังเชื่อว่าต้องมีคนที่รับผิดชอบด้วยการ ถูกจองจำ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พร้อมยอมรับ แต่จะเห็นด้วยหรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องรอดูเหตุผลต่อไป.

 

บันทึก เหตุการณ์ 7ตุลา51 

       ศิริชัย ไม้งาม แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น2  เล่าว่า ภารกิจที่ แกนนำพันธมิตร รุ่น1 มอบหมาย ให้ แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น2 นำมวลชน ไปชุมนุมรอบรั้วรัฐสภา จุดมุ่งหมายคือ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ทำตัวเป็นนอมินีของ “นายทักษิณ ชินวัตร” และแสดงออกให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นหมดความชอบธรรมต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่คิดว่าจะมีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เพราะผู้ชุมนุมปักหลักอยู่โดยรอบรัฐสภา ไม่มีอาวุธ ชุมนุมโดยสงบ ขณะที่กิจกรรม นอกจากการปราศรัยของแกนนำแล้ว ก็คือ กิจกรรมเล่นดนตรี

         โดยตลอดเวลาที่เพิ่มจุดชุมนุมนั้น ไม่มีสัญญาณของการใช้ความรุนแรง มวลชนอยู่สงบ ช่วงใกล้สาง มวลชนที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 600 -800 คนถือว่าบางตา กำลังพักผ่อน ใจผมก็คิดว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรแล้ว เราก็ชุมนุมต่อไป แต่ไม่คิดว่า เมื่อแสงอาทิตย์ของเช้าวันใหม่แรกปรากฎ สิ่งที่ตามมาอย่างไม่คาดคิดคือ “แก๊สน้ำตา” ลูกแรก มาจากทาง แยกขัตติยานี จากนั้นก็ตามมาอีกหลายลูก ซึ่งจุดที่ยิงแก๊สน้ำตาก็มาจากภายในรั้วขอวรัฐสภาด้วยเช่นกัน

     “ตอนนั้นผมก็โดนยิง กระโดดลงจากรถปราศรัยขนาดสิบล้อแทบไม่ทัน ขณะที่พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ที่ปรึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ ถูกถีบ ช่วงเหตุชุลมุนนั้น แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ห้ามมวลชนเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ ขอให้เคารพเจ้าหน้าที่ พร้อมบอกให้ถอยมารวมที่ประตูใหญ่ ทางเข้า-ออก รัฐสภา ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต แต่ยอมรับว่าอารมณ์มวลชนบางคนตอนนั้นก็ไม่ยอมถูกกระทำด้วย ก็มีตอบโต้”

      สิ่งที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กระทำกับประชาชนตอนนั้น ผมมองว่าไม่ทำตามกติกาสากล ที่จะใช้มาตรการเบาไปหาหนัก แต่ที่เขาทำคือใช้มาตรการหนักที่สุด เข้าใจว่าเขาต้องการเปิดทางให้กับ รัฐบาล เข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภา แต่สิ่งที่เขาทำนั้นรุนแรงเกินไป เพราะมีคนบาดเจ็บ ขาขาด ตอนนั้นสิ่งที่แกนนำทำได้ คือ ระดมขอน้ำเปล่าจากเวทีใหญ่และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล รวมถึงให้ช่วยพาคนเจ็บออกจากพื้นที่

    “เหตุการณ์นั้น ผมเสียใจ เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นการตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ของเรา และมติของแกนนำรุ่น1 ขณะที่บทเรียนการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจากฝ่ายรัฐควรนำไปไตร่ตรองด้วยว่า การแสดงออกอย่างสงบของประชาชน รัฐบาลควรฟังบ้าง และอย่าเลือกใช้วิธีรุนแรง”

       ส่วนแนวโน้มคำพิพากษานั้น ไม่รู้จะออกมาอย่างไร แต่พึงระลึกถึงเสมอว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล คือ ควรเคารพสิทธิของประชาชน หากใครคัดค้านก็ควรฟัง หรือหากคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ควรหาทางอื่นที่ดีกว่าการใช้กำลัง ความรุนแรง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเข้าสู่อำนาจการเมือง

       กฤษณะ ถวิลวงษ์ ข้าราชการรัฐสภา ผู้อยู่ในเหตุชุลมุม วันที่ 7 ต.ค.51 เล่าว่า วันที่ 7 ต.ค. 51 ประธานรัฐสภาขณะนั้น คือ ชัย ชิดชอบ นัดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ รัฐบาล – สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตอนนั้นผมปฏิบัติงานที่กลุ่มงานโรงพิมพ์ มีหน้าที่ผลิตเอกสารเตรียมเข้าประชุม ผมมาแต่เช้าตรู่ ก็เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังที่บริเวณแยกอู่ทองนอก ถนนนครราชสีมา ขณะที่ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณแยกอู่ทองใน ถนนราชวิถีและอยู่รอบๆ รัฐสภา

      เมื่อผมเข้ามาปฏิบัติงานข้างในรัฐสภาแล้ว ก็มีข่าวว่าข้างนอกรัฐสภา ตำรวจใช้แก๊สน้ำตากับประชาชน ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมไม่เห็น แต่ที่สัมผัสได้คือ ควันแก๊สน้ำตาคลุ้งไปทั่วบริเวณ น้ำ และไฟฟ้า ถูกตัด ในรัฐสภาไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ในห้องประชุมยังใช้ได้เพราะมีไฟฟ้าอีกชุด

      สภาพภายในรัฐสภา ก่อนที่การเปิดประชุมจะเริ่มมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ    งานกับส.ส., ส.ว. รวมถึงส.ส. และ ส.ว. เดินวนเวียนที่บริเวณด้านหน้ากลุ่มงาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารรัฐสภา ติดกับรั้วของพระที่นั่งวิมานเมฆ อย่าง รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม., ประชา ประสพดี อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เดินวนเวียนอยุ่หน้ากลุ่มงาน เพื่อหาทางหนีทีไล่ แต่ตอนนั้นยังไม่มีการอนุญาตให้ฝั่งรัฐสภาข้ามไปยังเขตพระราชฐาน เขาก็มาดูแล้วก็กลับเข้าไปที่อาคารรัฐสภา

       “วันนั้น ผมเห็นข่าวว่ามีการปะทะกันเกิดขึ้น แต่ผมอยู่ข้างในปลอดภัยดี ขณะที่ทางบ้านที่เห็นข่าวก็เป็นห่วงพยายามโทรศัพท์มา แต่ผมยังรับสายไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ยังมั่วๆ หลังห้องประชุมปิด เขาเริ่มเคลียร์ผู้ใหญ่ให้ออกจากพื้นที่รัฐสภา โดยทางออกบริเวณกำแพรั้วฝั่งพระที่นั่งวิมานเมฆ ตอนที่ผมออกมาได้ ก็เป็นล็อตเดียวกับที่ ท่านวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงการคลังปีนรั้วออกไปอย่างทุลักทุเล”

       เมื่อออกจากพื้นที่รัฐสภาได้ ทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยเขายังให้อยู่ในพื้นที่พระที่นั่งวิมานเมฆประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะมีรถพาตัวออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย แต่ผมยังไม่รีบกลับ และออกไปเดินดูพื้นที่รอบรัฐสภาที่คลุ้งไปด้วยแก๊สน้ำตา

       ตอนนั้นในใจก็กลัวไม่ปลอดภัย แต่อยากบันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้ในความทรงจำ โดยขณะนั้นในใจภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ อย่างหลวงพ่อพระพุทธโสธร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 ให้คุ้มครอง

     จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผมมองว่าสิ่งที่ควรเป็นบทเรียนอย่างสำคัญ คือ การเมืองเป็นเรื่องที่ 2 ฝ่ายต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่ชัยชนะที่เกิดขึ้นไม่ว่าใครจะชนะมักมีผลกระทบกับบุคคลอื่นเสมอ ดังนั้นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรควรคำนึงถึงสังคมและผลกระทบต่อสาธารณะด้วย.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ