คอลัมนิสต์

ย้อนรอยพฤติการณ์ฉาว‘เณรคำ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เณรคำ'กำลังกลับมาเผชิญกับข้อหาหนักหลายคดี ทั้งกระทำชำเราเด็กหญิง,ฉ้อโกงประชาชน,ฟอกเงิน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากหลบคดีไปร่วม 4 ปี

          เป็นที่แน่อนแล้วว่า “เณรคำ” จะถูกนำตัวถึงไทยหลังจากศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ  สั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของประเทศไทย ในช่วงกลางดึกของคืนวันที่19ก.ค.นี้ 

          จุดเริ่มต้นของการเปิดคดีเล่นงาน ‘เณรคำ’  มาจากการร้องทุกข์กล่าวโทษของนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เนื่องจาก “เณรคำ” หรืออดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ มีพฤติการณ์อวดอุตริ อภินิหารเพื่อฉ้อโกงเงินบริจาคจากประชาชน และต้องอาบัติปาราชิก จากการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาว โดยคดีนี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดีความมั่นคง

           ในชั้นสอบสวนดีเอสไอ ขุดคุ้ยประวัติของ “เณรคำ” หรือนายวิรพล สุขผล พบว่า“เณรคำ” มาจากครอบครัวที่ยากจน เป็นบุตรของนายรัตน์ สุขผล นางสุดใจ สุขผล มีพี่น้องรวมกัน 6คน“เณรคำ” เลิกเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่2จากนั้นได้บวชเป็นเณรที่วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีเมื่อวันที่13กันยายน2537 ซึ่งขณะนั้นอายุได้15ปี กระทั่งอายุ20ปีได้บวชเป็นพระที่วัดดอนทาด ต.ทรายมูลอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่28 พ.ค.2542 ต่อมาได้ไปสังกัดที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี หลังจากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่วัดป่าบ้านยางหรือ

          วัดป่าขันติธรรมต.ยาง อ.กันทรารมย์จ.ศรีสะเกษ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีแววว่าจะเป็นพระดัง รวมถึงไม่มีความรู้เรื่องไสยศาสตร์ใดๆ ‘หลวงปู่เณรคำ’ได้ธุดงค์ไปที่บ้านโพธิ์และมีความสัมพันธ์กับเด็กสาววัย14ปีรายหนึ่งซึ่งคนในละแวกนั้นทราบเรื่องดีและคิดว่าอีกไม่นานพระคงสึกออกมาอยู่กินฉันสามีภรรยากับหญิงสาวรายนี้

         นอกจากนี้ยังพบว่า ‘เณรคำ’ มีสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงสาวถึง8คน และเคยมีประวัติถูกสีกาแจ้งความดำเนินคดีข้อหาข่มขู่เอาชีวิตต่อพนักงานสอบสวนกก.2บก.ป. 

          และเมื่อวันที่21สิงหาคม2553 พระวิรพล ถูกจับขณะอยู่กับสีกายามวิกาล ท้องที่ สภ.คำป่าหลาย จ.มุกดาหาร แต่ขณะนั้นคดีไม่มีความคืบหน้า ในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ มีการรวบรวมหลักฐาน เป็นตัวอย่างสารพันธุกรรม4ชิ้นประกอบด้วยปลายซิการ์ที่อดีตพระเณรคำใช้สูบแล้วมอบให้ลูกศิษย์เก็บไว้บูชา,เศษจีวร2ชิ้นและพระเครื่องรุ่นดอกบัวคู่รุ่นชานหมาก

            ผลการตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบว่า เศษซิการ์พบคราบน้ำลายตรงเยื่อบุกระพุ้งแก้ม ปรากฏสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตรงกับเด็กชาย ที่เป็นบุตรของหญิงสาวที่มีเพศสัมพันธ์กับ “เณรคำ” ชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้ง3มีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูกกันจริงถึง99.999เปอร์เซ็นต์ หลักฐานชิ้นนี้ จึงนำไปสู่การดำเนินคดีกับ “เณรคำ” ในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า15ปี และคดีพรากผู้เยาว์ และถือเป็นคดีที่ใช้เป็นสาระสำคัญหลักในการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าคดีพรากผู้เยาว์จะขาดอายุความ แต่คดีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กหญิง ยังอยู่ในอายุความ 

          สำหรับคดีความผิดอื่นๆ เช่น ฉ้อโกง, ฉ้อโกงประชาชน ,ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดฐานฟอกเงิน นั้น เป็นผลพวงมาจากพฤติการณ์อวดอุตริ ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏในชั้นสอบสวนพบว่า ในการเดินสายเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ “เณรคำ” จะอวดอ้างว่าตัวเองเป็นพระสงฆ์ชรารูปหนึ่งที่มรณภาพแล้วกลับชาติมาเกิดสามารถระลึกชาติได้และกลายเป็นที่มาของชื่อ“หลวงปู่เณรคำ”จึงมีการสร้างภาพลักษณ์ของพระชรา ด้วยการเคี้ยวหมากอวดอุตริว่านิมิตพบพระอินทร์และพญานาคซึ่งในระหว่างนี้พระที่ใกล้ชิดเณรคำใช้โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเอง เผยแพร่เรื่องราวชวนเชื่อเรื่องราวที่เกี่ยวกับการอุตริทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลไม่ทราบประวัติของพระ หลงเชื่อและเลื่อมใสศรัทธาเดินทางจากสถานที่ห่างไกลไปทำบุญและบริจาคเงินที่วัดป่าขันติธรรม และฉวยโอกาสสร้างเหรียญบูชาจำหน่ายอ้างระดมเงินบริจาคสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งเงินเหล่านั้นส่วนหนึ่งถูกเอาไปใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตัวเอง โดยการนำไปมอบให้กาชาดโรงเรียนโรงพยาบาล ตลอดจนซื้อรถยนต์ไปมอบให้พระชั้นผู้ใหญ่

          หนึ่งในอุบายของการระดมเงินบริจาคโดยอุตริ อ้างว่านิมิตพบพระอินทร์แล้วให้สร้างพระแก้วมรกตจำลองที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อธำรงพุทธศาสนาซึ่งข้ออ้างดังกล่าวโดนใจพุทธศาสนิกชนที่นิยมการทำบุญทำให้มีการบริจาคเงินและทองคำที่อ้างว่าจะนำมาหล่อองค์พระให้แก่ “เณรคำ” จำนวนมาก ในชั้นสอบสวนไม่พบการขออนุญาตจากกรมศิลปากรเพื่อสร้างพระแก้วมรกตจำลอง การกระทำของ“เณรคำ” จึงมีเจตนาเพื่อระดมเงินบริจาคเท่านั้น

          สำหรับทองคำที่ได้จากการบริจาค มีการนำไปขายให้ร้านทองและแปรสภาพเป็นเงินก่อนจะนำไปรวมกับเงินที่ได้จากการบริจาคไปซื้อรถยนต์หรูราคาแพงกว่า 70คัน วงเงินนับร้อยล้านบาทซึ่งรถหรูนี้ซื้อมาใช้งานไม่นานก็นำไปขายคืนให้บริษัทนำเข้ารถยนต์ที่ซื้อมาในวงเงินที่ต่ำกว่าขณะซื้อมา พฤติการณ์เช่นนี้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และฟอกเงินซึ่งดีเอสไอได้ประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์ในทางแพ่ง พร้อมดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินด้วย

          ขณะที่ข้อมูลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ “เณรคำ” พบว่ามีบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆมากถึง41บัญชีแบ่งเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยา4บัญชี,ธนาคารกสิกรไทย2บัญชี,ธนาคารกรุงเทพ8บัญชี,ธนาคารไทยพาณิชย์27บัญชีและมีทรัพย์สินอื่นอีกจำนวนมาก อาทิ บ้าน2หลัง คือ บ้านเลขที่999/10 บ้านทรายมูลจ.อุบลราชธานีและบ้านเลขที่103/1อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ รถยนต์หรูราคาแพงอีกหลายสิบคันทั้งรถโรลส์-รอยซ์ ,เชฟโรเลต,โตโยต้าคัมรี, เฟอร์รารีฮัมเมอร์ ,รถกระบะ,รถเบนซ์และรถจักรยานยนต์ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า200ล้านบาท

          ทั้งหมดข้างต้น คือที่มาของการสรุปสำนวนสั่งฟ้อง”เณรคำ” ในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า15ปี ,พรากผู้เยาว์ ฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และฟอกเงิน ซึ่งทุกคดีอัยการมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องเช่นกัน โดยที่ผ่านมาขั้นตอนรอเพียงการนำตัว‘ เณรคำ’ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาเท่านั้นซึ่งขณะนี้ก็ได้ตัว‘เณรคำ’แล้ว

        ดังนั้น เมื่อ “เณรคำ” ถูกนำตัวเข้าสู่ถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบินTG 677ในช่วงกลางดึกของคืนวันที่19ก.ค. ดีเอสไอจะนำตัว “เณรคำ” มาสอบปากคำที่สำนักงานดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะ  ต่อจากนั้นในช่วงสายของวันที่20ก.ค. จะนำตัว ‘เณรคำ’ผู้ต้องหาส่งให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาทันที โดยไม่ต้องขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะขณะนี้คดีมีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนอัยการจะแยกฟ้องเป็นรายคดีหรือขอรวมให้เป็นการพิจารณาคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันและมีผู้กระทำความผิดรายเดียวกัน ต้องรอดูกันอีกที

        สำหรับเหตุผลที่ “เณรคำ” ตัดใจไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจมีเหตุผลมาจากหลักฐานที่ดีเอสไอและอัยการนำสืบในศาลค่อนข้างแน่นหนา การยื้อคดีเพื่อให้ขั้นตอนยืดยาวออกไป จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินทองที่ “เณรคำ” นำติดตัวไปอาจมีเหลือในจำนวนจำกัด หรืออาจเป็นไปได้ว่า “เณรคำ” ซึ่งหลบหนีคดีไปต่างแดนนานปี อาจคิดถึงบ้าน คิดถึงญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากผู้ร้ายหนีคดีรายอื่นๆ จึงตัดสินใจกลับมาต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ ผิด-ถูก ในแผ่นดินบ้านเกิดก็เป็นไปได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ