คอลัมนิสต์

2 อุปสรรค...ทำให้คนไทยไม่ได้ “เงิน” จาก “ลดโลกร้อน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกพยายามสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อย หาวิธีลดก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ เพราะสามารถนำไปขายแลกเป็นเงินได้ในตลาด

2 อุปสรรค...ทำให้คนไทยไม่ได้ “เงิน” จาก “ลดโลกร้อน”

 

     ในแต่ละปีจะมีประกาศจากสถาบันวิจัยด้านโลกร้อนว่า ประเทศไหนปล่อยก๊าซคาร์บอนทำโลกร้อนมากที่สุด ผู้ชนะเลิศส่วนใหญ่เป็นจีนกับอเมริกา ข้อมูลปี 2015 ทั่วโลกปล่อย  "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)" 3.6 หมื่นล้านตัน

     จีนเผาถ่านหินปล่อยก๊าซร้ายสู่ชั้นบรรยากาศ 1 หมื่นล้านตัน ส่วนอเมริกาปล่อยประมาณ 5,000 ล้านตัน

     ส่วนพี่ไทยอยู่ในระดับกลางๆ ปล่อย 250-350 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 0.8% ของทั้งหมด เป็นอันดับที่ 21 ของโลก

     ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามแสดงให้เห็นปัญหาว่า ถ้าพวกเราไม่ร่วมกันลดโลกร้อนในวันนี้ อนาคตโลกมนุษย์จะวิกฤติ เพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวนจาก “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) มหันตภัยพิบัติร้ายแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

     เนื่องจากอุณหภูมิอาจสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 องศาฯ นำพามาซึ่งคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินแห้งแล้ง มรสุมพายุ ฯลฯ สุดท้ายส่งผลกระทบไปถึงวงจรเกษตร การทำไร่ทำนาเพื่อหาข้าวปลาอาหารให้มนุษย์ จะไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่ผ่านมา....

     แต่คำขู่ข้างต้นดูเหมือนไม่มีใครสนใจมากนัก เครือข่ายรักษ์โลกช่วยกันคิดหาหนทางจูงใจวิธีใหม่ นั่นคือ “บีบ” กลุ่มธุรกิจให้ลดการผลิต “ก๊าซคาร์บอน” ด้วยการใช้กลไกตลาดกับผู้บริโภคมากำหนด หากสินค้าใดมีโฆษณาว่าลดโลกร้อน คนซื้อจะแฮปปี้ช่วยกันควักกระเป๋า รวมถึงกดดันนักการเมืองและรัฐบาลให้สนใจสนับสนุนธุรกิจสีเขียวพวกนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศฝั่งยุโรป

     นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าหัวใสรู้ดีว่า ธุรกิจบางอย่างเป็นตัวผลิตก๊าซคาร์บอนมหึมา เช่น อุตสาหกรรมถ่านหิน สายการบิน การผลิตพลังงานเชื้อเพลิง ขนส่ง ฯลฯ เมื่อธุรกิจเหล่านี้ลดเองไม่ได้ ก็ออกไอเดียเสนอว่า

     “คุณลดเองไม่ได้ งั้นให้ไปสนับสนุนคนอื่นให้ลด อุณหภูมิโลกจะได้สมดุลเหมือนเดิม”  

     โดยชักชวนกึ่งบังคับให้ประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ เข้ามาทำสัญญาที่เรียกว่า “ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocal) จากนั้นกำหนดว่า ประเทศใหญ่ๆ ต้องลดคาร์บอนให้ได้ตามที่กำหนดอย่างน้อยร้อยละ 5 ในช่วง 5 ปี มิเช่นนั้นจะถูกปรับเงินจำนวนมาก เริ่มมีผลตั้งแต่ต้นปี 2549  

2 อุปสรรค...ทำให้คนไทยไม่ได้ “เงิน” จาก “ลดโลกร้อน”

     ข้างต้นคือที่มาของ “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ทำให้ ก๊าซคาร์บอนสามารถมาซื้อขายเหมือนสินค้าทั่วไป

     ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ราคาซื้อ-ขายคาร์บอนในตลาดนั้น ประมาณ 800 กว่าบาทต่อตัน ส่วนราคาค่าปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 1,600-4,000 บาทต่อตัน ทำให้ฝั่งยุโรปวิ่งหาซื้อคาร์บอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยมีอุตสาหกรรมพลังงานขนาดใหญ่หรือระบบขนส่งที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมากนัก จึงเหลือคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาด

     ช่วงแรกการซื้อและขายคาร์บอนถูกจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เท่านั้น จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ มีการสนับสนุนให้ธุรกิจรายย่อย ชุมชนหรือคนทั่วไป สามารถซื้อขาย “คาร์บอน” ได้ด้วย เพียงพิสูจน์ได้ว่า มีโครงการปลูกป่า หรือเปลี่ยนไปใช้แผงโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ลดเส้นทางขนส่ง ใช้พลังงานสะอาด ฯลฯ กิจกรรมเหล่นนี้สามารถคำนวณออกมาเป็นปริมาณคาร์บอน แล้วนำไปซื้อ-ขายในตลาดได้ทั้งหมด

     ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสนับสนุนให้เกิดระบบการโชว์หรือแสดงฉลาก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint) หมายความว่า ตัวเลขที่แสดงว่าสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมานั้น มีระดับการปลดปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” มากน้อยแค่ไหน โดยคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากก๊าซเรือนกระจกที่ประกอบไปด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซจากมูลสัตว์ ฯลฯ หากมีตัวเลขมากแสดงว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากตั้งแต่ส่วนประกอบวัตถุดิบ วิธีผลิต การขนส่ง รวมถึงการกำจัดหรือทำลายเมื่อกลายเป็นขยะของเสีย

     การรณรงค์ให้ติดหรือให้แสดงตัวเลข “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ช่วยให้ผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมสามารถตัดสินใจเปรียบเทียบได้ว่า ผู้ผลิตสินค้าใดมีจิตใจรักษ์โลกนี้มากกว่ากัน...

     รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกพยายามสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อย หาวิธีลดก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ เพราะสามารถนำไปขายแลกเป็นเงินได้ในตลาด

     สำหรับประเทศไทย กลุ่มคนขายคาร์บอนยังมีน้อยเพราะอะไร ?

     “ผศ.วงกต วงศ์อภัย” ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า ภาคเอกชนสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ หากสามารถลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกได้จากเดิมก็สามารถเอาไปขายได้ เช่น เล้าหมูแห่งหนึ่งผลิตก๊าซเรือนระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 2 แสนตัน หากเขาหาวิธีลดได้ร้อยละ 10 ก็ลดได้ 2 หมื่นตัน สามารถเอาตัวเลขนี้ไปขายได้ มีตลาดรับซื้อขายระดับประเทศและต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก บางปีอาจขายได้ถึง 8 ล้านบาท

     “กลุ่มที่ซื้อขายคาร์บอนฯหรือก๊าซเรือนกระจกมีหลากหลาย เช่น ระดับองค์กรนานาชาติ ธนาคารโลก หรือที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ กับตลาดที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจ แต่ปัญหาคือ เล้าหมูต้องมีเงินก้อนหนึ่งสำหรับให้ คนกลาง เข้ามาตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หมายถึงมาตรวจเป็นระยะๆ ว่าลดได้จริงหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คนรับซื้อว่าพวกเขาช่วยลดโลกร้อนได้จริง หากเป็นกิจการเล็กๆ อาจไม่คุ้มมากนัก เพราะค่าตรวจหลักหลายหมื่นบาทขึ้นไป ควรมีการรวมกลุ่มกิจการในชุมชนให้เป็นกลุ่มก้อนแล้วจ้างคนกลางมาตรวจจะคุ้มกว่า สำหรับผู้สนใจสามารถไปปรึกษากับ อบก.ได้” ผศ.วงกต กล่าวแนะนำ

     “อบก.” หรือ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก” เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ส่งเสริมดูแลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านมา อบก. พยายามจัดร่วมทำกิจกรรมและคิดแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้หน่วยงานหลายแห่ง ล่าสุดได้ชักชวน เทศบาล หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และโรงงานต่างๆ เข้าร่วม เช่น โรงงานอาหารทะเลแช่แข็งและโรงงานผลิตเซรามิก รวมถึงเทศบาล 24 แห่งทั่วประเทศ

     “ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์” รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้เป้าหมายคือทำให้ประเทศไทยลดปล่อยคาร์บอนอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ไทยผลิตคาร์บอน 555 ล้านตัน ตั้งเป้าลดให้ได้ 111 ล้านตัน หมายถึงต้องช่วยกันลดใน 4 ภาคส่วนสำคัญ คือ 1.ภาคอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ ถ่านหิน 2.โรงงานอุตสาหกรรม 3.ภาคขนส่ง 4.ภาคครัวเรือน เฉพาะการผลิตไฟฟ้าและการขนส่งทำให้เกิดคาร์บอนฯร้อยละ 60 ของทุกภาคส่วน

     “ตอนนี้หากคนทั่วไปอยากช่วยลดโลกร้อน ต้องช่วยกันใช้พลังงานสะอาด เพราะคนไทยมีถึง 20 ล้านครัวเรือนที่ร่วมมือกันได้ เช่น ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานฉลากเบอร์ 5 แอร์ พัดลม หม้อหุงข้าว ตู้เย็น ฯลฯ และขั้นต่อไปคือ เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปัจจุบันยังไม่มีค่ามาตรฐานกำหนดการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่ามีมากหรือน้อย แต่ใช้วิธีเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนต่อปีของแต่ละประเทศ หรือระดับโลก ประเทศไทยมีหลายโครงการเข้าร่วม ส่วนมากเป็นรายใหญ่ ที่ส่งออกสินค้าไทยไปขายทั่วโลก เมื่อต่างชาติให้ความสำคัญผู้ผลิตก็ต้องทำตามความต้องการตลาด แต่ธุรกิจรายย่อยในประเทศยังไม่ค่อยเข้าใจในส่วนนี้”

      ดร.พงษ์วิภา วิเคราะห์ว่า อุปสรรคสำคัญคือ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐหลายแห่งยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ก๊าซเรือนกระจกหรือหลักการลดโลกร้อน เพราะถ้าหน่วยงานรัฐเข้าใจก็จะให้การสนับสนุนเต็มที่ เช่น กลไกลดภาษี กลไกด้านราคา การสร้างแรงจูงใจเหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้บริโภคมาร่วมมือกันหากภาครัฐสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะช่วยเปิดตลาดใหม่ ตอนนี้สังคมทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันมาก สินค้าไหนมีการติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หากใครสนใจอยากเข้าร่วมสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดจากโครงการที-เวอร์ หรือ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

     สรุปได้ว่า ประเทศไทยเผชิญ 2 อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กหรือชาวบ้านทั่วไปไม่มีโอกาสได้เงินจากการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต" เหมือนประเทศอื่นๆ นั่นคือ 1.ขาด “คนกลาง” ช่วยตรวจวัดหรือค่าตรวจวัดแพงเกินไป 2.ผู้บริหารหน่วยงานรัฐขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง

     เมื่อปลายปี 2558 นายกรัฐมนตรี “บิ๊กตู่” กล่าวหลังกลับมาจากประชุมลดโลกร้อน หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ว่า ไทยให้คำมั่นไปแล้วว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 24 ล้านตัน ในปี 2563 จากตัวเลขปัจจุบันปล่อยปีละ 300-400 ล้านตัน

     "ผมอยากให้ทุกๆ ประเทศคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกและให้มีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล...ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ผมขอเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันในกรอบเหนือใต้และใต้ๆ ทั้งด้านเงินทุน งานวิจัย การถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

     นับเป็นคำประกาศโก้หรูของ “บิ๊กตู่”...จนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ก่อนเรียกร้องประเทศอื่น น่าจะเรียกร้องผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ของไทยให้ร่วมมือทำเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนดีไหม ?

     เพราะตอนนี้คนไทยเสียโอกาสเก็บเงินเข้ากระเป๋า ทั้งๆ ที่มีช่องทางขายคาร์บอนเครดิตได้จำนวนมหาศาล !?!

ตลาดคาร์บอน 2 รูปแบบ

     ตลาดคาร์บอนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ (Mandatory carbon market) หรือ ตลาดภาคบังคับ มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยภาครัฐและให้เอกชนต้องผู้ปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย

     ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) เป็นความร่วมมือควบคุมก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อน โดยไม่มีกฎหมายบังคับ อาจมีการตั้งเป้าหมายและข้อตกลงในการซื้อขายลักษณะแบบเจรจาต่อรอง ไม่เกี่ยวข้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ