คอลัมนิสต์

สำรวจก่อนสำลัก!ฝูงพายุจ่อถล่ม!!ทุกเขื่อนยังเอาอยู่?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถานการณ์น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำของเขื่อนหลักๆ ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ณ ขณะนี้ยังไม่น่ากังวล หลายเขื่อนปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับต่ำ

     พลันที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งและเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศว่าทั่วภูมิภาคของไทยมีฝนชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ติดต่อกันมาหลายวัน

     สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ออกมาทำนายและเตือนว่าประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมหนักถ้าไม่เร่งระบายน้ำออกจากตอนบนลงสู่ทะเลตั้งแต่บัดนี้

     การแจ้งเตือนของ สมิทธ มีขึ้นในห้วงเวลาที่บางพื้นที่ทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยเริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมขัง แม้ยังไม่หนักมาก แต่ก็อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” (Talas) ที่ก่อตัวขึ้นบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม  ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวตอนเช้าวันถัดมา จากนั้นอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านเข้าปกคลุมภาคเหนือของไทยในตอนกลางคืน ส่งผลให้ตอนบนของประเทศ รวมถึงภาคอีสานมีฝนตกหนักไปจนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม ตามพยากรณ์ของกรมอุตุฯ

     สมิทธ ซึ่งเคยทำหน้าที่พยากรณ์อากาศด้วยตัวเองแทบทุกวันในสมัยที่เป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา จนชาวบ้านรู้จักทั่วประเทศ แนะนำว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำของประเทศ ควรติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุมที่จะเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พร้อมวางมาตรการรับมือไว้ให้ดี 

     สมิทธ บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรลงมือทำให้เร็วที่สุดคือการเร่งระบายน้ำเหนือ และน้ำท่วมขังลงทะเล ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายเหมือนครั้งที่เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ส่วนชาวนาชาวไร่ก็ควรรีบเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะปีนี้ฝนมาเร็ว ไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหาย เหมือนกับนาข้าวในภาคอีสานที่กำลังถูกน้ำท่วมหลายพันไร่อยู่ในขณะนี้

     “จะเห็นว่าแนวปะทะความกดอากาศสูงกับอากาศต่ำ เกิดฝนตกแช่ที่ประเทศจีนรุนแรงมาก ตอนนี้กำลังเลื่อนลงมาทางเกาะฮ่องกง และไหหลำ ทำให้ขณะนี้ในทะเลจีนมีพายุ 1 ลูก ยังไม่แรง พาดผ่านระหว่างไทยกับลาว ทำให้ฝนตกทางภาคเหนือ ช่วง 2-3 วันนี้ จะต้องระวังไปเรื่อยๆ จนถึงหมดฤดูฝน โดยดูจากลักษณะอากาศ มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทางมหาสมุทรอินเดีย นำความชื้นจากทะเลอันดามัน และยังมีมรสุมตะวันออก จาก จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาปะทะด้วย ส่งผลทะเลจีนใต้ ปั่นป่วน ทำให้ประเทศไทย มีแนวโน้มเจอพายุไต้ฝุ่น และพายุไซโคลน 3-4 ลูก ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม” สมิทธ ระบุ

     เหตุผลประกอบคำทำนายที่ทำให้อดีตอธิบดีกรมอุตุฯ วิตกต่อภัยพิบัติที่คิดว่าอาจเกิดขึ้นในไม่ช้านั้น หลักใหญ่คืออิทธิพลของสภาพอากาศและร่องมรสุมจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศจีนกำลังมีฝนตกหนักและรุนแรงมาก รวมทั้งยังมีพายุจ่อถล่มประเทศไทยอยู่อีกอย่างน้อย 3-4 ลูก

     การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา สมัยก่อนถูกสัพยอกว่าเป็นเรื่องคาดเดา อาจเป็นเพราะความไม่แม่นยำของอุปกรณ์ตรวจสภาพอากาศ ซึ่งยังขาดความทันสมัย แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีนักอุตุนิยมวิทยา ชาวบ้านเรียกว่านักพยากรณ์อากาศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเก่งๆ ที่สามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ และคาดการณ์ลักษณะฝนฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือทุกคน

     อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาที่ชื่อ “สมิทธ ธรรมสโรช” คือหนึ่งในนักอุตุนิยมวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ พยากรณ์อากาศด้วยเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ การออกมาตีฆ้องร้องเตือนเรื่องน้ำท่วมก็มาจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ หากไม่มีการบริหารจัดการแหล่งเก็บกักน้ำที่ดีก็อาจเกิดปัญหาน้ำล้นเขื่อนและน้ำเหนือหลากเหมือนปี 2554 อย่างที่ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเตือนไว้ก็ได้ 

     ฉะนั้นแล้ว เมื่อคนระดับกูรูออกโรงเตือนมาเช่นนี้ ย่อมเป็นการดีที่จะได้ลงมือตรวจสอบสถานการณ์และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อุ่นใจขึ้นว่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือฝนมากเกินความต้องการแล้ว พวกเราบางคนจะไม่ต้องเผชิญทุกข์ผจญกรรมกันจริงๆ 

     ล่าสุด จากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำของเขื่อนหลักๆ ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ณ ขณะนี้ยังไม่น่ากังวล หลายเขื่อนปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับต่ำ

     ขณะที่ ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดโต๊ะแถลงข่าวสำทับเมื่อวันจันทร์(17 ก.ค.) ระบุว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(17 ก.ค.) มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,425 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 8,385 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 32,700 ล้านลูกบาศก์เมตร

     ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,523 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,812 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,827 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,300 ล้านลูกบาศก์เมตร

     รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังอ้างถึงการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC)ด้วยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ จ.พิจิตร ถึง จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำบางแห่งบริเวณ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำสายอื่นๆ มีระดับต่ำกว่าตลิ่งสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย

     สำหรับสถานการณ์ที่ จ.น่าน ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีรายงานว่าฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆ สูงขึ้น และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถนนเส้นทางน่านไป อ.ภูเพียง บ้านท่าล้อ-แสงดาว ต.ฝายแก้ว ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร รถจักรยานยนต์และรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ บ้านเรือนราษฎรพื้นที่ลาดต่ำติดแม่น้ำน่านกว่า 20 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม  

     ส่วนที่ ต.นาปัง อ.ภูเพียง น้ำจากลำน้ำแก่นเพิ่มสูงแตะระดับวิกฤติ ล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มและโรงเรียนน่านนครจนต้องหยุดเรียน 1 วัน เช่นเดียวกันที่โรงเรียนบ้านส้าน ต.สถาน อ.ปัว น้ำป่าล้นทะลักเข้าท่วมชั้นล่าง อาคารชั้นอนุบาล

     นอกจากนี้ ที่บ้านน้ำตวง หมู่ 9 ต.น้ำพาง อ.แม่จริม น้ำป่าซัดสะพานบ้านน้ำตวงจนขาด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรไปมาได้

     จ.พะเยา พายุตาลัส ได้ผลิตน้ำฝนปริมาณมหาศาลให้แก่ชาวดอกคำใต้จนเกินความต้องการ ส่งผลให้ลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลมารวมกับลำน้ำร่องช้างเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลผ่านกลางเมืองดอกคำใต้ จนทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรอย่างรวดเร็ว ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้

     จ.พิจิตร ฝนยังคงตกชุกต่อเนื่อง รวมกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดตอนบนคือ สุโขทัย และพิษณุโลก ทำให้แม่น้ำยมเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว โดยหมู่ 8 บ้านใหม่ ต.รังนก อ.สามง่าม ซึ่งเป็นที่ที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งอยู่เพียงแค่ 1 เมตรเศษ และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ส่วนที่หมู่ 2 ต.รังนก ชาวนาช่วยกันเร่งซ่อมแซมอุดรอยรั่วของประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวงใกล้เก็บเกี่ยวกว่า 500 ไร่ ขณะที่ชาวนาบางรายเริ่มเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด

     ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวช่องเนชั่นทีวี 22 รายงานเมื่อวานนี้(18 ก.ค.) ว่าฝนที่ตกหนักหลายวันทำให้กรมชลประทานต้องเร่งระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ส่งผลให้ระดับน้ำใน อ.บางบาล และ อ.เสนา สูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร

     สุชาติ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 บอกว่าฝนที่ตกต่อเนื่องทางภาคเหนือตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำลงสู่ตอนล่าง 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรองรับน้ำเหนือที่คาดว่าจะไหลเข้าเขื่อนปริมาณ 1,700-2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำอย่าง จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่มีผลต่อพื้นทางการเกษตร

     ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 อธิบายว่า เดิมทีชลประทานคาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม น้ำจะไหลมาร่วมกันที่ จ.นครสวรรค์ 2,100 ลูกบาศก์ต่อวินาที แต่เอาเข้าจริง กลับไม่เยอะอย่างที่คิด ขณะเดียวกัน อิทธิพลพายุตาลัส ยังส่งผลดีเพราะปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่เข้าสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องจับตาฝนที่จะตกช่วง 1-2 วันนี้ด้วย

    "ในภาพรวมถือว่าผ่านพ้นช่วงที่ระบายน้ำสูงสุดของเดือนกรกฎาคมไปแล้ว เพราะการระบายน้ำปริมาณสูงสุดที่นครสวรรค์ ไม่น่าจะถึงตามที่ประเมินไว้ ที่ผ่านมาปริมาณน้ำส่งผลดีต่อเขื่อน แต่ให้เฝ้าระวังฝนจากพายุที่จะดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ไว้ด้วย” 

     กระนั้น แม้บางพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคกลางกำลังประสบภาวะน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ แต่รองอธิบดีกรมชลประทาน ย้ำว่าจากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าสภาพน้ำท่าทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว

     โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 1,262 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง 

     ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มมีฝนตกชุกกระจาย ทำให้มีน้ำขังในระบบชลประทานและพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ โดยเฉพาะนาข้าวทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวกและมีความชื้นน้อย

     สำหรับปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพที่รับได้ พร้อมกับควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับ +15.50 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะตกหนักลงมาอีกจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส”

     รองอธิบดีกรมชลประทาน แจกแจงถึงสถานการณ์น้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศอย่างละเอียด และยังแถมด้วยแผนบริหารจัดการน้ำตามลำดับสถานการณ์ไว้ด้วย 

     โดยเฉพาะการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส” ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อม โดยใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทานประจำอยู่ ณ ที่ตั้งเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

     รองอธิบดีกรมชลประทาน ย้ำด้วยว่า สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในพื้นที่ก่อนอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที ส่วนในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤติ ให้รีบดำเนินการชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ 

     นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ