คอลัมนิสต์

ร่างสัญญาประชาคมสร้างความปรองดอง ทำได้จริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดออกมาแล้ว"ร่างสัญญาประชาคม" ที่จัดทำโดยทหาร เป็นอย่างไร มีเนื้อหาอะไร ฝ่ายต่างๆรับได้หรือไม่ และจะทำได้จริงหรือไม่? ทุกอย่างยังเป็นคำถาม

           หลังจากกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการสร้างความปรองดองมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยได้รับฟังความเห็นจากกลุ่มการเมืองต่างๆ และกลั่นกรองออกมาเป็นร่างสัญญาประชาคม ก่อนจะนำไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยจะเปิดเวทีทั้งสี่ภาค โดยเริ่มต้นภาคกลางเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่กองทัพภาคที่ 1 โดยมีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ร่วมทั้งหมด 312 คน โดยเป็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง จังหวัดละ 12 คน 71 พรรคการเมือง 2 กลุ่มการเมือง เช่น นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนา ชีรวินิจ อดีตสส. กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง NGOs ภาคประชาสังคม และ ภาคเอกชน

           ทั้งนี้ในเวทีนี้เป็นการเปิด “ร่างสัญญาประชาคม” ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก

           ซึ่ง “ธนา ชีรวินิจ” อดีตส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังเข้าร่วมเวทีว่า เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้าเรื่องปรองดอง โดยขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการปรองดองโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในส่วนร่างสัญญา 10 ข้อนั้น ไม่ขอวิจารณ์ โดยเห็นว่าเป็นความรู้ทางรัฐศาสตร์ แต่เชื่อว่าประชาชนที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆนั้น จะเข้าใจในวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป

 

           ขณะที่ "จตุพร พรหมพันธ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การดำเนินการสร้างความปรองดองตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจ ทำงานอย่างสุขุมคัมภีรภาพ พูดกันด้วยมธุรสวาจา ซึ่ง10 ข้อที่ออกมาก็แปลงมาจาก 10 คำถาม โดยเนื้อหา 10 ข้อคือนามธรรมจะให้เป็นรูปธรรมได้นั้นคือทั้ง 10 ข้อจะสามารถสร้างความปรองดองในชาติได้อย่างไร ผมยินดีให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้นจนจบ มาตลอด โดยที่ผมและนปช.ไม่เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบ ก็คือนายกรัฐมนตรีและคสช. หลายข้อแม้จะยังมีข้อสงสัยก็ถือเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเราปรองดองกันได้ก็ไม่ต้องกลับไปเหมือนเดิม เรื่องรบกันไม่ยากแต่เรื่องรักกันยากกว่า หวังว่าให้ปรองดองสำเร็จหากไม่สำเร็จ หนทางข้างหน้าก็จะเกิดวิกฤติ ที่รอข้างหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนายกคนนอกหรือคนในก็เกิดวิกฤติอยู่แล้วถ้าไม่มีการปรองดอง ปัญหาและสถานการณ์ก็ยิ่งจะเลวร้ายขึ้น ดังนั้นขอให้พิสูจน์กันก่อนว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญาประชาคม แม้จะเป็นนามธรรมแต่จะให้นายกฯใช้เวลาที่เหลือทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

 

 “ถ้าสังคมอยู่ในความกลัวความปรองดองก็ไม่เกิดเพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากกล้า ที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยเพราะรักชาติบ้านเมืองเหมือนกันรักสถาบันเหมือนกัน 10 ข้อในร่างสัญญาประชาคมถือเป็นภาคที่หนึ่งต้องดูภาคต่อไป จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ไม่ใช่ความสำคัญเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนไทยรักได้เหมือน ศีล 5 ที่คนก็เห็นด้วยแต่จากปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมากองทัพก็เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้วเช่นนโยบาย 66 / 2523 เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลว่ากรรมการที่ทำเรื่องนี้เป็นนายทหารแล้วจะเป็นกลางหรือไม่ ผลที่ออกมา คนไทยรับได้ ที่เหลือก็เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี หวังว่าเมื่อเกิดความปรองดองขึ้นแล้วคงจะไม่กลับไปเหมือนเดิมทหารก็ไม่ต้องเข้ามาอีก แล้วก็ไม่ต้องทำปรองดองกันอีกซ้ำอีก”

 

           “นายจุลีรัตน์ หวนถนอม” ตัวแทนจากจังหวัดตราด กล่าวว่าร่างสัญญา 10 ข้อนั้นเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือเท่านั้น ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยน เพราะการปรองดองในภาคปฏิบัติอยู่ที่ฝ่ายขัดแย้งจะยอมกันหรือไม่ ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเขามองเห็นตรงกัน ซึ่งก่อนอื่นนั้นจะต้องทำความจริงให้ประจักษ์ก่อน ว่าปัญหาความแตกแยกที่ผ่านมาเกิดจากอะไร เกิดจากผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือเกิดขึ้นจากการที่บางคนไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองทำผิดกฎหมาย เมื่อสังคมเห็นตรงกัน และ ยอมรับกติกาสังคม การปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการทำให้ยอมรับความจริงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

           “สมภพ โสมาภา” ตัวแทนจากจังหวัดลพบุรี กล่าวว่าผู้มีอำนาจจะต้องจริงจังกับเรื่องปรองดอง และตัวคณะกรรมการที่มาดำเนินเรื่องนี้จะต้องมีความเป็นกลาง ให้ความยุติธรรมกับฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้ ที่ผ่านมาตัวคนที่เป็นคนกลางก็จะมาจาก รัฐบาล ตำรวจ ศาล หรือตัวทหารเอง ซึ่งถ้าภาพปรากฏออกมาว่า มีอยู่ฝ่ายหนึ่งที่โดนลงโทษตัดสินคดีตลอด ในขณะที่อีกฝ่ายทำผิดคล้ายๆกัน กลับไม่ถูกลงโทษเลย ถ้าเป็นเช่นนี้การปรองดองก็จะไม่เกิด   

           วันนี้เห็นว่า การชี้แจงร่างสัญญาประชาคม เป็นเพียงพิธีการสร้างภาพว่ารัฐบาลกำลังจะทำเรื่องปรองดองสำเร็จ แต่ปัญหาที่เป็ฯรากฐานนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ตนในฐานะประชาชนมองว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม หมายความว่า ถ้าถูกลงโทษ ก็ต้องโดนทั้งหมด หรือถ้านิรโทษกรรม ทุกฝ่านก็ต้องได้รับ ถ้าเป็นเช่นนี้การปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ เพราะโดยปกติแล้วคนไทยก็ไม่ได้อยากทะเลาะกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีตนไม่มีปัญหากับการรัฐประหารขอทหารที่เข้ามาเพื่อหยุดความขัดแย้ง แต่เห็นว่าเมื่อถึงระยะหนึ่งก็ควรมีการเลือกตั้ง

----------

ร่างสัญญาประชาคมสร้างความปรองดอง

บทนำ 

 สังคมไทยในอดีต เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประพฤติปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี ยึดถือหลักคำสอนของศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทำให้สังคมอยู่กันอย่างสงบสุข อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาในด้านต่างๆ การเข้ามาของวัฒนธรรม และค่านิยมจากต่างชาติ ส่งผลให้สภาพสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีบางส่วนก่อให้เกิดปัญหาตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การแสวงประโยชน์จากช่องว่างกฎมาย ขาดโอกาสนการเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายความเจริญที่ไม่สมดุล ทำให้ระบบเศรษฐกิจรากฐานถูกทำลาย เป็รต้น นอกจากนี้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอน่างต่อเนื่องนั้น ได้ขยายเป็นวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศและยกระดับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต รวมทั้ง มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ปัญหาต่างๆตามที่กล่าวมาแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ทำให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่ทางตัน และอยู่ในลักษณะ “ติดกับดัก” ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคสังคม การเมือง และเศรษฐกิจโดยรวม

 

 จากสภาพของปัญหาดังกล่าวข้างต้น แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพและสิ่งดีงามอื่นๆอีกมากมาย แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดปรโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยต้องหยุดชะงักและสูญเสียโอกาสการพัฒนา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันในการแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เกิดความสามัคคีปรองดอง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศไทยมีความสงบสุข สามารถเดนก้าวต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเจริญเติบโตทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไปในอนาคต

ข้อตกลง 10 ข้อ

  

ด้วยสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของพลเมืองไทยที่มีต่อประเทศชาติ พวกเราขอให้คำมั่นต่อกันว่า จะสามัคคีปรองดอง และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ในการนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ไปสู่จุดหมายปลายทางที่พวกเราทุกคนมุ่งหวัง โดยยึดถือกรอบความเห็นร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ดังต่อไปนี้

 

1. คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดจนพึงมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในกรอบของกฎหมายมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด และส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ และการแก้ไขปัญหา โดยใช้กลไกระบบรัฐสภา

  

2. คนไทยทุกคน พึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประกอบอาชีพอย่างสุจริต พึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีไมตรีจิตต่อกัน และร่วมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของท้องถิ่น ตลอดจนเศรษฐกิจฐานราก ที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้ทั่วถึง รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาตนเองให้มีคขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ

 

3. คนไทยทุกคน พึงยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต มีความซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ รวมทั้่งร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับ เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งปราศจากการคปรัปชั่น

 

4. คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดล้อม ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ยอมรับและเชื่อมั่นกระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่สุจริตและเป็นธรรม โดยคนไทยพึงมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

 

5. คนไทยทุกคน พึงให้การสนับสนุน ส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิต การสาธารณสุขตลอดจนการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน สามารถดำรงตนอยู่ในสังคอย่างมีความสุข

  

6. คนไทยทุกคน พึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

 

7. คนไทยทุกคน พึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ และร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบิดเบือน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

  

8. คนไทยทุกคน พึงตระหนักในการส่งเสริมให้สังคมทีมาตรฐานสากลตามกฎกติการระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

 

9. คนไทยทุกคน พึงสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน

 

10. คนไทยทุกคน พึงเรียนรู้ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ

บทสรุป

 ความสามัคคีปรองดอง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวงที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมด้วยความสงสุข สอดคล้องกับวิถีชีวิตและจารีตประเพนีอันงดงามที่สั่งสมมาอย่างยาวนานตามประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาและเสริสร้าง พลังอำนาจของชาติในทุกด้าน เป็นแรงผลักดันที่จะนำพาประเทศไทยให้มีคามเจริญก้าวหน้า สร้างโอกาสในการแข่งขันกับนานาประเทศในเวทีโลก เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคม ที่มีความเข้มแข็ง อบอุ่น และปลอดภุยทุกคนร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนประดทศไปสู่อนาคต ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติอย่าง “มั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน”

----

จักรวาล ส่าเหล่ทู

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ